คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ขอถอดถอนเป็นทายาทเจ้ามรดกอ้างว่าเงินในบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารเป็นทรัพย์มรดกทั้งหมด แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอ้างว่ามีสิทธิในเงินฝากดังกล่าวหนึ่งในสี่ส่วน และไม่ยอมลงลายมือชื่อถอนเงินดังกล่าวมาแบ่งปันให้แก่ทายาท ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ย ผลการไกล่เกลี่ยตกลงกันว่าให้กันเงินตามส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์เฉพาะตนไว้ในบัญชีที่เหลือนอกนั้นคงถอนมาแบ่งกันตามส่วนของทายาท ซึ่งผู้ร้องได้จัดการเสร็จสิ้นแล้ว พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ขอถอดถอนเท่านั้น แต่หาใช่เหตุที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ไม่

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่มีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์สินนอกพินัยกรรมของนายเด็น พิมาน ผู้ตาย ร่วมกับผู้คัดค้าน
ผู้ขอถอดถอนยื่นคำร้องขอ ขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์สินนอกพินัยกรรมของผู้ตาย และตั้งนายประกิจ พิมาน เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านต่อไป
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้ขอถอดถอน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกคำร้องขอถอดถอน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ขอถอดถอนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์สินนอกพินัยกรรมของนายเด็น พิมาน ผู้ตาย และตั้งนายประกิจ พิมาน เป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์สินนอกพินัยกรรมของผู้ตายร่วมกับผู้คัดค้าน โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายและให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้ขอถอดถอน โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า หลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกนอกพินัยกรรมของผู้ตาย ก็ได้มีการจัดการแบ่งปันมรดกของผู้ตายให้ทายาทไปจนเหลือเฉพาะเงินฝากตามบัญชีเงินฝากที่ธนาคารรัตนสิน จำกัด (มหาชน) สาขาภูเก็ต รวม 2 บัญชี ที่ผู้ตายได้นำเงินจากบัญชีอื่นของผู้ตายมาเปิดเป็นบัญชีตามบัญชีเงินฝากดังกล่าวโดยมีชื่อผู้ร้อง ผู้คัดค้าน และนายประกิจ พิมาน เป็นเจ้าของบัญชีร่วมกับผู้ตาย และมีเงื่อนไขการสั่งจ่ายคือผู้ตายผู้เดียวหรือผู้มีชื่อคนอื่นสองคนร่วมลงลายมือชื่อ ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในเงินฝากตามสิทธิในฐานะเจ้าของรวมอยู่ 1 ใน 4 ส่วน จึงตกลงกันไม่ได้ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจึงไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ย ผลการไกล่เกลี่ยตกลงกันว่าคงให้กันเงินตามส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์เฉพาะตนไว้ในบัญชี ที่เหลือนอกนั้นคงให้ถอนมาแบ่งกันตามส่วนของทายาท ซึ่งผู้ร้องก็ได้จัดการดำเนินการจนเสร็จสิ้น พฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ขอถอดถอนเท่านั้น แต่หาใช่เหตุที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกในอันที่ผู้ขอถอดถอนจะมาร้องเพื่อขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ตามคำร้องของผู้ขอถอดถอนไม่
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลเห็นควรให้เป็นพับ.

Share