คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยใช้เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินรวมกันมา กับให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์ที่จำนองซึ่งโจทก์ชำระแทนจำเลยไปก่อน และมีคำขอให้บังคับจำนอง ซึ่งตามสัญญาจำนองระบุว่า จำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่ในเวลานี้หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้า โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าทรัพย์รายใดประกันหนี้ประเภทใด เป็นจำนวนเท่าใด การที่ศาลจะพิพากษาบังคับจำนองได้หรือไม่เพียงใด จำต้องพิจารณาก่อนว่าลูกหนี้ตามสัญญาแต่ละฉบับเมื่อรวมกันแล้วมียอดหนี้เป็นจำนวนเท่าใด มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงชอบที่จะนำมูลหนี้ตามสัญญาทุกฉบับมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องเป็นคดีเดียวกันและชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) ก. ได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องข้อหากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินออกเป็นแต่ละคดี กับให้เสียค่าขึ้นศาลตามรายคดีที่แยกฟ้องโดยอ้างเหตุผลว่าการรวมพิจารณาข้อหาเหล่านี้ด้วยกันจะเป็นการไม่สะดวก โดยศาลชั้นต้นไม่ได้ฟังคู่ความทุกฝ่ายก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 29 วรรคสอง และมีผลให้โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นโดยไม่ควรจะต้องเสียย่อมเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การสั่งให้โจทก์แยกฟ้องแต่ละข้อหาออกเป็นแต่ละคดี กับให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคดีที่แยกฟ้องรวมทั้งการที่ศาลชั้นต้นอาศัยเหตุที่โจทก์ไม่ดำเนินการแยกฟ้องตามคำสั่งศาลดังกล่าวแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบไปด้วย
โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เพราะเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มิได้แก้ไขมานั้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่เมื่อปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย และเห็นสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยในคดีนี้จากธนาคารกรุงเไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2531 จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 208-6-04666-9 กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาศรีราชา และให้ใช้บัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัดต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2532 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 3,300,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี กำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วจำเลยได้ขอต่อสัญญาออกไปอีก 5 ครั้ง จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2535 จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 208-6-05716-4 กับกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาศรีราชา และให้ใช้บัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัด ในวันเดียวกันจำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 5,900,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปี กำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วจำเลยได้ขอต่อสัญญาออกไปอีก 3 ปี จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 หลังจากทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับแล้ว จำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีตลอดมาเมื่อหักทอนบัญชีแล้ว ปรากฏว่า ณ วันที่ 31 มกราคม 2541 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 208-6-04666-9 เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทบต้นจำนวน 3,595,658 บาท และดอกเบี้ยอัตราต่าง ๆ ไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 23 มกราคม 2544) เป็นเงิน 2,764,913.24 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 9,956,229.24 บาท และ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 208-6-05716-4 เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทบต้นจำนวน 6,163,786.78 บาท และดอกเบี้ยอัตราต่าง ๆ ไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,536,444.44 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 16,864,198 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2539 และวันที่ 30 เมษายน 2540 จำเลยทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 5,000,000 บาท และ 25,000,000 บาท กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาศรีราชา อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 48,951,780.82 บาท จำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 17059, 17060, 17947, 35025 และ 48050 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเลขที่ 13 หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 381, 512, 561, 563 ถึง 582, 664, 678 และ 717 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันหนี้ที่มีอยู่แล้วและจะมีขึ้นในภายหน้าพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้ไม่พอชำระหนี้ จำเลยยินยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ และจำเลยยินยอมให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เอาประกันภัยหลักทรัพย์ที่จำนอง โดยธนาคารดังกล่าวเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์เพื่อนำไปหักชำระหนี้ของจำเลยได้ และยอมให้ธนาคารต่ออายุสัญญาประกันภัยไปจนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยให้ธนาคารชำระค่าเบี้ยประกันภัยแล้วเรียกเก็บจากจำเลย ธนาคารได้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลย 2 ครั้ง เป็นเงิน 860.28 บาท แต่จำเลยไม่ชำระค่าเบี้ยประกัน จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารได้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 925.24 บาท ณ วันฟ้องจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจากบัญชีกระแสรายวันทั้งสองบัญชี 19,519,069.56 บาท หนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน 48,951,780.82 บาท และหนี้เบี้ยประกันภัย 925.24 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 75,773,133.30 บาท
