คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4409/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายแล้วตัดโค่นต้นยางพาราจำนวน 17 ต้น และเอาต้นยางพาราดังกล่าวไปโดยใช้รถยนต์บรรทุก อันเป็นความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหาย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยมีความมุ่งหมายที่จะเข้าไปตัดโค่นต้นยางพาราซึ่งอยู่ในที่ดินดังกล่าว แล้วนำออกไปจากที่ดิน โดยใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุก ต้นยางพาราไป จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวต่อเนื่องกันตลอดมาไม่ขาดตอนอันเป็นการกระทำ กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ.มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (12), 336 ทวิ, 358, 359, 362, 365 กับให้คืนต้นยางพาราของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (12), 336 ทวิ, 359 (4), 365 (2) ความผิดฐานบุกรุกเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ความผิดตามกฎหมายดังกล่าวมีโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 (4) ให้จำคุก 1 ปี ความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 335 วรรคสาม, 336 ทวิ ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 8 เดือน คืนต้นยางพาราของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นให้ยกและให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (12) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ, 359 (4) ประกอบด้วยมาตรา 358, 365 (2) ประกอบด้วยมาตรา 362 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 335 (7) (12) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ, ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายแล้วตัดโค่นต้นยางพารา จำนวน 17 ต้น และเอาต้นยางพาราดังกล่าวไปโดยใช้รถยนต์บรรทุก อันเป็นความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ตามฟ้องของโจทก์
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประเด็นข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับกรณีลักต้นยางพาราเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน มิใช่กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทดังศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหาย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 มีความมุ่งหมายที่จะเข้าไปตัดโค่นต้นยางพาราซึ่งอยู่ในที่ดินดังกล่าว แล้วนำออกไปจากที่ดิน โดยใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกต้นยางพาราไป จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวต่อเนื่องกันตลอดมาไม่ขาดตอน อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามมาตรา 91 ดังที่โจทก์ฎีกากล่าวอ้างไม่
พิพากษายืน

Share