คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4357/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การโอนทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในระหว่าง 3 ปีก่อนล้มละลาย พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา114 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนต้องแสดงให้ศาลพอใจว่าการโอนนั้นได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านจึงจะต่อสู้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมให้เพิกถอนการโอนได้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ต้องนำสืบแสดงความไม่สุจริตของผู้รับโอนเมื่อปรากฏว่า ส. บิดาผู้คัดค้านกับจำเลยผู้ล้มละลายได้ติดต่อการค้ากันมานานถึง 10 ปี และที่ดินทั้ง 4 โฉนดที่ขายให้แก่ผู้คัดค้านมีรายการจดทะเบียนติดจำนองมาตลอด ดังนี้ ส. และผู้คัดค้านย่อมอยู่ในฐานะรู้ดีว่าจำเลยเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่แล้ว ฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านรับโอนไว้โดยสุจริตศาลมีอำนาจเพิกถอนการโอนดังกล่าวได้

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2523 ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2523 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2524 ขณะนี้จำเลยยังไม่พ้นภาวะการล้มละลายเดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 6052, 6053, 6054 และ6055 ตำบลบางวัว อำเภอบาประกง จังหวัดฉะเชิงเทรารวม 4 โฉนด ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2522 จำเลยได้โอนขายที่ดินทั้ง 4 โฉนดดังกล่าวให้ผู้คัดค้านไปในราคา 500,000 บาทโดยไม่สุจริต และมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาซื้อขายกันจริงและเป็นการกระทำในระหว่าง 3 ปีก่อนมีการขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินทั้ง 4 โฉนดดังกล่าว และให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้รับโอนที่ดินทั้ง4 โฉนดดังกล่าวจากจำเลยโดยสุจริต และมีค่าตอบแทนในราคาซื้อขายที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริงทั้งผู้คัดค้านไม่ทราบว่าจำเลยเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่านายแสง อัศวดิลกชัย บิดาผู้คัดค้านรู้จักจำเลยมานานประมาณ10 ปี ได้ซื้อที่ดิน 4 โฉนดตามคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จากจำเลยเมื่อเดือนมิถุนายน 2522 โดยทำสัญญาซื้อขายกันในราคา 1,050,000 บาท ชำระราคาเป็นงวด ๆ งวดแรกชำระ150,000 บาท งวดที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2522 ชำระ 200,000 บาทงวดที่ 3 เดือนสิงหาคม 2522 ชำระ 200,000 บาท รวม 550,000 บาทงวดสุดท้ายวันที่ 12 กันยายน 2522 ชำระ 500,000 บาท พร้อมทั้งจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า จะสั่งเพิกถอนการโอนได้หรือไม่ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่าเป็นการโอนโดยไม่สุจริตและมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงนั้น เห็นว่าการโอนทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในระหว่าง 3 ปี ก่อนล้มละลายนั้นพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนต้องแสดงให้ศาลพอใจว่าการโอนนั้นได้กระทำโดยสุจริต และมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านจึงจะต่อสู้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมให้เพิกถอนการโอนได้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ต้องนำสืบแสดงความไม่สุจริตของผู้รับโอนผู้คัดค้านรับว่า ได้ตกลงซื้อที่ดินทั้ง 4 โฉนด ที่พิพาทกันในคดีนี้ในราคา 1,050,000 บาท แต่ผู้คัดค้านนำสืบโดยมีภาพถ่ายเช็คตามเอกสารหมาย ป.ร.1 จำนวนเงิน 500,000 บาท มาแสดงว่าเป็นการชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 12 กันยายน 2522 ที่ได้จดทะเบียนซื้อขายเท่านั้น ได้พิเคราะห์ประกอบภาพถ่ายบัญชีกระแสรายวัน ตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วรับฟังได้ตามที่นายแสงพยานผู้คัดค้านเบิกความว่า เป็นการสั่งจ่ายเช็คมาซื้อดราฟต์จำนวน 500,000 บาทจากธนาคารมหานคร จำกัดสาขาพระโขนง แล้วนำไปชำระให้จำเลยในวันที่ 12 กันยายน 2522ส่วนการชำระเงินงวดแรก งวดที่ 2 และงวดที่ 3 ให้จำเลยรวม550,000 บาทนั้นผู้คัดค้านไม่สามารถนำสืบแสดงให้รับฟังได้ว่ามีการชำระเงินจำนวน 550,000 บาทให้จำเลย ผู้คัดค้านคงมีแต่ตัวผู้คัดค้าน และนายแสงเบิกความเป็นพยานจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อเพราะการชำระเงินจำนวนมาก ๆ ผู้คัดค้านน่าจะต้องมีหลักฐานที่จำเลยลงลายมือชื่อรับเงินมาแสดง นายแสงเป็นพ่อค้าประกอบการค้าขายมานาน ถ้าไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาแสดงอย่างน้อยก็ต้องมีภาพถ่ายเช็คสั่งจ่ายระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินประกอบบัญชีกระแสรายวันแสดงจำนวนเงินที่จ่าย นอกจากนี้ที่ผู้คัดค้านนำสืบด้วยว่าได้มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท 4 โฉนดกับจำเลย แต่ไม่สามารถนำมาสืบแสดงได้เพราะย้ายบ้านหาไม่พบนั้นก็ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าราคาซื้อขายที่เป็นจริงนั้น 1,050,000 บาท แต่ผู้คัดค้านชำระราคาให้จำเลยในวันจดทะเบียนโอนเพียง 500,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่เป็นจริง ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้ร้องไม่ได้นำสืบราคาที่แท้จริงแต่ผู้คัดค้านนำสืบราคาประเมินของเจ้าพนักงานซึ่งเป็นราคากลางของทางราชการได้ซึ่งมีราคาเพียง 346,375 บาทนั้น เห็นว่าคดีรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านและจำเลยตกลงซื้อขายกันในราคา 1,050,000บาท จึงต้องถือว่าราคา 1,050,000 บาท เป็นราคาแท้จริงที่ซื้อขายกัน ส่วนราคาประเมินของทางราชการนั้นถือไม่ได้ว่าเป็นราคาที่ซื้อขายกันแท้จริง นายแสงบิดาผู้คัดค้านกับจำเลยผู้ล้มละลายได้ติดต่อการค้ากันมานานถึง 10 ปี และที่ดินทั้ง 4 โฉนดตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ป.ร.2, ป.ร.3, ป.ร.4 และ ป.ร.5มีรายการจดทะเบียนติดจำนองมาตลอด ดังนี้นายแสงและผู้คัดค้านย่อมอยู่ในฐานะที่จะรู้ดีว่าจำเลยเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่แล้วที่ผู้คัดค้านปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าจำเลยมีหนี้สินมากนั้นไม่น่าเชื่อเพราะจำเลยได้โอนที่ดินให้ผู้คัดค้านคราวเดียวกันถึง 4 แปลงผู้คัดค้านนำสืบฟังไม่ได้ว่าได้รับโอนไว้โดยสุจริต เพราะฉะนั้นที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้คัดค้านรับโอนทรัพย์มาในราคา 500,000 บาทสูงกว่าราคากลางของเจ้าพนักงานนั้น จึงไม่เป็นข้อที่รับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต ศาลมีอำนาจเพิกถอนการโอนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 คำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดที่ 6052, 6053, 6054และ 6055 ตำบลบางวัว อำเภอบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทราระหว่าง นางแตงอ่อน ตันไพบูลย์ ลูกหนี้ (จำเลย) กับนางสาวกิตติยา อัศวดิลกชัย ผู้คัดค้าน (ผู้รับโอน) และให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องขอเพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ”

Share