คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4396/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เช็คพิพาทมีมูลหนี้เดิมมาจากการซื้อขายที่ดินซึ่งโจทก์กับว. เป็นหุ้นส่วนขายที่ดินให้แก่จำเลย บุคคลทั้งสองจึงต่างมีสิทธิ และมีผลประโยชน์ร่วมกันในเงินค่าที่ดิน แต่หนี้ดังกล่าวได้แปลงหนี้ เป็นหนี้เงินกู้ยืม โดยโจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้ให้กู้และจำเลยออกเช็ค เพื่อชำระหนี้รายนี้ ดังนั้น การที่ว.นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของตนเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทเชื่อได้ว่าโจทก์มอบเช็คพิพาท ให้ว. กระทำการดังกล่าวแทนโจทก์ตามหน้าที่ของตนเท่านั้นโจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีนี้ เช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีมูลหนี้เดิมมาจากจำเลยซื้อที่ดินของโจทก์ แล้วมีการแปลงหนี้เป็นหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญาเงินกู้และค้ำประกัน ต่อมาจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวรวมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าเสียหายตามที่ โจทก์จำเลยตกลงกัน แม้หลังจากนั้นจะมีการทำหนังสือสัญญาเงินกู้และค้ำประกันก็เพื่อให้มีหลักฐานมั่นคงยิ่งขึ้นเท่านั้น การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย หาใช่ขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์ยังไม่มีหนี้ต่อกันไม่ เมื่อโจทก์มอบให้ว.นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินแทนโจทก์ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยผู้ออกเช็คจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 จำคุก 1 ปี และปรับ 60,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยออกเช็คพิพาทตามฟ้องเอกสารหมาย จ.2เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระเงิน นายวิเชียร ไตรจุฑากาญจน์ น้าชายโจทก์นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของนายวิเชียรเพื่อให้เรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่า “ยังไม่มีการตกลงกับธนาคาร” ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.3 และปรากฏว่าในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยเป็นลูกหนี้ธนาคารตามเช็คพิพาทจำนวน 5,000,000 บาทเศษตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.7 คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นลำดับแรกว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายวิเชียรเป็นผู้เก็บรักษาเช็คพิพาท และนายวิเชียรเป็นผู้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินโดยเข้าบัญชีเงินฝากของนายวิเชียรภายหลังธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน นายวิเชียรได้มอบเช็คและใบคืนเช็คคืนให้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ นายวิเชียรจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรง โจทก์มิใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ในเรื่องนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า เดิมจำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์แล้วมีการแปลงหนี้เงินค่าซื้อที่ดินเป็นหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 4,040,000 บาท โดยจำเลยออกเช็ครวม 2 ฉบับ ฉบับแรก ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2537 จำนวนเงิน 1,000,000 บาท อีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 7 มกราคม 2538 จำนวนเงิน 3,040,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวให้ไว้แก่โจทก์ด้วย ตามสัญญาเงินกู้และค้ำประกันเอกสารหมาย ล.3 แต่จำเลยนำสืบว่า โจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงินและได้รับเงินไปครบถ้วน ซึ่งโจทก์ได้คืนสัญญาเงินกู้และค้ำประกันเอกสารหมาย ล.3 ให้จำเลยแล้ว สำหรับเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 นายวิเชียรพี่ชายโจทก์ (ความจริงน้าชายโจทก์) ได้ขอยืมจากจำเลยนำไปขายลดเช็คให้แก่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด (มหาชน) สาขาหาดใหญ่ โดยให้จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาเงินกู้และค้ำประกันตามสำเนาเอกสารหมาย จ.1เพื่อประกอบการพิจารณาขายลดเช็คต่อธนาคาร ส่วนโจทก์นำสืบว่าเมื่อเช็คฉบับจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ถึงกำหนดชำระเงินโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยจึงขอเปลี่ยนเช็ค