คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายที่โจทก์อาศัยเป็นมูลฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในคดีนี้เป็นฉบับเดียวกับที่โจทก์ได้เคยนำไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในคดีก่อนและมิใช่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนจึงเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยตามสัญญาฉบับเดียวกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีก่อนซึ่งมีมูลเหตุอย่างเดียวกันเมื่อคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกจึงเป็นการฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา173วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีโจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2530 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงซื้อขายลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าสำหรับฟิวส์สวิตซ์แรงสูงขนาด 27 กิโลโวลต์ จำนวน 20,000 ลูก กำหนดส่งมอบภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 เพื่อนำไปประกอบเป็นสวิตซ์ไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง ถึงกำหนดแล้วจำเลยไม่ส่งมอบให้โจทก์ครบตามสัญญา ทำให้โจทก์ส่งสินค้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงล่าช้า และถูกปรับคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 518,792.49 บาท และโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเนื่องจากเสียค่าดอกเบี้ยให้ธนาคารเป็นเงิน153,427.29 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งของและติดตามตรวจนับเป็นเงิน 45,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายจำนวน717,219.78 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2531 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงซื้อขายลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าสำหรับฟิวส์สวิตซ์แรงสูงขนาด 27 กิโลวัตต์ จำนวน 20,000 ลูก กับลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าแบบ ที.อาร์ 208 จำนวน 10,000 ลูก กำหนดส่งภายในเดือนธันวาคม2531 เพื่อนำไปประกอบเป็นสวิตซ์ไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง ถึงกำหนดแล้วจำเลยไม่ส่งมอบให้โจทก์ครบตามสัญญา ทำให้โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคล่าช้าและถูกปรับเป็นเงิน 1,297,296 บาท ตามสัญญาที่ พี.เอส.อาร์ 3.2พี 31/1988 และค่าเสียหายเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารเพิ่มขึ้น เสียค่าซื้อสินค้าจากที่อื่นมาทดแทนรวมเป็นเงิน 5,112,646.42 บาท และโจทก์ทั้งสองถูกปรับตามสัญญาที่ ปก.287/2532 อีกเป็นเงิน 2,022,332 บาท และเสียค่าใช้จ่ายในการส่งของตรวจนับเป็นเงิน 35,000 บาท เสียดอกเบี้ยเป็นเงิน 253,199.87 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากต้องซื้อสินค้าอื่นมาทดแทนเป็นเงิน 235,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายจำนวน2,546,731.87 บาท และโจทก์ทั้งสองได้ซื้อลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าแบบ ที.อาร์ 208 จากต่างประเทศจำนวน 8,000 ลูก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 4,280,195.84 บาท ขอให้จำเลยชดใช้เงิน12,626,593.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 2017/2532 ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดยูต้าอุตสาหกรรม ที่ 1กับพวก โจทก์บริษัทอาเชียนอินซูเลเตอร์ จำกัด จำเลย ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากมูลหนี้สัญญาซื้อขายเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า มูลเหตุจากการที่จำเลยส่งสินค้าให้โจทก์ทั้งสองล่าช้าตามใบสั่งซื้อสินค้าเอกสารหมายจ.24 และ จ.32 ในคดีนี้เป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 2017/2532 ของศาลแพ่ง เพราะค่าเสียหายในคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 2017/2532ของศาลแพ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 2017/2532 ของศาลแพ่งหรือไม่ พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า”นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น ฯลฯ” เห็นได้ว่าตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองในคดีหมายเลขดำที่ 2017/2532 ของศาลแพ่งและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้นเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทั้งสองทำกับจำเลยโดยได้บรรยายฟ้องไว้ชัดว่าเป็นสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2530 กับฉบับลงวันที่10 พฤษภาคม 2531 ซึ่งเมื่อเทียบกับสัญญาซื้อขายที่โจทก์ทั้งสองนำมาฟ้องและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในคดีนี้ตามใบสั่งซื้อสินค้าเอกสารหมาย จ.24 และ จ.32 แล้ว จะเห็นได้ว่าวันเวลาและสินค้าที่สั่งซื้อตรงกับรายการสั่งซื้อสินค้าของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 2017/2532 ของศาลแพ่งที่โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยไว้ก่อนทุกประการ แสดงให้เห็นว่าสัญญาสั่งซื้อสินค้าและค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกจากจำเลยในคดีนี้เป็นสัญญาฉบับเดียวกันกับคดีก่อนโดยในคดีนี้โจทก์ที่ 2 เองก็ได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 2017/2532 ของศาลแพ่งโดยอาศัยสัญญาซื้อขายฉบับเดียวกับที่ฟ้องจำเลยในคดีนี้และขณะที่ฟ้องจำเลยในคดีก่อนโจทก์ทั้งสองก็ได้ทราบความเสียหายแล้วเพียงแต่ยังไม่ทราบความเสียหายที่แน่นอนเป็นการยืนยันรับด้วยอีกนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.24 และ จ.32 ที่โจทก์ทั้งสองอาศัยเป็นมูลฟ้องจำเลยในคดีนี้เป็นสัญญาซื้อขายฉบับเดียวกับที่โจทก์ทั้งสองได้เคยนำไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 2017/2532 ของศาลแพ่งในคดีก่อน ทั้งมิใช่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในคดีก่อนและเป็นค่าเสียหายคนละส่วนกันดังที่โจทก์อ้าง การฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยตามสัญญาซื้อขายฉบับเดียวกับที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในคดีก่อนซึ่งมีมูลเหตุอย่างเดียวกันนั้นเอง เมื่อข้อเท็จจริงในคดีก่อนมีมูลเหตุอย่างเดียวกันกับคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คดียังไม่ถึงที่สุดการที่โจทก์ทั้งสองมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในคดีนี้อีกกรณีจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share