คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4409/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักร บริษัท ผู้ผลิตเรียกชื่อสินค้าดังกล่าวว่า “FreezingTunnel” หรือ”FoodFreezer” ซึ่งแปลว่าเครื่องแช่แข็งอาหาร แต่โจทก์ได้ขอให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าพิพาทเปลี่ยนชื่อสินค้าพิพาทใหม่โดยใช้ชื่อว่า “BeltConveyor” แปลว่าเครื่องสายพาน ลำเลียง แสดงว่าบริษัทผู้ผลิตต้องการให้สินค้าพิพาทเป็นเครื่องแช่แข็งอาหาร มิใช่เป็นเครื่องสายพาน ลำเลียงเท่านั้นและลูกค้าทุกรายที่ซื้อสินค้าดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้ถนอมอาหารโดยวิธีแช่แข็ง และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมศุลกากรได้มีวินิจฉัยว่าสินค้าดังกล่าวอยู่ในประเภทพิกัด 8418.69 แสดงให้เห็นว่าสาระสำคัญของสินค้าพิพาทก็เพื่อประโยชน์ในการแช่แข็งอาหารโดยใช้สายพาน และระบบขับเคลื่อนเป็นส่วนประกอบเพื่อลำเลียงอาหารสดให้ได้รับสารทำความเย็นสินค้าพิพาทจึงมิใช่เพียงเครื่องสายพาน ลำเลียงหรือเครื่องลำเลียงอาหารสดเท่านั้นและถึงแม้ว่าสินค้าพิพาทจะไม่สามารถผลิตสารทำความเย็นได้ ด้วยตนเองและไม่มีส่วนใดที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคอมเพรสเซอร์ คอนเดนเซอร์ ลิ้นลดความดัน คงมีแต่แผงกระจายความเย็น ที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับอีแวโพเรเตอร์ ก็ตาม แต่ก็สามารถ ทำความเย็นได้ด้วยการนำถังบรรจุสารทำความเย็นมาติดตั้ง และต่อท่อส่งสารทำความเย็นไปที่ระบบหัวฉีดของเครื่อง แล้วนำสินค้าพิพาทแช่แข็งอาหารได้ ดังนี้ สินค้าพิพาท จึงจัดเป็นเครื่องอุปกรณ์ทำความเย็นหรือทำให้เย็นจนแข็งอื่น ๆซึ่งมิใช่แบบคอมเพรสชันที่คอนเดนเซอร์เป็นตัวแลกเปลี่ยนความร้อนอันเป็นสินค้าจัดอยู่ในประเภทพิกัด 8418.69

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 7,659,329.26 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน จากต้นเงิน 6,897,049 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อระหว่างปี 2539 ถึงปี 2540 โจทก์ได้นำสินค้าพิพาทรวม 6 รายการเข้ามาในราชอาณาจักร โดยโจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและชำระอากรขาเข้าในประเภทพิกัด 8418.69 ต้องชำระอัตราอากรร้อยละ 45 และร้อยละ 30 เพราะเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งว่าสินค้าพิพาทอยู่ในประเภทพิกัดอัตราศุลกากรดังกล่าว แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยโจทก์ได้ขอสงวนสิทธิโต้แย้งประเภทพิกัดอัตราศุลกากรไว้ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าทั้ง 6 ฉบับ เป็นเครื่องลำเลียงอาหารสดประเภทพิกัด 8428.33 หรือเป็นสินค้าเครื่องอุปกรณ์ทำความเย็นหรือทำให้เย็นจนแข็งอื่น ๆ ซึ่งมิใช่แบบคอมเพรสชันที่คอนเดนเซอร์เป็นตัวแลกเปลี่ยนความร้อนประเภทพิกัด 8418.69 ในปัญหาดังกล่าว โจทก์มีนายชนะ ตันติวศินชัยนายประเวศ อิงคดาภา นางอนงค์ เอกนิคม พนักงานของโจทก์เป็นพยานเบิกความสรุปได้ว่า สินค้าพิพาทไม่มีอุปกรณ์ซึ่งสามารถทำความเย็นได้ด้วยตัวเอง แต่ความเย็นได้มาจากไนโตรเจนเหลวซึ่งบรรจุในถังภายนอกเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากแล้วต่อส่งไนโตรเจนเหลวซึ่งเป็นสารทำความเย็นไปที่ระบบหัวฉีดของเครื่อง สินค้าพิพาทจึงไม่ใช่เครื่องอุปกรณ์ทำความเย็นหรือทำให้เย็นจนแข็งอื่น