คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้กำหนดวันและจำนวนหนี้ที่ต้องชำระไว้แน่นอนเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ปฎิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษาโจทก์มีอำนาจที่จะบังคับคดีในยอดเงินที่จำเลยค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยได้ทันทีแม้ว่าหลังผิดนัดไม่กี่วันจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์และงวดต่อไปก็ชำระให้โจทก์ตรงตามคำพิพากษาก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้ผิดนัดโจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้ถ้าทรัพย์ที่ยึดเป็นของธ. ก็เป็นเรื่องของธ. ผู้ได้รับความเสียหายที่จะดำเนินการตามสิทธิของตนที่มีอยู่มิใช่เป็นเรื่องของจำเลยที่จะมาร้องขอให้เพิกถอนการยึด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาทแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระตามจำนวนที่กำหนดเป็นรายเดือนทุกวันที่15 ของเดือน จนครบถ้วน ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2537 โจทก์ยื่นคำขอหมายบังคับคดีและศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 74909 พร้อมสิ่งปลูกสร้างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนทุกงวดตามคำพิพากษาและโจทก์ได้รับเงินไปแล้วโดยมิได้บอกปัดไม่รับชำระหนี้ ที่โจทก์ขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดก็มิใช่ของจำเลย ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ ดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยผิดนัดชำระเงินตามคำพิพากษาในงวดวันที่ 15 มกราคม 2537 โจทก์จึงบังคับคดีแก่จำเลยได้ตามคำพิพากษา ทรัพย์สินที่ยึดไว้เป็นสินสมรสของจำเลยกับนายธเนศ เวชสกัยจึงไม่มีเหตุจะเพิกถอนการยึด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า ตามคำร้องและคำคัดค้านเห็นว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ (ที่ถูกเป็นผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษา) แล้ว และข้ออ้างของจำเลยไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะเพิกถอนการยึดทรัพย์ ให้ยกคำร้อง
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำพิพากษาที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า จำเลยจะผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนทุกวันที่ 15 ของเดือน ช่วง 3 เดือนแรก คือเดือนธันวาคม2536 เดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2537 เดือนละ 10,000 บาทปรากฎตามเอกสารแนบท้ายคำร้องของจำเลยว่าจำเลยได้ชำระเดือนแรกวันที่ 15 ธันวาคม 2536 เป็นเงิน 10,000 บาท ถูกต้องตามคำพิพากษาในเดือนต่อไปต้องชำระในวันที่ 15 มกราคม 2537จำนวน 10,000 บาท ในเดือนนี้จำเลยมิได้ชำระในวันที่ 15 มกราคม2537 แต่จำเลยชำระในวันที่ 20 มกราคม 2537 เป็นเงิน 5,000 บาทและวันที่ 24 มกราคม 2537 เป็นเงินอีก 5,000 บาท รวมเป็นเงิน10,000 บาท และเดือนต่อไปวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยชำระให้โจทก์ครบถ้วนตามคำพิพากษา กรณีเช่นนี้เห็นได้ว่าคำพิพากษาได้กำหนดวันและจำนวนหนี้ที่ต้องชำระไว้แน่นอน เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในกำหนดถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัด ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษา โจทก์มีอำนาจที่จะบังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินที่จำเลยค้างชำระพร้อมด้วยดอกเบี้ย แม้ว่าหลังจากผิดนัดไม่กี่วันจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ และงวดต่อไปก็ชำระหนี้ให้โจทก์ตรงตามคำพิพากษาก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้ผิดนัด โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้ ส่วนทรัพย์ที่ยึดแม้จะมีชื่อนายธเนศ เวชสกัย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายงานการยึดอ้างว่าเป็นสินสมรสในชั้นนี้จึงไม่แน่นอนว่าจำเลยจะไม่มีส่วนอยู่ด้วย และถ้าเป็นของนายธเนศจริงก็เป็นเรื่องของนายธเนศผู้ได้รับความเสียหายที่จะดำเนินการตามสิทธิของตนที่มีอยู่มิใช่เป็นเรื่องของจำเลยจะมาร้องขอให้เพิกถอนการยึด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
นอกจากนี้จำเลยอ้างในฎีกาว่า ขณะที่ยื่นฎีกาวันที่ 4 พฤษภาคม2538 จำเลยได้ผ่อนชำระให้โจทก์รวม 17 งวด เป็นเงิน 240,000 บาทคงเหลือ 60,000 บาท และในวันที่ 2 ตุลาคม 2538 จำเลยยื่นคำร้องว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ถอนการยึดทรัพย์ เห็นว่า ปัญหานี้เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจำเลยยื่นฎีกาทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษา ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะทำคำวินิจฉัยชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 วรรคแรกจำเลยจะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยตรงมิได้ จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น จึงให้ยกคำร้อง”
พิพากษายืน

Share