คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเกิดกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินคดีแก่ผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการชั่งน้ำหนักรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน เมื่อโจทก์เลือกดำเนินคดีอาญา จึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้นนอกจากโจทก์จะต้องสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นโดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำความผิดจริงตามคำฟ้อง ยังต้องได้ความว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้อีกด้วย
เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าฝ่ายจำเลยมีเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว และโจทก์เป็นผู้ว่าจ้างนาย ฟ. ไปทำการล่อซื้อ จึงเท่ากับว่าโจทก์มีส่วนเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามคำฟ้องขึ้นเอง โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๒๓ ถึง ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เวลากลางวันและเวลากลางคืน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสามร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นลงในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสามร่วมกันขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย แจกจ่าย และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวแก่ลูกค้าของจำเลยและประชาชนทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยทั้งสามรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เหตุเกิดที่แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๓๐, ๓๑, ๖๙ วรรคสอง, ๗๐ วรรคสอง และ ๗๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และ ๙๑ และจ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๓๐ (๑) , ๓๑ (๑) (๓), ๖๙ วรรคสอง และ ๗๐ วรรคสอง (ที่ถูกต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ มาด้วย) ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานทำซ้ำซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยมิได้รับอนุญาตเพื่อการค้า ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้จำคุก ๖ เดือน และปรับ ๑๖๐,๐๐๐ บาท ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้จำคุก ๓ เดือน และปรับ ๘๐,๐๐๐ บาท รวมโทษจำเลยที่ ๑ เป็นปรับ ๒๔๐,๐๐๐ บาท รวมโทษจำเลยที่ ๒ เป็นจำคุก ๙ เดือน และปรับ ๒๔๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ ๒ ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ หากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ และ ๓๐ แต่กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน ๑ ปี และให้จ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๖ กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของมลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและ ศิลปกรรมอันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ตามที่โจทก์ได้กล่าวมาในคำฟ้อง ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายรุทร นพคุณ ดำเนินคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการค้าจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการ และมีจำเลยที่ ๓ เป็นพนักงานขายประจำร้านค้าของจำเลยที่ ๑ ตั้งอยู่เลขที่ ๓๙/๒๙ หมู่ที่ ๗ ซอยตลาดสมพรชัย แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เกี่ยวกับอำนาจฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อเกิดกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินคดีแก่ผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการชั่งน้ำหนักรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน เมื่อโจทก์เลือกดำเนินคดีนี้โดยฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นคดีอาญา คดีโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ซึ่งให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น นอกจากโจทก์จะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้กระทำความผิดจริงตามคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ แล้ว คดียังจะต้องได้ความว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) และมาตรา ๒๘ (๒) อีกด้วย ได้ความจากคำเบิกความของนายรุทร นพคุณ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ พยานโจทก์ว่า เมื่อโจทก์ทราบว่าท้องตลาดในประเทศไทยมีร้านค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ลักลอบติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงว่าจ้างนักสืบอิสระของบริษัทไรท์ แอสโซซิเอทประเทศไทย จำกัด ไปล่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากร้านค้าต่าง ๆ รวมทั้งร้านของจำเลยที่ ๑ เพื่อดำเนินคดีเอง โดยโจทก์มิได้แจ้งความร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย นายฟิลิป พาสโค นักสืบอิสระผู้ล่อซื้อพยานโจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุ ขณะที่พยานไปถึงร้านของจำเลยที่ ๑ พยานพบจำเลยที่ ๓ พนักงานขายประจำร้านค้าของจำเลยที่ ๑ อยู่ในร้าน พยานบอกจำเลยที่ ๓ ว่า พยานได้รับการแนะนำให้มาซื้อคอมพิวเตอร์ที่ร้านนี้ในราคาประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท พยานได้ดูใบโฆษณาสินค้า และได้รับคำแนะนำให้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อเลเซอร์ รุ่นพลาตินั่ม บีเอส ๑๔๓๓ ซึ่งเสนอขายในราคา ๒๙,๙๐๐ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามใบโฆษณาสินค้าที่พยานเห็นนั้นระบุว่าเป็นการขายเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมกับโปรแกรมซอฟท์แวร์ วินโดวส์ ๙๘ ที่ได้รับอนุญาตซึ่งพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษว่า “Licensed ๙๘ MS windows ๙๘” พยานได้ถามจำเลยที่ ๓ ว่า การมีโปรแกรม วินโดวส์ ๙๘ นั้น สามารถใช้เขียนจดหมายธุรกิจ ทำบัญชีทั่วไป วาดภาพ และใช้งานอินเตอร์เน็ตได้หรือไม่ จำเลยที่ ๓ จึงเสนอชุดโปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ๙๗ อโดเบโฟโต้ช็อป คอเรล ดรอว์และวินแอมแก่พยานด้วยการเขียนโปรแกรมดังกล่าวในกระดาษ โดยเสนอที่จะให้โปรแกรมต่าง ๆ ที่เขียนไว้ให้แก่พยานโดยชำระค่าเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนเพียง ๒๙,๙๐๐ บาท เท่าเดิม บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม พยานตกลงซื้อ แต่ยังไม่สามารถรับมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ในวันนั้นเพราะจำเลยที่ ๓ บอกว่าจะต้องใช้เวลา ๗ วัน ในการจัดเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ พยานขอให้จัดเตรียมเร็วขึ้น ซึ่งในที่สุดจำเลยที่ ๓ ก็ตกลงจัดเตรียมให้ภายใน ๒ วัน และนัดให้พยานไปรับเครื่องคอมพิวเตอร์ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ โดยวันดังกล่าวพยานได้ชำระเงินมัดจำไว้จำนวน ๑,๐๐๐ บาท ตามใบจองสินค้า ต่อมาเมื่อถึงวันนัดพยานได้ไปที่ร้านของจำเลยที่ ๑ ขอรับมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ นายฐิติพงษ์ อันมานะตระกูล ช่างเทคนิคบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้พยานดูตามคำขอของพยาน ปรากฏว่ามีโปรแกรมไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ๙๘ และชุดโปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ๙๗ ติดตั้งอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์จริง เห็นว่าตามใบโฆษณาสินค้าที่ได้พิมพ์ข้อความต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อเลเซอร์ พลาตินั่ม บีเอส ๑๔๓๓ ที่นายฟิลิป พาสโค ล่อซื้อว่า มีโปรแกรมไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ๙๘ ที่ได้รับใบอนุญาตให้ด้วย และขายในราคา ๒๙,๙๐๐ บาท ซึ่งนายฟิลิป พาสโค น่าจะทราบดี และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่นายฟิลิป พาสโค จะล่อซื้อก็เป็นสินค้าแบรนด์เนม ของบริษัทคอมพิวเทค ไมโครซิสเท็ม จำกัด ที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้แทนจำหน่ายโดยชอบ ซึ่งนายฟิลิป พาสโค สามารถสั่งซื้อไปใช้งานในสภาพเช่นนั้นได้ หากไม่มีมูลเหตุจูงใจเป็นประการอื่น จำเลยที่ ๓ ก็สามารถขายเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นดังกล่าวให้แก่นายฟิลิป พาสโค ได้โดยชอบด้วยกฎหมายในราคา ๒๙,๙๐๐ บาท ตามที่ปรากฏในใบโฆษณาสินค้านั้น โดยไม่ต้องเสียเวลาไปติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมและจะเป็นการเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี การที่นายฟิลิป พาสโค ซึ่งทราบดีเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์อยู่แล้วแกล้งสอบถามจำเลยที่ ๓ ว่า โปรแกรมไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ๙๘ ดังกล่าวสามารถใช้เขียนจดหมายธุรกิจ ทำบัญชี วาดภาพได้หรือไม่ นายฟิลิป พาสโค ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ ๓ จะต้องตอบในทางปฏิเสธ ที่จำเลยที่ ๓ เสนอติดตั้งโปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ๙๗ ให้แก่นายฟิลิป พาสโคด้วย ตามรูปเรื่องจึงมีเหตุผลน่าเชื่อถือว่าเป็นเพราะถูกนายฟิลิป พาสโค ชักจูงใจ และการที่จำเลยที่ ๓ แจ้งว่า ต้องใช้เวลาประมาณ ๗ วัน เพื่อจัดเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์โดยมิได้เรียกร้องให้นายฟิลิป พาสโค ชำระราคาสินค้าเพิ่มขึ้นนั้น เท่ากับเป็นการแถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวให้ตามความต้องการของนายฟิลิป พาสโคเอง ซึ่งนายฟิลิป พาสโคควรจะทราบดีว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งให้โดยไม่คิดมูลค่านั้นเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยมิชอบ ซึ่งไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในขณะนั้น จึงต้องไปดำเนินการติดตั้งและส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ให้นายฟิลิป พาสโค ในภายหลัง แต่นายฟิลิป พาสโค กลับตกลงขอซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ในเงื่อนไขดังกล่าวโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ย่อมเป็นการลวงให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจว่า นายฟิลิป พาสโค ต้องการให้ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ตามคำฟ้องลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยนาย ฟิลิป พาสโค ไม่ใส่ใจว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งให้จะทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นหรือไม่ นอกจากนี้โจทก์ก็ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่า ใครเป็นผู้ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อ และแผ่นดิสก์หรือซีดีรอมที่ใช้สำหรับทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ติดตั้งลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อ อันเป็นพยานหลักฐานที่จะชี้ให้เห็นว่าฝ่ายจำเลยมีเจตนากระทำความผิดคดีนี้อยู่ก่อนแล้ว โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า มีอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ การที่นายฟิลิป พาสโค ไปล่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากร้านของจำเลยที่ ๑ ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายรุทรผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า ช่วงเกิดเหตุโจทก์เพียงแต่ว่าจ้างนักสืบของ บริษัทไรท์ แอสโซซิเอท จำกัด ให้ไปสุ่มซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ตามร้านค้าต่าง ๆ รวมทั้งร้านของจำเลยที่ ๑ ด้วยเท่านั้น มิใช่ว่าโจทก์มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามคำฟ้องของโจทก์ออกขายโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว ข้อเท็จจริงตามที่นายฟิลิป พาสโค พยานโจทก์เบิกความและวินิจฉัยมานี้จึงส่อไปในทางว่านายฟิลิป พาสโค จะเป็นผู้ชักจูงให้ฝ่ายจำเลยทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อเพื่อขายให้แก่นายฟิลิป พาสโค โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าฝ่ายจำเลยมีเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว และคดีได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ว่าจ้าง นายฟิลิป พาสโค ไปทำการล่อซื้อจึงเท่ากับว่าโจทก์มีส่วนเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามคำฟ้องขึ้นเอง โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) และมาตรา ๒๘ (๒) ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๐๑/๒๕๔๓ ระหว่าง บริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น โจทก์ บริษัทเอเทค คอมพิวเตอร์ จำกัด กับพวก จำเลย จึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เสีย โดยไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษาคดีนี้เปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share