คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องคดีแพ่งของโจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นมาอ้างในคำฟ้อง เพียงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงและอ้างเหตุผลที่จำเลยต้องรับผิดก็พอ ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายขึ้นมาปรับแก่คดีตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความเองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 เมื่อโจทก์ฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2536 ศาลมีอำนาจนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับแก่คดีได้
ธนูที่เกิดเหตุใช้ประกอบการแสดงละครวิชาภาษาไทย ซึ่งจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่สอนวิชาดังกล่าวให้แก่นักเรียน นอกจากจำเลยที่ 4 จะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้อบรมสั่งสอนนักเรียนในวิชาภาษาไทยแล้ว ยังถือว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ให้ได้รับความปลอดภัย ให้ประพฤติตนอยู่ในระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ไม่ไปก่อเรื่องเดือดร้อนเสียหายใดๆ แก่ผู้อื่น การที่จำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนทำธนูเป็นอุปกรณ์การเรียน จำเลยที่ 4 น่าจะใช้ความระมัดระวังคาดหมายหรือเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดอันตรายแก่กายได้ หากนักเรียนนำไปใช้ยิงเล่นใส่กัน และจำเลยที่ 4 ไม่ได้สั่งให้นักเรียนนำธนูไปทำลายทิ้งหรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยหรือห้ามมิให้นำธนูไปใช้เล่นกัน เพราะยังมีธนูในห้องเรียนอีกหลายคันเช่นวิสัยผู้มีอาชีพครูทั่วไปจะถือปฏิบัติ แต่จำเลยที่ 4 ปฏิบัติไม่ชอบและขาดความรอบคอบจึงเป็นความประมาทเลินเล่อ ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกาย
จำเลยที่ 4 ทำการสอนวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อทำให้โจทก์นักเรียนคนหนึ่งที่เรียนวิชาภาษาไทยเสียหายแก่ร่างกาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ได้กระทำตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหาร ควบคุมดูแล ส่งเสริมการศึกษา ให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชน ตลอดจนวางระเบียบกฎเกณฑ์ปฏิบัติให้สถาบันการศึกษาปฏิบัติตาม ทั้งมีหน้าที่ดูแลนักเรียนให้สังกัดแทนผู้ปกครองจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นข้าราชการครูของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนภูหลวงวิทยา สังกัดจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบบริหารงาน ตลอดจนสอดส่องดูแลนักเรียนในโรงเรียนแทนผู้ปกครองของนักเรียน ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นครูผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าสถานศึกษาให้มีหน้าที่ดูแลนักเรียนในชั่วโมงการสอนวิชาภาษาไทย จำเลยที่ 5 เป็นนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2540 เวลาประมาณ 11.40 นาฬิกา จำเลยที่ 4 ครูผู้สอนวิชาภาษาไทยสั่งให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 นำคันธนูซึ่งทำด้วยไม้ใช้เชือกผูกปลายคันธนูทั้งสองข้างดึงเข้าหากันและนำลูกธนูซึ่งทำด้วยไม้ปลายแหลมยาวประมาณ 1 เมตร เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอน หลังเสร็จสิ้นการสอนจำเลยที่ 4 น่าจะใช้ความระมัดระวังคาดหมาย หรือเล็งเห็นได้ว่าลูกธนูและคันธนูดังกล่าวอาจเกิดอันตรายแก่กายได้ หากนักเรียนนำไปใช้ยิงเล่นใส่กัน ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยที่ 4 ปล่อยให้นักเรียนซึ่งมีโจทก์และจำเลยที่ 5 อยู่ในชั้นเรียนดังกล่าวเลิกการเรียนการสอนก่อนครบกำหนดชั่วโมงเรียนอยู่ในชั้นเรียนกันตามลำพัง โดยไม่ควบคุมดูแลและไม่ได้สั่งให้นักเรียนนำลูกธนูและคันธนูอันเป็นอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนไปทำลายทิ้งหรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยหรือห้ามมิให้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้เล่นกันเป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยที่ 5 นำคันธนูและลูกธนูใช้ยิงเล่นใส่กันในห้องเรียน ทำให้ลูกธนูของจำเลยที่ 5 ยิงถูกตาขวาของโจทก์ดวงตาแตกเป็นเหตุให้ตาขวาโจทก์บอด หลังเกิดเหตุโจทก์ให้แพทย์ตรวจรักษา เสียค่าใช้จ่ายและค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินประมาณ 50,000 บาท แต่ดวงตาโจทก์ก็ไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนปกติทำให้เสียโอกาสในการมองเห็นในการใช้สายตาประกอบอาชีพการงานอย่างบุคคลปกติในอนาคต ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายแห่งการละเมิดที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานตัวการของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายจากการละเมิดดังกล่าวด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาพักเที่ยง