ๆซึ่งมิใช่แบบคอมเพรสชันที่คอนเดนเซอร์เป็นตัวแลกเปลี่ยนความร้อนประเภทพิกัด 8418.69 แต่เป็นเครื่องสายพาน ลำเลียงประเภทพิกัด 8428.33 เห็นว่า นายชนะ เบิกความรับว่าเดิมสินค้าพิพาทบริษัทผู้ผลิตเรียกชื่อสินค้าดังกล่าวว่า “Freezing tunnel” หรือ”Food Freezer” ซึ่งแปลว่าเครื่องแช่แข็งอาหาร แต่โจทก์ได้ขอให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าพิพาทเปลี่ยนชื่อสินค้าพิพาทใหม่โดยใช้ชื่อว่า”Belt Conveyor” แปลว่าเครื่องสายพาน ลำเลียง แสดงว่าที่บริษัทผู้ผลิตใช้ชื่อสินค้าพิพาทว่า “Freezing Tunnel” หรือ”Food Freezer” เพราะต้องการให้สินค้าพิพาทเป็นเครื่องแช่แข็งอาหารมิใช่เป็นเครื่องสายพาน ลำเลียงเท่านั้น นอกจากนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายไพศาล ครุฑอานนท์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) ว่าบริษัทอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) เคยสั่งซื้อสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 5 เครื่องเพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่ลูกค้า ลูกค้าทุกรายที่ซื้อสินค้าดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ถนอมอาหารโดยวิธีแช่แข็งและยังไม่มีลูกค้ารายใดนำสินค้าดังกล่าวไปใช้ถนอมอาหารโดยวิธีระบบไอน้ำ นายไพศาลเคยร้องเรียนไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อให้วินิจฉัยเกี่ยวกับประเภทสินค้าดังกล่าว สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมศุลกากรได้ประชุมหารือและมีข้อยุติว่าสินค้าดังกล่าวอยู่ในประเภทพิกัด 8418.69 แสดงให้เห็นว่าสาระสำคัญของการใช้สินค้าพิพาทก็เพื่อประโยชน์ในการแช่แข็งอาหารโดยใช้สายพาน และระบบขับเคลื่อนเป็นส่วนประกอบเพื่อลำเลียงอาหารสดให้ได้รับสารทำความเย็น สินค้าพิพาทจึงมิใช่เป็นเพียงเครื่องสายพาน ลำเลียงหรือเครื่องลำเลียงอาหารสดเท่านั้น และถึงแม้ว่าสินค้าพิพาทจะไม่สามารถผลิตสารทำความเย็นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีการต่อท่อจากถังไนโตรเจนเหลวซึ่งอยู่ภายนอกตัวเครื่องและไม่มีส่วนใดที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคอมเพรสเซอร์ คอนเดนเซอร์ ลิ้นลดความดันคงมีแต่แผงกระจายความเย็นที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับอีแวโพเรเตอร์ดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็สามารถทำความเย็นได้ด้วยการนำถังบรรจุสารทำความเย็นมาติดตั้งและต่อท่อส่งสารทำความเย็นไปที่ระบบหัวฉีดของเครื่องแล้วนำสินค้าพิพาทแช่แข็งอาหารได้ ดังนี้ สินค้าพิพาทจึงจัดเป็นเครื่องอุปกรณ์ทำความเย็นหรือทำให้เย็นจนแข็งอื่น ๆซึ่งมิใช่แบบคอมเพรสชันที่คอนเดนเซอร์เป็นตัวแลกเปลี่ยนความร้อนอันเป็นสินค้าจัดอยู่ในประเภทพิกัด 8418.69 มิใช่เป็นเครื่องลำเลียงอาหารสดประเภทพิกัด 8428.33 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3411/2534 ระหว่างบริษัทสุรพล ซีฟู้ดส์ จำกัด โจทก์ กรมศุลกากร จำเลย ที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์มีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสินค้าพิพาทสามารถใช้กับระบบความร้อนให้อาหารสุกได้ด้วยก็เป็นเพียงข้ออ้างของโจทก์ลอย ๆ ยังรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าพิพาทสามารถใช้กับระบบความร้อนได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share