คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1704/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เพียงแต่ขับรถรับส่งกลุ่มคนร้ายด้วยกัน โดยไม่ปรากฏว่า ได้แบ่งหน้าที่กันทำหรือได้ร่วมอยู่ด้วยในที่เกิดเหตุขณะผู้เสียหายถูก กลุ่มคนร้ายร่วมกันปล้นรถจักรยานยนต์ผู้เสียหาย แม้ว่าหลังจากกลุ่มคนร้าย ปล้นรถจักรยานยนต์ได้แล้วนำไปเก็บที่ไร่ของจำเลยที่ 2 ก็ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่กลุ่มคนร้ายในการปล้นทรัพย์ ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น แม้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิดศาลย่อมพิพากษา ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดเป็นผู้สนับสนุนได้ กรณีเป็นการวินิจฉัยคดีโดยยกบทกฎหมายขึ้นปรับกับการกระทำของจำเลยที่ 2 มิใช่กรณีข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339,340, 340 ตรี ริบเชือกของกลาง

จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับว่าลักรถจักรยานยนต์จริง แต่ปฏิเสธข้อหาปล้นทรัพย์จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก, 340 ตรี จำคุกคนละ 15 ปีริบเชือกของกลาง

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน2538 เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 และที่ 4 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4พิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดแล้วกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ขอนแก่น ผ – 2606 ของนายโสภา เหล่าเจริญ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของบุตรชายคือนายประเวท เหล่าเจริญ ผู้เสียหาย มีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยกลุ่มคนร้ายวางแผนให้พวกของตนหนึ่งคนว่าจ้างผู้เสียหายซึ่งจอดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวข้างต้นรอผู้โดยสารอยู่ที่ศาลาที่พักคนโดยสารบริเวณทางแยกเข้าวนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ให้ไปส่งที่ไร่ยูงทองห่างไปประมาณ 6 กิโลเมตร เมื่อไปถึงคนร้ายดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 4กับพวกประมาณ 5 คน ซึ่งซุ่มรออยู่ก่อนแล้วทำการปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ผู้เสียหายและจับผู้เสียหายมัดติดกับต้นมะขามภายในไร่ โดยคนร้ายที่เป็นผู้ว่าจ้างผู้เสียหายกับพวกอีกหนึ่งคนจูงรถจักรยานยนต์เข้าไปในไร่ ต่อมามีคนร้ายอีกคนหนึ่งขับรถยนต์กระบะมารับกลุ่มคนร้ายขับออกไป จากนั้นประมาณ 5 นาที นายประเสริฐ (ไม่ทราบชื่อสกุล) ผ่านมาพบผู้เสียหายจึงช่วยเหลือและนำซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปส่งที่หมู่บ้านซำบ่าง

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ – 4775 เลยรับส่งกลุ่มคนร้ายคดีนี้ แต่จากพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2เพียงแต่ขับรถรับส่งกลุ่มคนร้ายด้วยกัน โดยไม่ปรากฏว่าได้แบ่งหน้าที่กันทำหรือได้ร่วมอยู่ด้วยในที่เกิดเหตุขณะผู้เสียหายถูกกลุ่มคนร้ายร่วมกันปล้นรถจักรยานยนต์ผู้เสียหาย แม้ว่าหลังจากกลุ่มคนร้ายปล้นรถจักรยานยนต์ได้แล้วนำไปเก็บที่ไร่ของจำเลยที่ 2 ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่กลุ่มคนร้ายในการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น และศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดเป็นผู้สนับสนุนได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยคดีโดยยกบทกฎหมายขึ้นปรับกับการกระทำของจำเลยที่ 2 กรณีมิใช่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคแรก, 340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 86 ลงโทษจำคุก 10 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share