ไม่อยู่ในชั่วโมงการสอน โจทก์และจำเลยที่ 5 ไม่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 4 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 จัดให้นักเรียนแสดงละครประกอบการเรียนเรื่อง “มหากบิลวานร” แต่ละกลุ่มใช้เวลาประมาณ 20 นาที กลุ่มใดเสร็จให้พักรับประทานอาหารได้ กลุ่มของโจทก์แสดงเวลา 10.50 นาฬิกา ถึง 11.15 นาฬิกา โจทก์แสดงละครเป็นตัวลิงไม่ต้องใช้ธนูประกอบการแสดง ส่วนจำเลยที่ 5 แสดงเป็นตัวลิงเช่นเดียวกัน แต่แสดงในวันถัดไป หลังเสร็จสิ้นการแสดงจำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนนำลูกธนูและคันธนูรวบรวมทำลายทิ้งแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 5 หาเศษไม้ทำคันธนูและลูกธนูขึ้นเล่นกันเองภายหลัง ลูกธนูถูกบริเวณขอบตาขวา ดวงตาโจทก์ไม่แตกและไม่บอดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 5 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 23 มกราคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์หนึ่งในสามของค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์ โดยในส่วนของจำเลยที่ 4 ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 23 มกราคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 5 อายุ 15 ปีเท่ากันเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนภูหลวงวิทยา จังหวัดเลย ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐมีจำเลยที่ 4 เป็นข้าราชการครูในสังกัดของจำเลยที่ 2 สอนวิชาภาษาไทยในชั้นเรียนของโจทก์และจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 4 กำหนดให้นักเรียนวิชาภาษาไทยจัดแสดงละครเรื่อง “มหากบิลวานร” โดยให้ผู้ที่แสดงเป็นทหารจะต้องทำคันธนูและลูกธนูมาด้วย หลังเสร็จสิ้นการแสดงโจทก์กับจำเลยที่ 5 ได้ใช้คันธนูและลูกธนูยิงเล่นใส่กัน ลูกธนูของจำเลยที่ 5 ถูกตาขวาของโจทก์ กระจกตาขาวขวาแตกเลยไปกระจกตาดำ เลนส์แก้วตาเคลื่อน ทำให้ตาขวาไม่สามารถมองเห็นเช่นบุคคลทั่วไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ศาลมีอำนาจนำพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาปรับแก่คดีนี้ได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 กับพวก พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว แต่โจทก์มิได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับผิดในผลการละเมิดของการกระทำของจำเลยที่ 4 โดยอาศัยข้อเท็จจริงและหลักของพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ฟ้องโดยอาศัยผลการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อาจนำความรับผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับตามฟ้องคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า คำฟ้องคดีแพ่งคู่ความไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นมากล่าวอ้างในคำฟ้องเพียงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงและอ้างเหตุผลที่จำเลยต้องรับผิดก็พอแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายขึ้นมาปรับแก่คดีตามข้อเท็จจริงที่พิพากษาได้ความเอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 134 คดีนี้โจทก์ฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้ศาลมีอำนาจนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้กำหนดหรือพึงคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 4 จะทำการสอนโดยใช้ธนูมาเป็นอุปกรณ์ประกอบ จึงเป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่หรือหากเป็นงานในหน้าที่เมื่อสอนเสร็จจำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนนำธนูไปเก็บไว้ในห้องเรียนถือว่าได้ใช้คามระมัดระวังตามสมควรแล้ว จำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่ต้องดูแลโจทก์และจำเลยที่ 5 อีกต่อไป ไม่ว่าเป็นการนำธนูที่จำเลยที่ 4 ให้นำมาใช้แสดงละครหรือทำธนูขึ้นมาเล่นกันไปก่อเหตุร้ายด้วยความคึกคะนองของโจทก์และจำเลยที่ 5 เอง เพราะเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นได้นั้น พยานโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ธนูที่นำมาเล่นขณะเกิดเหตุเวลาประมาณ 11.40 นาฬิกา เป็นอุปกรณ์ที่จำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนนำมาใช้ประกอบการแสดงละคร โดยมีนายเด่นชัยเพื่อนร่วมชั้นเรียนพยานโจทก์เบิกความสนับสนุน นายเด่นชัยตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า หลังจากเรียนวิชาภาษาไทยเสร็จใกล้เที่ยงแล้ว จำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนไปรับประทานอาหารไม่ได้สั่งเรื่องธนู เข้าใจว่าธนูคันเกิดเหตุเอามาจากการแสดงละคร ซึ่งนักเรียนหญิงกลุ่มที่แสดงนำมาเก็บไว้ใต้โต๊ะและตอบทนายโจทก์ถามติงว่า