คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9508/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยดำเนินการผลิตและเสนอข่าวโทรทัศน์ให้แก่โจทก์โดยมีสัญญาข้อ8ระบุว่า”เนื่องจากผู้ว่าจ้าง(โจทก์)เป็นรัฐวิสาหกิจที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลระเบียบของทางราชการและกฎหมายดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆนอกเหนืออำนาจของผู้ว่าจ้างเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานี้ต่อไปอีกได้คู่สัญญาตกลงจะทำการเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาในทางที่จะเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายหากการเจรจาได้ล่วงพ้นกำหนด3เดือนนับแต่วันเริ่มต้นการเจรจาแล้วยังไม่สามารถหาข้อยุติและทำความตกลงกันได้คู่สัญญาตกลงให้สัญญานี้เป็นอันเลิกแล้วต่อกันโดยต่างฝ่ายจะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องใดๆต่อกันอีก”หลังจากที่จำเลยได้เข้าทำการผลิตและเสนอข่าวตามสัญญาจ้างเหมาให้แก่โจทก์แล้วปรากฏว่าการปฏิบัติการของจำเลยได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่พนักงานในสังกัดของโจทก์จนประธานสหภาพแรงงานองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยใจความว่าเพื่อเป็นการยุติปัญหาที่จะเกิดผลกระทบต่อภาพพจน์ของโจทก์ในทางเสียหายขอให้บอกเลิกสัญญาจ้างเหมาที่โจทก์ทำกับจำเลยโดยเร็วและให้เร่งรัดปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตข่าวของโจทก์ด้วยนอกจากนั้นผู้บริหารของโจทก์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่ามีการกระทำที่ไม่สมควรในการเสนอข่าวของจำเลยจึงเสนอให้ยกเลิกสัญญาจ้างเหมาที่โจทก์ทำกับจำเลยคณะกรรมการของโจทก์จึงมีการประชุมร่วมกันกับผู้บริหารและพนักงานของโจทก์เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ที่ประชุมมีมติให้โจทก์ปฏิบัติภาระกิจในการผลิตและเสนอข่าวสารด้วยตนเองสำหรับปัญหาที่โจทก์มีอยู่กับจำเลยนั้นให้ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นธรรมตามบทบัญญัติของกฎหมายต่อไปโดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นประมวลเรื่องทั้งหมดเสนอรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลโจทก์อยู่จึงได้ทำบันทึกเสนอนายกรัฐมนตรีโดยระบุว่ามีปัญหาเนื่องจากการจัดทำและเสนอข่าวของโจทก์ยังไม่มีนโยบายที่แน่นอนและเดิมโจทก์ได้จ้างเหมาให้บริษัทเอกชนช่วยผลิตและเสนอข่าวซึ่งก่อให้เกิดปัญหามาโดยตลอดโดยเฉพาะปัญหาการจัดทำข่าวที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและทำให้โจทก์เสียผลประโยชน์โดยไม่สมควรจึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดนโยบายให้โจทก์จัดทำและเสนอข่าวด้วยตนเองและห้ามมิให้จ้างเอกชนจัดทำและเสนอข่าวขอโปรดนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและกำหนดเป็นนโยบายให้โจทก์ถือปฏิบัติต่อไปดังนั้นเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีผู้มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลในฐานะประธานกรรมการของโจทก์เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นนโยบายให้โจทก์ถือปฏิบัติเอกสารนี้มิได้ทำขึ้นเองโดยพลการแต่อาศัยข้อมูลและเหตุผลที่ได้รับมาจากพนักงานและผู้บริหารของโจทก์เองโดยตรงไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุกล่าวหาว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้างเหมาที่ทำไว้กับโจทก์จึงหาใช่เอกสารที่มีข้อความไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบควบคุมกำกับดูแลโจทก์ไม่การที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวและมีมติกำหนดเป็นนโยบายให้โจทก์จัดทำและเสนอข่าวด้วยตนเองและห้ามมิให้จ้างเอกชนจัดทำและเสนอข่าวอีกต่อไปย่อมเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะกระทำได้และผูกพันผู้บริหารของโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะต้องปฏิบัติตามการที่ผู้อำนวยการโจทก์มีหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้จำเลยทราบและกำหนดให้มีการเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมา8ดังกล่าวข้างต้นและตามนโยบายของรัฐบาลหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือทำผิดสัญญาไม่ ข้อสัญญาข้อ8ดังกล่าวเป็นเงื่อนไขบังคับหลังของสัญญาจ้างเหมาหากมีเหตุการณ์ใดที่นอกเหนืออำนาจของโจทก์ผู้ว่าจ้างเกิดขึ้นทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานี้ต่อไปอีกได้ก็ให้มีการเจรจากันระหว่างคู่สัญญาหากตกลงกันไม่ได้ภายในระยะเวลา3เดือนนับแต่วันเริ่มต้นเจรจาแล้วให้สัญญาจ้างเหมาสิ้นสุดลงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้โจทก์จัดทำและเสนอข่าวด้วยตนเองและห้ามมิให้จ้างเอกชนจัดทำและเสนอข่าวอีกต่อไปถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่นอกเหนืออำนาจของโจทก์ทำให้โจทก์ผู้ว่าจ้างไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาต่อไปอีกได้เป็นกรณีที่เงื่อนไขสำเร็จแล้วโจทก์จึงได้นัดให้มีการเจรจาตกลงกันในวันที่8กุมภาพันธ์2532ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นการเจรจาหากภายในกำหนด3เดือนนับแต่วันดังกล่าวโจทก์จำเลยยังไม่อาจตกลงกันได้สัญญาจ้างเหมาย่อมสิ้นผลระยะเวลา3เดือนแม้จะเป็นเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ให้สัญญาสิ้นสุดแต่ถึงอย่างไรนิติกรรมสัญญาจ้างเหมาก็ต้องสิ้นสุดลงเพราะเงื่อนไขบังคับหลังได้สำเร็จแล้วดังกล่าวข้างต้นโจทก์ย่อมไม่อาจสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเพื่อให้สัญญามีผลต่อไปได้เพราะจะเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีทั้งการที่มีการนัดเจรจาครั้งสุดท้ายในวันที่25พฤษภาคม2532แต่โจทก์ไม่ยอมเจรจาโดยแจ้งว่าสัญญาจ้างเหมาสิ้นสุดแล้วแต่วันที่8พฤษภาคม2532ก็ดีและโจทก์เรียกร้องค่าใช้เครื่องมือและอุปกรณ์จากจำเลยจนถึงวันที่8พฤษภาคม2532อันเป็นวันสุดท้ายที่สัญญาดังกล่าวมีผลบังคับก็ดีล้วนเป็นการแสดงว่าโจทก์หาได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาที่ให้สัญญาสิ้นสุดลงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาไม่อีกทั้งจำเลยเองก็ยอมรับว่าโจทก์ต้องการให้สัญญาจ้างเหมาสิ้นผลโดยเร็วเพื่อจะได้ไม่ต้องจ้างจำเลยต่อไปดังนั้นพฤติการณ์ยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาแล้ว ตามสัญญาข้อ8ภายหลังที่เงื่อนไขสำเร็จแล้วคงกำหนดเพียงให้คู่สัญญาทำการเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาในทางที่จะก่อให้เกิดข้อตกลงที่เป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายเท่านั้นหาได้บังคับให้คู่สัญญาต้องทำความตกลงกันแต่อย่างใดไม่การบรรลุข้อตกลงกันระหว่างคู่สัญญาจะต้องเป็นการเห็นพ้องร่วมกันทั้งสองฝ่ายการที่ฝ่ายหนึ่งยื่นข้อเสนอแต่อีกฝ่ายไม่ยอมรับย่อมไม่อาจถือเป็นข้อยุติหรือข้อตกลงระหว่างกันได้และจะถือว่าฝ่ายที่ไม่ยอมรับข้อเสนอใช้สิทธิไม่สุจริตหาได้ไม่เว้นแต่จะปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งเช่นนั้นซึ่งในกรณีนี้ปรากฏว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยยื่นข้อเสนอมาว่าเสียหายเป็นตัวเงินเท่าใดเพื่อพิจารณาแต่จำเลยต้องการให้โจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าเวลาเพื่อทำรายการต่อไปเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีหลักการไม่ตรงกันข้อตกลงจึงไม่เกิดขึ้นหาใช่โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตกลั่นแกล้งจำเลยไม่เมื่อการเจรจาได้ล่วงพ้นกำหนด3เดือนโดยไม่สามารถตกลงกันได้เช่นนี้สัญญาจ้างเหมาจึงต้องเลิกกันตามสัญญาข้อ8