โดยจำเลยออกเช็ครวม 3 ฉบับ จำนวนเงิน300,000 บาท 350,000 บาท และ 350,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายหลังเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินได้เพียง 2 ฉบับ เป็นเงิน650,000 บาท จำเลยได้ขอเปลี่ยนเช็คอีก โดยจำเลยออกเช็คลงวันที่30 พฤษภาคม 2538 จำนวนเงิน 3,720,000 บาท ซึ่งรวมเงินตามเช็คฉบับจำนวนเงิน 3,040,000 บาท เข้าไว้ด้วยกันและให้เงินที่เพิ่มขึ้นเป็นค่าตอบแทน ต่อมาจำเลยติดต่อกับโจทก์ไม่ให้นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินและขอเปลี่ยนเช็คเป็นเช็คพิพาทจำนวนเงิน4,110,000 บาท โดยยอมให้โจทก์รวมค่าเสียหายไว้ด้วยทั้งจำเลยยังได้ทำหนังสือสัญญาเงินกู้และค้ำประกันตามสำเนาเอกสารหมาย จ.1 ให้ไว้แก่โจทก์ นอกจากนี้โจทก์นำสืบอีกด้วยว่าโจทก์กับนายวิเชียรเป็นหุ้นส่วนในการซื้อขายที่ดินรายนี้และนายวิเชียรมีหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารตลอดจนด้านการเงินซึ่งโจทก์จะมอบหมายให้นายวิเชียรเป็นผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คในข้อนี้จำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่า โจทก์กับนายวิเชียรมิได้เป็นหุ้นส่วนขายที่ดินให้แก่จำเลย แต่จำเลยกลับตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อขายและเป็นผู้โอนที่ดินให้แก่จำเลย เห็นว่า โจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารประกอบสนับสนุนเชื่อมโยงกันเป็นอย่างดีส่วนจำเลยคงกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า นายวิเชียรขอยืมเช็คพิพาทนำไปขายลดเช็คต่อธนาคาร จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เช็คพิพาทมีมูลหนี้เดิมมาจากการซื้อขายที่ดิน ซึ่งโจทก์กับนายวิเชียรเป็นหุ้นส่วนขายที่ดินให้แก่จำเลยบุคคลทั้งสองจึงต่างมีสิทธิและมีผลประโยชน์ร่วมกันในเงินค่าที่ดิน แต่หนี้ดังกล่าวได้แปลงหนี้เป็นหนี้เงินกู้ยืม โดยโจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้ให้กู้และจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้รายนี้ ดังนั้นการที่นายวิเชียรนำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของตนเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาท กรณีเชื่อว่าโจทก์มอบเช็คพิพาทให้นายวิเชียรกระทำการดังกล่าวแทนโจทก์ตามหน้าที่ของตนเท่านั้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า เช็คพิพาทตามฟ้องมีมูลหนี้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ซึ่งจำเลยฎีกาว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมายจ.2 ตั้งแต่ประมาณเดือนธันวาคม 2538 แต่โจทก์เพิ่งจัดทำหนังสือสัญญาเงินกู้และค้ำประกันตามสำเนาเอกสารหมาย จ.1เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2539 โดยระบุว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ดังนั้น ขณะจำเลยออกเช็คพิพาทโจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยต้องรับผิดในการกู้ยืมได้นั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีมูลหนี้เดิมมาจากจำเลยซื้อที่ดินของโจทก์ แล้วมีการแปลงหนี้เป็นหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญาเงินกู้และค้ำประกันเอกสารหมาย ล.3 ต่อมาจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวรวมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าเสียหายตามที่โจทก์จำเลยตกลงกันแม้หลังจากนั้นได้ทำหนังสือสัญญาเงินกู้และค้ำประกันตามสำเนาเอกสารหมาย จ.1 ก็เพื่อให้มีหลักฐานมั่นคงยิ่งขึ้นเท่านั้น การออกเช็คพิพาทของจำเลย จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายหาใช่ขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์ยังไม่มีหนี้ต่อกันดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อโจทก์มอบให้นายวิเชียรนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินแทนโจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คพิพาท จำเลยผู้ออกเช็คจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ที่โจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ให้รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยโจทก์จะต้องยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวตามบทบัญญัติของกฎหมาย จะขอมาในคำแก้ฎีกาหาได้ไม่ อีกทั้งเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225″
พิพากษายืน

Share