ขณะนั้นยังมีธนูของเพื่อนนักเรียนอยู่ในห้องอีกหลายคัน ส่วนจำเลยที่ 4 เบิกความว่า จำเลยที่ 4 กลับจากรับประทานอาหารกลางวันทราบจากอาจารย์คนอื่นและนักเรียนว่า โจทก์และจำเลยที่ 5 นำธนูมาเล่นกันเมื่อสอบถามแล้วทราบว่านำไม้มาจากข้างโรงเรียนมาทำและเก็บมาจากถังขยะ เห็นว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุหรือเห็นธนูคันเกิดเหตุ จึงเป็นการไม่แน่ชัดแต่ได้ความจากนายอาณัติพยานจำเลยซึ่งเป็นครูเวรได้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ว่า โจทก์ชวนจำเลยที่ 5 ไปเล่นต่อสู้กัน โดยใช้ธนูประกอบการแสดงละครที่บุคคลทั้งสองยังไม่ได้ทิ้งขยะมายิงต่อสู้กัน ตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.8 ตามบันทึกดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ว่านายอาณัติได้สอบถามโจทก์และจำเลยที่ 5 หลังเกิดเหตุเกือบทันทีน่าเชื่อว่าเป็นความจริง ประกอบกับเหตุเกิดหลังจากเสร็จการแสดงละครไม่นานโจทก์และจำเลยที่ 5 ยังไม่ทันหาไม้จากข้างโรงเรียนมาทำนอกจากใช้ธนูที่มีอยู่แล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ธนูที่เกิดเหตุเป็นธนูที่ใช้ประกอบการแสดงละครวิชาภาษาไทย ซึ่งจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่สอนวิชาดังกล่าวให้แก่นักเรียน ดังนั้น นอกจากจำเลยที่ 4 จะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้อบรมสั่งสอนนักเรียนในวิชาภาษาไทยแล้ว ยังถือว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ให้ได้รับความปลอดภัย ให้ประพฤติตนอยู่ในระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ไม่ไปก่อเรื่องเดือดร้อนเสียหายใดๆ แก่ผู้อื่น การที่จำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนทำธนูเป็นอุปกรณ์การเรียน จำเลยที่ 4 น่าจะใช้ความระมัดระวังคาดหมายหรือเล็งเห็นได้ว่าธนูดังกล่าวอาจเกิดอันตรายแก่กายได้ หากนักเรียนนำไปใช้ยิงเล่นใส่กัน และจำเลยที่ 4 ไม่ได้สั่งให้นักเรียนนำธนูไปทำลายทิ้งหรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยหรือห้ามมิให้นำธนูไปใช้เล่นกันเพราะปรากฏว่ายังมีธนูในห้องเรียนอีกหลายคันเช่นวิสัยผู้มีอาชีพครูทั่วไปจะถือปฏิบัติ แต่จำเลยที่ 4 ปฏิบัติไม่ชอบและขาดความรอบคอบจึงเป็นความประมาทเลินเล่อ มิได้เป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใด กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกายการที่จำเลยที่ 4 ทำการสอนวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนภูหลวงวิทยา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์นักเรียนคนหนึ่งที่เรียนวิชาภาษาไทยเสียหายแก่ร่างกายจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์สมัครใจร่วมก่อเหตุเสี่ยงภัยเองกับจำเลยที่ 5 และทางโรงเรียนภูหลวงวิทยาช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์จำนวน 20,000 บาท จำเลยที่ 5 ชดใช้ให้จำนวน 15,000 บาท รวมเป็นจำนวน 35,000 บาท ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลบางส่วนแล้ว ทั้งตามความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจรักษามีความเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลโจทก์ไม่เกิน 30,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 80,000 บาท จึงสูงเกินความเป็นจริงนั้น เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ร่างกายได้ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการรักษาตาจำนวน 50,000 บาท และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานจำนวน 100,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย แม้จะมีบุคคลอื่นนำเงินมามอบให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนก็ไม่อาจทำให้ความรับผิดชอบตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 ต้องลดน้อยลงไปด้วย จึงไม่อาจนำเงินที่ทางโรงเรียนภูหลวงวิทยาและจำเลยที่ 5 ช่วยเหลือโจทก์จำนวน 35,000 บาท มาหักออกจากค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวน 30,000 บาท และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานจำนวน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 80,000 บาท โดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด รวมทั้งที่โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยเล่นยิงธนูใส่กันกับจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ก็มีส่วนรับผิดเช่นเดียวกันตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วและศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายทั้งสองจำนวนรวมเป็นเงิน 80,000 บาท จึงไม่เป็นจำนวนที่สูงเกินความเป็นจริงตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าเสียหายของโจทก์จำนวนดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share