คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5967/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พนักงานและคนงานของจำเลยกำหนดให้จ่ายเงินบำนาญตามอายุการทำงาน เฉพาะแก่พนักงานและลูกจ้างประจำซึ่งพ้นจากงานเพราะเกษียณอายุ ก็ต้องเริ่มนับอายุการทำงานของโจทก์ในการคำนวณเงินบำนาญตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานของจำเลยเป็นต้นไป แม้โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานของจำเลยเป็นเวลา 10 ปีเศษก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าในช่วงเวลาที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว โจทก์มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเพราะทำงานติดต่อกันเกิน 120 วัน เพื่อให้นับอายุการทำงานในการคำนวณเงินบำนาญตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มเป็นลูกจ้างชั่วคราว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๐๐ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุ ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำนาญ ซึ่งจะคำนวณโดยนำค่าจ้างสำหรับคำนวณเงินบำนาญคูณด้วยอายุการทำงานและหารด้วย ๕๐ โจทก์มีอายุการทำงาน ๒๙ ปี แต่จำเลยนับอายุการทำงานให้โจทก์เพียง ๑๙ ปี โดยไม่นับอายุการทำงานในช่วง ๑๐ ปี แรกของโจทก์ อ้างว่าในช่วงนั้นโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวจึงไม่อาจนับอายุการทำงานในช่วงนั้นต่อเนื่องกับอายุการทำงานในช่วงที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับเงินบำนาญน้อยกว่าสิทธิที่ควรจะได้ ขอให้จำเลยนับอายุการทำงานตั้งแต่โจทก์เริ่มเข้าทำงานเป็นเวลา ๒๙ ปีและจ่ายเงินบำนาญที่ถูกต้องให้โจทก์นับแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ และจ่ายเงินบำนาญส่วนที่ขาดซึ่งได้แก่เงินบำนาญตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๙ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ระหว่างเดือนเมษายน ๒๕๐๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ โจทก์เป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว หัวหน้ากองยกขนสินค้าในขณะนั้นเป็นผู้จ้างโจทก์ชั่วคราว การจ้างดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลย สภาพการจ้างเป็นลักษณะการจ้างทำของโจทก์มิใช่พนักงานตามความหมายขงข้อบังคับว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอน เลื่อนและลดขั้นเงินเดือนและกำหดนอัตราเงินเดือนพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๓ และมิใช่พนักงานหรือคนงานตามความหมายในข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พนักงานและคนงาสนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งจะต้องถูกหักเงินเดือนหรือค่าจ้างทุกเดือนในอัตราร้อยละ ๕ เพื่อส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์ โจทก์เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นลูกจ้างประจำเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๑๐ โจทก์จะนำอายุการทำงานในช่วงเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญตาาข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ฯ มารวมเข้ากับอายุการทำงานตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นลูกจ้างประจำเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จหรือบำนาญไม่ได้ โจทก์เปลี่ยนฐานะเป็นลูกจ้างประจำเป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่า ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานติดต่อกันเกิน ๑๒๐ วัน มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำนับแต่วันทำงานเกิน ๑๒๐ วันเป็นต้นไป โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวมาเกิน ๑๒๐ วัน ติดต่อกันจนถึงเกษียณอายุโจทก์จึงมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำของจำเลยมีสิทธิได้รับเงินบำนาญตั้งแต่วันเข้าทำงาน การคำนวณอายุการทำงานจึงต้องรวมช่วงเวลาที่โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวด้วย
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า ระหว่างวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๐๐ ถึงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๑๐ โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวของจำเลยเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๑๐ โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานของจำเลย โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๙ จำเลยจ่ายเงินบำนาญให้โจทก์โดยคิดอายุการทำงานตั้งแต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงาน และวินิจฉัยว่าข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พนักงานและคนงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๑๕ กำหนดว่า”ในกรณีที่พนักงานหรือคนงานผู้ใดต้องออกจากงานเนื่องจากเหตุทุพพลภาพหรือสูงอายุถ้าผู้นั้นไม่มีความประสงค์จะขอรับเงินตามข้อ ๑๒ วรรคแรกให้จ่ายเงินแก่ผู้นั้นดังนี้ ฯลฯ
๒. จ่ายเงินกองทุน ๒ ให้เป็นรายเดือนหรือครั้งเดียวแล้วแต่กรณีตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่ใช้อยู่ในขณะเมื่อออกจากงานโดยอนุโลม” ข้อ ๕ กำหนดว่า “ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยจัดตั้งกองทุนสงเคราะห์พนักงานและคนงานประกอบด้วยเงินสะสมและเงินสมทบ”และข้อ ๔ กำหนดว่า “พนักงาน” หมายความว่าพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยทุกตำแหน่งนอกจากผู้ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจ้างทำงานเป็นการชั่วคราว” และ”คนงาน” หมายความถึงลูกจ้างแรงงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งจ้างประจำ”เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พนักงานและคนงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ ดังกล่าวข้างต้น กำหนดให้ใช้บังคับเฉพาะพนักงานหรือคนงานที่ต้องออกจากงานเนื่องจากเหตุสูงอายุด้วยโดยให้มีสิทธิได้รับเงินกองทุน ๒ หรือเงินบำนาญ ลูกจ้างชั่วคราวหามีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวด้วยไม่สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินบำนาญเมื่ออกจากงานเพราะเหตุสูงอายุจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๑๐ อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานแรงงานของจำเลยเป็นต้นไปจนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๙ อันเป็นวันเกษียณอายุ หาได้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๐๐ อันเป็นวันเข้าทำงานดังโจทก์อุทธรณ์ไม่ ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าระยะเวลาการทำงานในช่วงที่โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๐๐ ถึงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๐๐ ไม่อาจนำมารวมเมป็นอายุงานในการคำนวณเงินบำนาญให้โจทก์ได้นั้นจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share