แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานให้ลูกจ้างของจำเลยทำงานเกินวันละแปดชั่วโมง แล้ว จึงถือว่าการทำงานตามกำหนดเวลาเช่นว่านั้นเป็นเวลาปกติของวันทำงาน โจทก์จะได้รับค่าจ้างค่าครองชีพ และค่าจ้างคำนวณตามระยะทางเดินรถ อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโจทก์หามีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับเวลาที่ทำงานเกินวันละแปดชั่วโมง อีกไม่.
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตำแหน่งพนักงานห้ามล้อ จำเลยให้โจทก์ทำงานนอกเวลาแต่ไม่ให้ค่าตอบแทน ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าทำงานนอกเวลาทำงานปกติ 53,165 บาท หากโจทก์ไม่สมควรได้รับค่าทำงานนอกเวลาทำงานปกติ ก็ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในเวลาที่ทำงานเกินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานให้ลูกจ้างของจำเลยทำงานเกินวันละแปดชั่วโมง และตามบัญชีทำงานเกินเวลาทำงานปกติของโจทก์ท้ายฟ้องไม่ถูกต้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า งานของจำเลยเป็นงานขนส่ง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พุทธ-ศักราช 2515 ข้อ 3(2) กำหนดเวลาทำงานขบวนรถ สถานีกรุงเทพ-สถานีหนองคาย ตามคำให้การนั้น แม้เกินวันละแปดชั่วโมง แต่จำเลยก็ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิสั่งให้โจทก์ทำงานเกินวันละแปดชั่วโมงได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ข้อ 4 กำหนดเวลาทำงานตามคำให้การนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้ประกาศกำหนดเป็นเวลาทำงานปกติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 3 การที่โจทก์ทำงานตามกำหนดเวลาดังกล่าว จึงถือว่าโจทก์ทำงานตามเวลาปกติ ซึ่งจำเลยก็จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ว่าจะเป็นการทำงานในวันปกติหรือในวันหยุด เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและในวันหยุดแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานซ้ำอีก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า …เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานให้กำหนดเวลาทำงานตามคำให้การและโจทก์ได้ทำงานให้ตามคำสั่งของจำเลย จำเลยก็ชอบที่จะจ่ายสินจ้างแก่โจทก์ตามระยะเวลาที่เกินวันละแปดชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้ โดยคำนวณตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2527 ข้อ6(2) พิเคราะห์แล้ว กำหนดเวลาการทำงานตามคำให้การนั้น จำเลยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานแล้ว กำหนดเวลาทำงานของพนักงานห้ามล้อจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ข้อ 3(2) อีกต่อไปซึ่งกรณีที่ว่ามานี้เทียบเคียงได้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 242/2528คดีระหว่างนายแคล้ว สิทธิสุวรรณ โจทก์ การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยการทำงานตามกำหนดเวลาเช่นว่านั้นย่อมต้องถือว่าเป็นเวลาทำงานปกติของวันทำงาน โดยโจทก์จะได้รับค่าจ้าง ค่าครองชีพ และค่าจ้างคำนวณตามระยะทางที่เดินรถตามคำฟ้อง อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์จำต้องผูกพันตามสภาพการจ้างดังกล่าวโดยมีสิทธิได้รับเพียงค่าจ้าง ค่าครองชีพ และค่าจ้างคำนวณตามระยะทางที่เดินรถเท่านั้น หามีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับเวลาที่ทำงานเกินวันละแปดชั่วโมงอีกไม่ เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นดังนี้ การที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายว่าด้วยการจ้างแรงงานทั่วไปมาปรับแก่คดีตามอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เป็นการถูกต้อง และเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับเวลาที่ทำงานเกินวันละแปดชั่วโมง” จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาการคำนวณค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำฯ ตามที่โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้
พิพากษายืน.