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2528 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยให้คำปรึกษาปรับปรุงและผลิตรายการข่าวโทรทัศน์และเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2529 ได้แก้ไขสัญญาเพิ่มเติมครั้งที่ 1สรุปใจความสำคัญได้ว่า จำเลยเป็นผู้รับจ้างให้คำปรึกษาแนะนำให้ความเห็นเพื่อปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิตและเสนอข่าวโทรทัศน์ของโจทก์ ตลอดจนฝึกพนักงานและลูกจ้างของโจทก์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการผลิตและเสนอข่าวโทรทัศน์ตามที่โจทก์ร้องขอรวมทั้งปรับปรุงและเสนอรายการข่าวโทรทัศน์ภาคเช้าของโจทก์ช่วงระหว่างเวลา 6 ถึง 6.30 นาฬิกา ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2528 ถึงวันที่15 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันสิ้นอายุสัญญา จำเลยสัญญาว่าจะใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ และจะปฏิบัติตามนโยบายและความประสงค์ที่โจทก์กำหนดโดยเคร่งครัด และเนื่องจากโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลหากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นอกเหนืออำนาจของผู้ว่าจ้าง เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ คู่สัญญาตกลงเจรจาแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย หากพ้นกำหนด 3 เดือนนับแต่เริ่มเจรจากันยังไม่สามารถตกลงกันได้ให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน ต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม2532 ให้โจทก์จัดทำและเสนอข่าว ห้ามมิให้จ้างเอกชนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นนโยบายรัฐบาล ทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้จึงตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจากับจำเลยรวม7 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2532 ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2532แต่ตกลงกันไม่ได้ ถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2532จำเลยไม่ชำระค่าตอบแทนการใช้เครื่องมืออุปกรณ์แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2532 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2532 รวม94 วัน วันละ 7,500 บาท เป็นเงิน 705,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉยจึงคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 2 มิถุนายน 2532 ถึงวันฟ้องรวม 218 วันเป็นเงิน 31,725 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 736,725 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 736,725 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 705,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง กับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจและไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยชำระค่าตอบแทนการใช้อุปกรณ์ตามที่โจทก์อ้างเนื่องจากสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2532ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2532 จำเลยมิได้ขอใช้และมิได้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ของโจทก์ จึงมิต้องชำระค่าตอบแทนตามที่โจทก์ฟ้องการที่โจทก์ปฏิเสธไม่รับข่าวจากจำเลย ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2532โดยอ้างเหตุว่าเลิกสัญญากันแล้วนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างของโจทก์และเกิดจากโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการบอกเลิกสัญญา โดยมีการวางแผนเป็นขั้นตอนตามลำดับคือ ประมาณปลายปี 2531ประธานกรรมการบริหารและผู้อำนวยการโจทก์ กล่าวอ้างทางสื่อมวลชนว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นโจทก์เสียเปรียบต่อมามีการกล่าวหาว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาเสนอข่าวที่กระทบต่อความมั่นคงความสามัคคี และต่อศีลธรรมอันดีแสวงหาผลประโยชน์ในการโฆษณาเชิงข่าวเสนอข่าวกล่าวหาผู้บริหารโจทก์และไม่ฝึกฝนพัฒนาบุคลากรโจทก์ ซึ่งไม่เป็นความจริง จากนั้นคณะกรรมการบริหารโจทก์มีมติให้โจทก์จัดทำข่าวและเสนอข่าวเองและนำเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติตามที่โจทก์เสนอแล้วโจทก์นำมตินั้นมาเป็นข้อกล่าวอ้างเพื่อเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยโจทก์วางแผนเป็นขั้นตอน และโจทก์มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์โดยนำสิทธิในการลงโฆษณาที่จำเลยได้สิทธิอยู่นั้นไปขายให้แก่บุคคลภายนอกเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โจทก์จึงอาศัยเป็นเหตุอ้างว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งโจทก์ต้องทำตามและเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ สัญญาจะต้องเลิกกันภายใต้เงื่อนไขสัญญาข้อ 8 ซึ่งกำหนดให้คู่สัญญาเจรจากันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมภายใน 3 เดือนหากตกลงกันไม่ได้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน โดยเริ่มเจรจากันเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2532 ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2532 ข้อเสนอของจำเลยทุกข้อ โจทก์ไม่เสียเปรียบและสามารถตกลงได้เองโดยลำพังแต่โจทก์มีเจตนาประวิงมิให้บรรลุข้อตกลงในกำหนด 3 เดือนจึงจงใจปฏิเสธข้อเสนอของจำเลยทุกข้อ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับข่าวจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2532 โดยอ้างเหตุจากการบอกเลิกสัญญาโดยการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังกล่าว ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายเลิกสัญญาก่อนกำหนดระยะเวลาที่สัญญากำหนดไว้โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์กับจำเลยยังได้เจรจากันครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม2532 ซึ่งพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันเริ่มเจรจากันซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของโจทก์ ถือว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาข้อ 8 ตามที่ตกลงในการเจรจาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2532การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับข่าวจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม2532 โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายสูญเสียรายได้ที่จะได้รับตามปกติ หากปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วน จำเลยจะมีรายได้จากการโฆษณาในรายการข่าวโทรทัศน์ภาคค่ำของโจทก์วันละ 5 นาที 30 วินาที อัตราค่าโฆษณานาทีละ 38,000 บาทตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2532 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2532 เป็นเวลา237 วันคำนวณได้ 1,303.5 นาที เป็นเงินรายได้ที่จะได้รับ49,533,000 บาท และรายได้จากค่าโฆษณาวันละ 5 นาที 30 วินาทีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2533 เป็นเวลา319 วัน รวมเวลา 1,754.5 นาที ซึ่งจำเลยขอคิดค่าโฆษณานาทีละ 45,125 บาท รวมเป็นเงินรายได้ที่จะได้รับ79,171,812.50 บาท รวมทั้งสิ้น 128,704,812.50 บาทซึ่งโจทก์ต้องชำระแก่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ให้ชดใช้เงิน 128,704,812.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย แต่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตามเงื่อนไขในข้อ 8 โจทก์ มิได้วางแผนสร้างเรื่องให้คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่จำเลยอ้าง อีกทั้งไม่เคยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แม้จำเลยจะทำผิดสัญญาเสนอข่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลส่งผลถึงความมั่นคงและความสามัคคีของชนในชาติ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีผู้บริหารของโจทก์ก็มิเคยกล่าวอ้างข้อความดังกล่าวต่อสื่อมวลชน