คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มิได้กำหนดระยะเวลาให้คู่ความฝ่ายที่ศาลมีคำสั่งขาดนัดพิจารณาและมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นพิพาทยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ กรณีจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 มาใช้บังคับ โดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 คดีนี้ศาลแรงงานได้ออกคำบังคับและให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยสั่งว่าในการส่งหากไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดและให้มีผลเป็นการส่งในทันที แต่ในคำบังคับหาได้มีข้อความว่าการปิดคำบังคับให้มีผลทันทีตามคำสั่งของศาลแรงงานดังกล่าวไม่ คงระบุข้อความไว้เพียงว่า ให้การปิดคำบังคับ มีผลตามกำหนดระยะเวลาในคำบังคับ และกำหนดไว้ต่อไปอีกว่าให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 15 วัน นับแต่ วันรับคำบังคับเท่านั้น ดังนี้ เมื่อข้อความที่ระบุไว้ ในคำบังคับไม่ได้มีความหมายว่าการปิดคำบังคับให้มีผลทันที จำเลยจึงไม่อาจทราบได้ว่าศาลแรงงานมีคำสั่งให้การส่งคำบังคับ มีผลทันทีที่มีการปิดคำบังคับ กรณีต้องอยู่ในบังคับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง ประกอบ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่กำหนดว่าการส่งคำบังคับให้แก่จำเลย จะมีผลตามกฎหมายต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันหรือระยะเวลา นานกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดได้ล่วงพ้นไปแล้ว นับแต่วันปิดคำบังคับ ปรากฏว่ามีการปิดคำบังคับที่ภูมิลำเนา จำเลยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2541 ซึ่งครบกำหนดยื่นคำร้อง ขอให้พิจารณาใหม่วันที่ 24 กันยายน 2541 อันเป็นวันทำการ จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในวันที่ 25 กันยายน 2541 จึงเป็นการยื่นเกินกำหนดสิบห้าวันตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคหนึ่ง การที่ศาลแรงงานมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 35,731 บาท ค่าชดเชยจำนวน 156,870 บาท แก่โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว จึงมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มิได้กำหนดระยะเวลาให้คู่ความฝ่ายที่ศาลมีคำสั่งขาดนัดพิจารณาและมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นพิพาทยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้ออกคำบังคับและให้ส่งคำบังคับแก่จำเลย โดยสั่งว่าในการส่งหากไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดและให้มีผลเป็นการส่งในทันที แต่คำบังคับหาได้มีข้อความว่าการปิดคำบังคับให้มีผลทันทีตามคำสั่งของศาลแรงงานกลางดังกล่าวไม่ คงระบุข้อความไว้เพียงว่า ให้การปิดคำบังคับมีผลตามกำหนดระยะเวลาในคำบังคับและกำหนดไว้ต่อไปอีกว่า ให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 15 วัน นับแต่วันรับคำบังคับเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าข้อความที่ระบุไว้ในคำบังคับดังกล่าวไม่ได้มีความหมายว่าการปิดคำบังคับให้มีผลทันทีแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่อาจทราบได้ว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้การส่งคำบังคับมีผลทันทีที่มีการปิดคำบังคับ ดังนั้นกรณีต้องอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่กำหนดว่าการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยจะมีผลตามกฎหมายต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันหรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่วันปิดคำบังคับ ปรากฏว่ามีการปิดคำบังคับที่ภูมิลำเนาจำเลย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2541 ซึ่งจะครบกำหนดยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่วันที่ 24 กันยายน 2541 อันเป็นวันทำการจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในวันที่ 25 กันยายน 2541 จึงเป็นการยื่นเกินกำหนดสิบห้าวันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคหนึ่ง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share