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด
ศาลชั้นต้นกำหนดให้มีการชี้สองสถานหรือนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 14 มิถุนายน 2544 ครั้นถึงวันนัดศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้ข้อหาตามคำฟ้องจะเป็นการขอสินเชื่อจากธนาคารซึ่งเกี่ยวข้องกัน แต่การพิจารณาข้อหาเหล่านี้เข้าด้วยกันนั้นไม่สะดวก อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 วรรคสอง จึงมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องข้อหากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินออกเป็นแต่ละคดี โดยเสียค่าขึ้นศาลตามรายคดีที่แยกฟ้อง ส่วนข้อหาบัญชีเดินสะพัดคดีนี้ให้โจทก์เรียงฟ้องมาใหม่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับข้อหานี้ ทั้งนี้โจทก์ดำเนินการภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำสั่งให้แยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ จึงไม่รับอุทธรณ์ ค่าขึ้นศาลให้เป็นพับ
วันที่ 19 กรกฎาคม 2544 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งให้แยกฟ้องไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “เห็นว่าโจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง โจทก์จะฎีกาต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง คดีนี้ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยใช้เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด แต่สัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินรวมกันมา กับให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์ที่จำนองซึ่งโจทก์ชำระแทนจำเลยไปก่อน และมีคำขอให้บังคับจำนองแก่ทรัพย์ที่จำเลยนำมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งตามสำเนาสัญญาจำนองระหว่างโจทก์และจำเลยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 16 ถึง 21 ระบุว่า จำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่ในเวลานี้อยู่ในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้า โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าทรัพย์รายใดประกันหนี้ประเภทใด เป็นจำนวนใด การที่ศาลจะพิพากษาบังคับจำนองได้หรือไม่เพียงใด จำต้องพิจารณาก่อนว่าลูกหนี้ตามสัญญาแต่ละฉบับเมื่อรวมกันแล้วมียอดหนี้เป็นจำนวนเท่าใด มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องในคดีนี้จึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงชอบที่จะนำมูลหนี้ตามสัญญาทุกฉบับมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องเป็นคดีเดียวกันและชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1) ก. ได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2543 คดีระหว่าง ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามชัยการทอ 1991 กับพวก จำเลย หากศาลชั้นต้นซึ่งมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้นั้น จะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไปย่อมจะเป็นการสะดวก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องข้อหากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินออกเป็นแต่ละคดี กับให้เสียค่าขึ้นศาลตามรายคดีที่แยกฟ้องโดยอ้างเหตุผลว่าการรวมพิจารณาข้อหาเหล่านี้ด้วยกันจะเป็นการไม่สะดวก โดยศาลชั้นต้นไม่ได้ฟังคู่ความทุกฝ่ายก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 วรรคสอง และมีผลให้โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นโดยโจทก์ไม่ควรจะต้องเสียจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ มีผลทำให้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การสั่งให้โจทก์แยกฟ้องแต่ละข้อหาออกเป็นแต่ละคดี กับให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคดีที่แยกฟ้อง รวมทั้งการที่ศาลชั้นต้นอาศัยเหตุที่โจทก์ไม่ดำเนินการแยกฟ้องตามคำสั่งศาลดังกล่าวแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบไปด้วย นอกจากนี้เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เพราะเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มิได้แก้ไขมานั้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ปัญหาที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบดังกล่าวมานั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย และเห็นสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์ กับยกคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 14 มิถุนายน 2544 ที่ให้โจทก์แยกฟ้องข้อหากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินออกเป็นแต่ละคดี โดยเสียค่าขึ้นศาลตามรายคดีที่แยกฟ้อง และให้โจทก์เรียงคำฟ้องในข้อหาบัญชีเดินสะพัดมายื่นใหม่ภายใน 15 วัน ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 ที่สั่งจำหน่ายคดีโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ.

Share