ไม่เคยสร้างเรื่องเพื่อบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดและไม่เคยบอกเลิกสัญญาโจทก์มิใช่บริษัทเอกชนแต่เป็นหน่วยงานของรัฐ การบริการกิจการต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของทางราชการ มีคณะกรรมการบริหารประชุมปรึกษาและลงมติโดยสุจริตและเปิดเผยการมีมติห้ามจ้างเอกชนจัดทำข่าวเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ และโจทก์มีอำนาจกำหนดนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและมีผลห้ามเอกชนทุกราย มิได้จำกัดห้ามเฉพาะเจาะจงเพียงจำเลยเท่านั้นและมิใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยการนำสิทธิในการโฆษณาไปขายแก่บุคคลภายนอก การลงมติของคณะรัฐมนตรีเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี มิใช่เพราะหลงเชื่อผู้ใดหรือสำคัญผิดข้อเท็จจริงและโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลการแจ้งมติคณะรัฐมนตรีที่ให้โจทก์จัดทำข่าวเอง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตทั้งโจทก์จัดให้มีการเจรจากันตามเงื่อนไขในสัญญาโดยเริ่มเจรจา เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2532 ถึงวันที่25 พฤษภาคม 2532 โจทก์ไม่ผิดสัญญาและไม่เคยประวิงเวลาในการเจรจา เนื่องจากข้อเสนอของจำเลยขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีอีกทั้งจะมีผลกระทบต่อเอกชนรายอื่นที่ได้สิทธิในช่วงเวลาที่จำเลยขอนอกจากนั้นโจทก์เสนอให้จำเลยคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงินแต่จำเลยไม่ยอมรับค่าเสียหายเป็นตัวเงิน โจทก์ไม่เคยเสนอให้เจรจาโดยไม่มีกำหนด คงให้การเจรจามีต่อไปได้แต่หากไม่ตกลงภายใน 3 เดือน นับแต่เริ่มเจรจาถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน โจทก์มิได้สละประโยชน์จากเงื่อนเวลาตามที่จำเลยอ้าง ความเสียหายตามที่จำเลยอ้างเป็นค่าเสียหายในอนาคตซึ่งไม่แน่นอนเป็นเพียงความคาดคะเนของจำเลยเอง อีกทั้งอัตราค่าโฆษณาต่อนาทีมิใช่ตามที่จำเลยอ้าง โจทก์ไม่ผิดนัด จึงไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 736,725 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 705,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ และ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยให้ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิตและเสนอข่าวทั้งให้ดำเนินการผลิตและเสนอข่าวโทรทัศน์ให้แก่โจทก์ด้วย ต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีให้โจทก์จัดทำและเสนอข่าวด้วยตนเอง และห้ามมิให้จ้างเอกชนจัดทำและเสนอข่าวอีกต่อไป โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทราบรวมทั้งกำหนดให้มีการดำเนินการตามสัญญาจ้างเหมาข้อ 8โดยเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันในวันที่ 8 กุมภาพันธ์2532 ได้มีการเจรจากันรวมทั้งหมด 7 ครั้ง จำเลยได้เสนอเงื่อนไขการตกลงตามเอกสารหมาย จ.24 ผลการเจรจาไม่เป็นที่ตกลงกัน โจทก์จึงไม่รับข่าวที่จำเลยผลิตโดยถือว่าสัญญาจ้างเหมาเลิกกันแล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2532 เป็นต้นไป
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าตอบแทนการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ของโจทก์ระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์2532 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2532 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยผลิตและเสนอข่าวให้แก่โจทก์จนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2532 และการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวของจำเลยจะต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ของโจทก์ ทั้งในระหว่างนั้นพยานจำเลยเองก็รับว่าได้มีการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ของโจทก์อยู่และได้ชำระค่าใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ต่อสัปดาห์เป็นการล่วงหน้าบางส่วน ดังนั้น