แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยอ้างว่าขณะจดทะเบียนจำนองจำเลยทั้งสองทราบแล้วว่าศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ขณะจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองทราบคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วอันเป็นการกระทำไม่สุจริตหรือไม่แม้โจทก์จะนำสืบข้อเท็จจริงว่าการจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองมีวงเงิน ถึง 1,000,000 บาท สูงเกินไปเพราะเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคา ที่ดินพิพาทเพียง 159,930 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่สุจริต นั้น ก็เป็นการนำสืบนอกฟ้องและนอกประเด็น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยด้วย เป็นการมิชอบ ปัญหาข้อนี้จึงเป็น ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 883/2535 ของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7180 ตำบลในเมืองอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ให้แก่โจทก์ โดยปลอดจากจำนอง หากจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่เหลือจำนวน 142,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2538 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 จำเลยทั้งสองได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 แก่จำเลยที่ 2 ในวงเงิน 1,000,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองทราบดีว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากโจทก์นำที่ดินดังกล่าวให้บุคคลอื่นเช่า จะได้ค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 110,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 เป็นโมฆะและให้เพิกถอนเสียกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 110,000 บาท และอีกเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2538 จำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 โดยไม่ทราบคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยทั้งสองกระทำโดยสุจริต ขณะจดทะเบียนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์มิได้แจ้งอายัดที่ดิน การจำนองชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ โจทก์ไม่เสียหายที่ดินพิพาทหากนำไปให้บุคคลภายนอกเช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
ระหว่างระยะเวลายื่นฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัดยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ตามสัญญาความร่วมมือตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินระหว่างจำเลยที่ 2 กับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542 และพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 มาตรา 7 ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาเพียงประการเดียวว่า การจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีวงเงินถึง 1,000,000 บาท สูงเกินไป เพราะเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาที่ดินพิพาทเพียง 159,930 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่สุจริตนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างเหตุในฟ้องว่า ขณะที่มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 จำเลยทั้งสองทราบคำพิพากษาศาลฎีกาลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2538 แล้วว่า ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด และจำเลยทั้งสองก็ให้การต่อสู้ว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2538 ขณะที่มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองยังไม่ทราบคำพิพากษาศาลฎีกา คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าขณะที่มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสองทราบคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วอันเป็นการกระทำไม่สุจริตหรือไม่ หามีประเด็นตามที่โจทก์ฎีกาด้วยไม่ แม้โจทก์จะนำสืบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวในศาลชั้นต้น ก็เป็นการนำสืบนอกฟ้องและนอกประเด็น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยด้วยเป็นการมิชอบฎีกาโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาโจทก์