คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2064/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม มาตรา 25 แห่ง พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475ซึ่งเป็นของอธิบดีกรมสรรพากรตกมาเป็นของคณะเทศมนตรีตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และ พระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ.2497

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษี 16,131.50บาท กับดอกเบี้ย จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้ประเมินภาษีโรงเรือนใหม่

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้รับแจ้งการประเมินให้นำเงินค่าภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2509 พ.ศ. 2510และ พ.ศ. 2511 ไปชำระ จำเลยไม่พอใจการประเมินจึงยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากร ขอให้พิจารณาการประเมินอีกครั้งหนึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้มอบเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีโรงเรือน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีโรงเรือนได้ประชุมพิจารณาคำร้องของจำเลยแล้วมีมติว่า อุทธรณ์ของจำเลยยื่นผิดตัว แม้จะฟังว่ายื่นต่อคณะเทศมนตรีถือว่ายื่นถูกต้อง แต่ก็ขาดยื่นอุทธรณ์ จึงไม่รับอุทธรณ์ต่อมาคณะเทศมนตรีเทศบาลนครธนบุรีได้มีมติรับทราบและเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีโรงเรือน จำเลยฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 มาตรา 25 อำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่เป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร จำเลยได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรแล้ว แต่มีบุคคลอื่นมาชี้ขาดคำร้องของจำเลย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายพิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 มาตรา 4 บัญญัติว่า ภาษีโรงเรือนและที่ดินในเขตเทศบาลใดให้เทศบาลนั้นจัดเก็บเป็นรายได้ของเทศบาล ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 36 บัญญัติว่า ให้มีเทศมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกเทศมนตรีคนหนึ่ง และเทศมนตรีอื่นมีจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 39 วรรคแรกบัญญัติว่า ให้คณะเทศมนตรี ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นว่า อำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 ว่าเป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรนั้น ได้ตกมาเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของคณะเทศมนตรี หาใช่อำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร ต่อไปไม่ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 860/2520 ระหว่าง นายแม้น ศรีรัฐ โจทก์ เทศบาลนครหลวง กับพวก จำเลย”

พิพากษายืน

Share