คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองผู้ประสบภัยซึ่งได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัย เนื่องจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทางหรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุกหรือติดตั้งในรถนั้น และยังหมายความรวมถึงทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายด้วย จึงบังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันภัยกับบริษัท เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทได้รับประกันภัยไว้ บริษัทจะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นซึ่งในกรณีความเสียหายต่อชีวิตหมายถึงค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตาย เป็นไปตามรายการและจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งนี้ตามมาตรา 20 ประกอบด้วยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว การจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นนี้จะต้องจ่ายทันทีโดยไม่ต้องคำนึงว่าเกิดจากความผิดของผู้ใด เมื่อบริษัทรับประกันภัยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ตามมาตรา 31 บัญญัติว่า ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากบุคคลภายนอกหรือจากเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัย หากเกิดขึ้นเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลดังกล่าว ดังนั้น สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์จึงมีเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 6 ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ข้อ 2 (2) กำหนดให้จำนวนค่าเสียหายเบื้องต้นให้เป็นไปดังนี้ จำนวนหนึ่งหมื่นบาทสำหรับความเสียหายต่อชีวิต โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 เพียง 10,000 บาท มิใช่ 50,000 บาท ส่วนบทบัญญัติมาตรา 22 เป็นเรื่องสิทธิของผู้ประสบภัย นอกจากจะได้รับค่าเสียหายในเบื้องต้นแล้ว ไม่ตัดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตาม ป.พ.พ. อีกด้วย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2543)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๕๒,๘๑๒ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ แถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ชำระค่าปลงศพเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นางรจนา ปึ่งประกายศรี ทายาทของผู้ตายแล้วจริง โจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ แถลงไม่สืบพยาน และขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท จากจำเลยทั้งสามได้หรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเป็นจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ดังโจทก์ฎีกาหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองผู้ประสบภัยซึ่งได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัย เนื่องจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทางหรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุกหรือติดตั้งในรถนั้น และยังหมายความรวมถึงทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายด้วย จึงบังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันภัยกับบริษัท เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทได้รับประกันภัยไว้ บริษัทจะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นซึ่งในกรณีความเสียหายต่อชีวิตหมายถึงค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตาย เป็นไปตามรายการและจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ตามมาตรา ๒๐ ประกอบด้วยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นนี้จะต้องจ่ายทันทีโดยไม่ต้องคำนึงว่าเกิดจากความผิดของผู้ใด เมื่อบริษัทรับประกันภัยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ตามมาตรา ๓๑ บัญญัติว่า ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากบุคคลภายนอกหรือจากเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัยหากเกิดขึ้นเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลดังกล่าว ดังนั้น สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์จึงมีเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ ๖ ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๒ (๒) กำหนดให้จำนวนค่าเสียหายเบื้องต้นให้เป็นไปดังนี้ จำนวนหนึ่งหมื่นบาท สำหรับความเสียหายต่อชีวิต โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ ๑ เพียง ๑๐,๐๐๐ บาท มิใช่ ๕๐,๐๐๐ บาท ดังโจทก์ฎีกา ส่วนมาตรา ๒๒ ที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในฎีกานั้นเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องสิทธิของผู้ประสบภัย นอกจากจะได้รับค่าเสียหายในเบื้องต้นแล้ว ไม่ตัดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วย ส่วนสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์ตามพระราชบัญญัตินี้มีเพียงดังได้กล่าวมาแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเกินมาให้แก่โจทก์.

Share