คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นหนี้ที่มีจำนองเป็นประกัน โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ที่อยู่ในฐานะที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นอยู่แล้ว การที่โจทก์กับ ว. ซึ่งเป็นผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดจำนวนเงินผ่อนชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพิ่มขึ้น เป็นการคิดคำนวณดอกเบี้ยที่ค้างชำระภายหลังจากวันฟ้องจนถึงวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความรวมเข้ากับต้นเงิน การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และ ว. ไม่ทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบเกินกว่าที่ควรจะเป็นที่จะเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวด้วยเหตุการฉ้อฉล

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมและบังคับจำนอง ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยถึงแก่ความตาย นางสาววรรณดียื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนในฐานะภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยและผู้ปกครองทรัพย์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาโจทก์กับจำเลยโดยนางสาววรรณดีได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ โดยให้จำเลยผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 50,000 บาท หากผิดนัดให้ยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 89973 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งใต้) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นางสาววรรณดีถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ผู้ร้องจึงมีอำนาจหน้าที่ดูแลจัดการทรัพย์สินรวมทั้งหน้าที่อื่นๆ ของนางสาววรรณดีลูกหนี้ตามกฎหมาย นางสาววรรณดีลูกหนี้มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกับจำเลยคือที่ดินโฉนดเลขที่ 89973 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ของจำเลย ต่อมาจำเลยผิดนัด โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินกู้ยืมและบังคับจำนองระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยถึงแก่ความตาย นางสาววรรณดีลูกหนี้ได้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยและร่วมกับโจทก์ฉ้อฉลทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อมิให้เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายได้รับชำระหนี้ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยสุจริตมิได้สมคบคิดกับนางสาววรรณดีลูกหนี้ทำการฉ้อฉลเพื่อมิให้เจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้แต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ระหว่างโจทก์และนางสาววรรณดีในฐานะคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะด้วยเหตุการฉ้อฉลหรือไม่ เห็นว่า แม้นางสาววรรณดีเมื่อเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยในครั้งแรก จะได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ตามคำให้การจำเลยลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 แต่คำให้การดังกล่าวก็มิใช่เป็นการปฏิเสธความรับผิดเสียทีเดียว โดยยอมรับว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์จริง เพียงต่อสู้ว่าจำเลยได้รับเงินไม่ครบตามที่ตกลงในสัญญาเท่านั้น และการตกลงเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นทันทีภายหลังจากนางสาววรรณดีเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่และยื่นคำให้การแล้ว โดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม 2545 อันเป็นเวลาภายหลังนางสาววรรณดียื่นคำให้การแล้วถึง 8 เดือนและยังเป็นเวลาก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนางสาววรรณดีเด็ดขาดถึงเกือบ 8 เดือนเช่นกัน โดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 จึงมิใช่เป็นการตกลงยอมความกันอย่างเร่งรีบส่อให้เห็นถึงพิรุธของการตกลงที่ไม่สุจริตแต่อย่างใด ที่ผู้ร้องฎีกาว่า เงื่อนไขของสัญญาประนีประนอมยอมความที่กำหนดให้นางสาววรรณดีผ่อนชำระแก่โจทก์เดือนละ 50,000 บาท ทั้งที่ความจริงแล้วนางสาววรรณดีไม่มีความสามารถที่จะชำระในจำนวนเงินดังกล่วได้ เนื่องจากมีรายได้จากการค้าขายเพียงเล็กน้อย ทำให้เห็นเจตนาของโจทก์และนางสาววรรณดีที่ไม่ต้องการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความมาตั้งแต่ต้น ต้องการเพียงให้มีการบังคับคดีในทรัพย์สินของจำเลยเพื่อสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายเสียเปรียบ ได้รับความเสียหายก็ดี หรือฎีกาว่าทุนทรัพย์ตามฟ้องเป็นเงิน 1,828,125 บาท แต่โจทก์และนางสาววรรณดีตกลงทำยอมในยอดหนี้ 2,100,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่ายอดหนี้ตามฟ้องมาก เป็นการพิ่มภาระหนี้ให้มากขึ้น อันจะทำให้เจ้าหนี้รายอื่นไม่ได้รับชำระหนี้ก็ดีนั้น เห็นว่า หนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลย เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์คือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกัน โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ที่อยู่ในฐานะที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นอยู่แล้ว การกำหนดจำนวนเงินผ่อนชำระมากหรือน้อย ย่อมไม่มีผลกระทบต่อการบังคับชำระหนี้ของโจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองมากนัก ส่วนการตกลงยอดหนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความสูงกว่าจำนวนเงินตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องก็เช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบต้นเงินที่กู้ยืมเงินกันคือ 1,500,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อคำนวณจากวันที่กู้ยืมกันจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือนเศษ คิดเป็นดอกเบี้ย 328,125 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันจากวันฟ้องคือวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ถึงวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความคือวันที่ 3 ตุลาคม 2545 อันเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ก็ย่อมมีจำนวนไม่น้อย การที่จำนวนเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 271,875 บาท จึงน่าจะเป็นการคิดคำนวณดอกเบี้ยที่ค้างชำระภายหลังจากวันฟ้องจนถึงวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความรวมเข้ากับต้นเงินดังกล่าวนั่นเอง การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และนางสาววรรณดีไม่ทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบเกินกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องไม่เป็นสาระสมควรวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กรณียังไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวด้วยเหตุการฉ้อฉล ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share