จำเลยจึงต้องชำระค่าใช้เครื่องมือและอุปกรณ์แก่โจทก์ตามสัญญาจนกว่าสัญญาจ้างเหมาจะสิ้นสุดลง ข้อที่จำเลยเคยทวงค่าใช้จ่ายดังกล่าวงวดสุดท้ายคืนจากโจทก์ตามรายงานการประชุมเจรจาระหว่างฝ่ายโจทก์และจำเลยเอกสารหมาย จ.26 แผ่นที่ 2 และศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นกรณีที่จำเลยชำระเกินไปโดยไม่ต้องรับผิดเพราะโจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งนั้น เห็นว่า ในรายงานการประชุมนั้นเองปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้แจ้งแก่ฝ่ายจำเลยว่าเรื่องการชำระค่าใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเลยทวงคืนดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามสัญญาตามปกติในระหว่างที่สัญญาจ้างเหมายังไม่สิ้นสุดลงคู่สัญญาจึงควรปฏิบัติต่อกันตามเงื่อนไข (ข้อ 2.5)ของสัญญา หากมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ก็ควรที่จะเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาคือจำเลยและฝ่ายบริหารของโจทก์ มิใช่หน้าที่คณะผู้แทนฝ่ายโจทก์ที่ได้รับมอบหมายให้มาเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาตามสัญญาข้อ 8 เท่านั้นกรณีดังกล่าวจึงหาใช่โจทก์จะยอมคืนค่าใช้จ่ายที่จำเลยชำระให้แก่จำเลยโดยไม่โต้แย้งไม่แต่เป็นการย้ำว่าจำเลยได้ชำระค่าใช้จ่ายนั้นตามสัญญาจ้างเหมาให้แก่โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าใช้เครื่องมือและอุปกรณ์แก่โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามสัญญาระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2532 จนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม2532 เป็นเงิน 705,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตเพื่อเลิกสัญญาจ้างเหมากับจำเลยอันเป็นการผิดสัญญาหรือไม่และสัญญาจ้างเหมาเลิกกันตามสัญญาข้อ 8แล้วหรือไม่ ซึ่งจักได้วินิจฉัยตามลำดับไป ในประเด็นแรกนั้นก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้โจทก์จัดทำและเสนอข่าวด้วยตนเองและห้ามมิให้จ้างเอกชนจัดทำและเสนอข่าวนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากที่จำเลยได้เข้าทำการผลิตและเสนอข่าวตามสัญญาจ้างเหมาให้แก่โจทก์แล้วปรากฏว่าการปฏิบัติการของจำเลยได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่พนักงานในสังกัดของโจทก์ จนประธานสหภาพแรงงานองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2531ใจความว่า เพื่อเป็นการยุติปัญหาที่จะเกิดผลกระทบต่อภาพพจน์ของโจทก์ในทางเสียหาย ขอให้บอกเลิกสัญญาจ้างเหมาที่โจทก์ทำกับจำเลยโดยเร็วและให้เร่งรัดปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตข่าวของโจทก์ด้วย ตามเอกสารหมาย จ.10 นอกจากนั้นผู้บริหารของโจทก์ได้แก่ นายถาวร นาคบุตร หัวหน้าส่วนผลิตข่าวนายสมจิตร นพคุณ และนายประสิทธิ์ หิตะนันท์ ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยต่างเห็นพ้องต้องกันว่ามีการกระทำที่ไม่สมควรในการเสนอข่าวของจำเลยจึงเสนอให้ยกเลิกสัญญาจ้างเหมาที่โจทก์ทำกับจำเลย ดังรายละเอียดในบันทึกข้อความที่นำเสนอต่อผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.12 จ.11 และ จ.13 ตามลำดับต่อมาในวันที่ 17 มกราคม 2532 คณะกรรมการของโจทก์จึงมีการประชุมร่วมกันกับผู้บริหารและพนักงานของโจทก์รวมทั้งสิ้น 33 คนเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ที่ประชุมมีมติให้โจทก์ปฏิบัติภาระกิจในการผลิตและเสนอข่าวสารด้วยตนเองสำหรับสัญญาที่โจทก์มีอยู่กับจำเลยนั้นให้ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นธรรมดาตามบทบัญญัติของกฎหมายต่อไป โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นประมวลเรื่องทั้งหมดเสนอรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง) ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.15 เมื่อมีการประมวลเรื่องเสนอขึ้นมาแล้วร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลโจทก์อยู่จึงได้ทำบันทึกเสนอนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่ามีปัญหาเนื่องจากการจัดทำและเสนอข่าวของโจทก์ยังไม่มีนโยบายที่แน่นอนและเดิมโจทก์ได้จ้างเหมาให้บริษัทเอกชนช่วยผลิตและเสนอข่าวซึ่งก่อให้เกิดปัญหามาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาการจัดทำข่าวที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและทำให้โจทก์เสียผลประโยชน์โดยไม่สมควร จึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดนโยบายให้โจทก์จัดทำและเสนอข่าวด้วยตนเอง และห้ามมิให้จ้างเอกชนจัดทำและเสนอข่าว ขอโปรดนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและกำหนดเป็นนโยบายให้โจทก์ถือปฏิบัติต่อไป ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.16 เห็นได้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีผู้มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลในฐานะประธานกรรมการของโจทก์เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นนโยบายให้โจทก์ถือปฏิบัติ เอกสารนี้มิได้ทำขึ้นเองโดยพลการ แต่อาศัยข้อมูลและเหตุผลที่ได้รับมาจากพนักงานและผู้บริหารของโจทก์เองโดยตรงไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุกล่าวหาว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้างเหมาที่ทำไว้กับโจทก์ จึงหาใช่เอกสารที่มีข้อความไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบควบคุมกำกับดูแลโจทก์ดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่ การที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว และมีมติกำหนดเป็นนโยบายให้โจทก์จัดทำและเสนอข่าวด้วยตนเองและห้ามมิให้จ้างเอกชนจัดทำและเสนอข่าวอีกต่อไปย่อมเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะกระทำได้และผูกพันผู้บริหารของโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะต้องปฏิบัติตามการที่ผู้อำนวยการโจทก์มีหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้จำเลยทราบและกำหนดให้มีการเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาระหว่างโจทก์จำเลยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2532 ตามเอกสารหมาย จ.18จึงเป็นการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาข้อ 8 และตามนโยบายของรัฐบาลไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือทำผิดสัญญาดังที่จำเลยฎีกา
สำหรับประเด็นที่ว่า สัญญาจ้างเหมาเลิกกันตามสัญญาข้อ 8แล้วหรือไม่นั้น สัญญาข้อ 8 ระบุว่า “เนื่องจากผู้ว่าจ้าง (โจทก์)เป็นรัฐวิสาหกิจที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ระเบียบของทางราชการและกฎหมาย ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นอกเหนืออำนาจของผู้ว่าจ้างเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานี้ต่อไปอีกได้ คู่สัญญาตกลงจะทำการเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาในทางที่จะเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย หากการเจรจาได้ล่วงพ้นกำหนด3 เดือน นับแต่วันเริ่มต้นการเจรจาแล้วยังไม่สามารถหาข้อยุติและทำความตกลงกันได้ คู่สัญญาตกลงให้สัญญานี้เป็นอันเลิกแล้วต่อกันโดยต่างฝ่ายจะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีก” ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเงื่อนไขบังคับหลังของสัญญาจ้างเหมา หากมีเหตุการณ์ใดที่นอกเหนืออำนาจของโจทก์ผู้ว่าจ้างเกิดขึ้นทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานี้ต่อไปอีกได้ ก็ให้มีการเจรจากันระหว่างคู่สัญญาหากตกลงกันไม่ได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันเริ่มต้นเจรจาแล้ว ให้สัญญาจ้างเหมาสิ้นสุดลง การที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้โจทก์จัดทำและเสนอข่าวด้วยตนเอง