คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วางข้อกำหนดให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรม มีกำหนด 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (5) นั้น ไม่อาจบังคับได้เนื่องจากจำเลยมีอายุครบ 18 ปี ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจึงไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้รอการกำหนดโทษไว้ 3 ปี และคุมประพฤติจำเลยไว้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ แม้โจทก์และจำเลยจะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๓๓๙ และ ๓๔๐ ตรี กับให้จำเลยใช้หรือคืนเงินจำนวน ๕๐๐ บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๙ วรรคสาม , ๓๔๐ ตรี ประกอบมาตรา ๘๓ ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ ๑๕ ปีเศษ และไม่เคยกระทำผิดมาก่อน เมื่อพิเคราะห์ประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาแล้ว เห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษ แต่ให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนด ๑ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๗๕ ประกอบมาตรา ๗๔ (๕) กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน ๕๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ขณะที่จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของพวกจำเลย ผู้เสียหายได้ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมา พวกของจำเลยจึงเลี้ยวรถกลับและขับตามรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจนทันแล้วพวกของจำเลยใช้เท้าถีบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจนล้มลง พวกของจำเลยลงไปทำร้ายผู้เสียหายและชิงเอาเงิน ๕๐๐ บาท กับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายตามรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับหลบหนีไป ระยะเวลาที่พวกของจำเลยลงจากรถจักรยานยนต์ไปทำร้ายผู้เสียหายแล้วชิงเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น มีระยะเวลานานพอที่ผู้เสียหายจะจดจำจำเลยกับพวกได้ และหากจำเลยไม่ได้ร่วมกับพวกของจำเลยกระทำความผิดแล้วจำเลยก็น่าจะขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปแต่ต้นเพื่อแสดงว่าจำเลยมิได้มีส่วนรู้เห็นกับการที่พวกของจำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหาย แต่จำเลยยังคงนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ในลักษณะมองไปทางด้านซ้ายด้านขวา อันเป็นลักษณะการดูต้นทางและระมัดระวังมิให้ผู้อื่นมาขัดขวางการกระทำของจำเลยกับพวก จึงเป็นการที่จำเลยกับพวกแบ่งหน้าที่กันทำ พฤติการณ์แห่งคดีข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วางข้อกำหนดให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนด ๑ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๗๕ ประกอบมาตรา ๗๔ (๕) นั้น เห็นว่า ข้อกำหนดข้างต้นไม่อาจบังคับได้เนื่องจากจำเลยมีอายุครบ ๑๘ ปี ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีเห็นสมควรให้รอการกำหนดโทษไว้ และคุมประพฤติจำเลยไว้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ส่งจำเลยไปฝึกและอบรม แต่ให้รอการกำหนดโทษไว้ ๓ ปี และให้คุมประพฤติจำเลยไว้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกสามเดือนต่อครั้งตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๖ (๓) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.

Share