และห้ามมิให้จ้างเอกชนจัดทำและเสนอข่าวอีกต่อไปถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่นอกเหนืออำนาจของโจทก์ทำให้โจทก์ผู้ว่าจ้างไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาต่อไปอีกได้เป็นกรณีที่เงื่อนไขสำเร็จแล้ว โจทก์จึงได้นัดให้มีการเจรจาตกลงกันในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นการเจรจา หากภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันดังกล่าวโจทก์จำเลยยังไม่อาจตกลงกันได้สัญญาจ้างเหมาย่อมสิ้นผล ระยะเวลา 3 เดือนแม้จะเป็นเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ให้สัญญาสิ้นสุด แต่ถึงอย่างไรนิติกรรมสัญญาจ้างเหมาก็ต้องสิ้นสุดลงเพราะเงื่อนไขบังคับหลังได้สำเร็จแล้วดังกล่าวข้างต้น โจทก์ย่อมไม่อาจสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเพื่อให้สัญญามีผลต่อไปได้เพราะจะเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ทั้งการที่มีการนัดเจรจาครั้งสุดท้ายในวันที่25 พฤษภาคม 2532 แต่โจทก์ไม่ยอมเจรจาโดยแจ้งว่าสัญญาจ้างเหมาสิ้นสุดแล้วแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2532 ก็ดี ดังปรากฏตามบันทึกการเจรจาเอกสารหมาย จ.32 และโจทก์เรียกร้องค่าใช้เครื่องมือและอุปกรณ์จากจำเลยจนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2532 อันเป็นวันสุดท้ายที่สัญญาดังกล่าวมีผลบังคับก็ดี ล้วนเป็นการแสดงว่าโจทก์หาได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาที่ให้สัญญาสิ้นสุดลงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาไม่ อนึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่าโจทก์ต้องการให้สัญญาจ้างเหมาสิ้นผลโดยเร็วเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายจำเลยต่อไป ดังนั้นพฤติการณ์ยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาแล้วดังที่จำเลยฎีกา ที่จำเลยฎีกาต่อไปอีกว่าการที่โจทก์ไม่ยอมรับข้อเสนอของจำเลยที่ขอเช่าเวลาทำรายการต่อไปหลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้ว (ตามเอกสารหมาย จ.24) เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตพยายามบ่ายเบี่ยงและกลั่นแกล้งจำเลยนั้น เห็นว่า ตามนับแห่งสัญญา ข้อ 8 ภายหลังที่เงื่อนไขสำเร็จแล้ว คงกำหนดเพียงให้คู่สัญญาทำการเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาในทางที่จะก่อให้เกิดข้อตกลงที่เป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายเท่านั้น หาได้บังคับให้คู่สัญญาต้องทำความตกลงกันแต่อย่างใดไม่ การบรรลุข้อตกลงกันระหว่างคู่สัญญาจะต้องเป็นการเห็นพ้องร่วมกันทั้งสองฝ่าย การที่ฝ่ายหนึ่งยื่นข้อเสนอแต่อีกฝ่ายไม่ยอมรับย่อมไม่อาจถือเป็นข้อยุติหรือข้อตกลงระหว่างกันได้ และจะถือว่าฝ่ายที่ไม่ยอมรับข้อเสนอใช้สิทธิไม่สุจริตหาได้ไม่ เว้นแต่จะปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งเช่นนั้นซึ่งในกรณีนี้ปรากฏว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยยื่นข้อเสนอมาว่าเสียหายเป็นตัวเงินเท่าใดเพื่อพิจารณา แต่จำเลยต้องการให้โจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าเวลาเพื่อทำรายการต่อไป เห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีหลักการไม่ตรงกัน ข้อตกลงจึงไม่เกิดขึ้น หาใช่โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตกลั่นแกล้งจำเลยดังที่จำเลยอ้างในฎีกาไม่เมื่อการเจรจาได้ล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน โดยไม่สามารถตกลงกันได้เช่นนี้สัญญาจ้างเหมาจึงต้องเลิกกันตามสัญญาข้อ 8 สำหรับค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าโจทก์มิได้ใช้สิทธิไม่สุจริตหรือปฏิบัติผิดสัญญา แต่สัญญาเลิกกันตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างเหมาข้อ 8 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 705,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 31,725 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share