คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 434/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รายจ่ายค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าที่ดิน เป็นรายจ่ายเพื่อหารายได้จากการให้เช่าที่ดินไม่ใช่รายจ่ายที่จ่ายไปแล้วบังเกิดเป็นทุนรวมของบริษัทขึ้นมา ดังนั้น ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าที่ดิน จึงไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5)
ค่านายหน้าเป็นรายจ่ายตอบแทนในการก่อให้เกิดสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับผู้เช่า จึงเป็นรายจ่ายเพื่อหารายได้จากการให้เช่าที่ดิน ไม่ใช่รายจ่ายที่จ่ายไปแล้ว บังเกิดเป็นทุนรวมของบริษัทขึ้นมาเช่นกัน จึงไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5)
รายจ่ายค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าที่ดินและรายจ่ายค่านายหน้าดังกล่าว เป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใดย่อมถือเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น จึงต้องนำมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นทั้งหมด มิใช่นำมาเฉลี่ยรายจ่ายตามสัดส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ ที่ กค 0832/1520 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ของเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล หนังสือแจ้งภาษีเงินได้
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์จ่ายค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า รายจ่ายค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าที่ดินจำนวน 4,071,473 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน เป็นรายจ่ายต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) หรือไม่ ในปัญหานี้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าที่ดินเป็นรายจ่ายเพื่อหารายได้จากการให้เช่าที่ดิน ไม่ใช่รายจ่ายที่จ่ายไปแล้วบังเกิดเป็นทุนรอนของบริษัทขึ้นมา ดังนั้น ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าที่ดินจึงไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางในปัญหานี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า รายจ่ายค่านายหน้าในการติดต่อเช่าที่ดินจำนวน 1,500,000 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 และจำนวน 4,500,000 บาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่า ค่านายหน้าเป็นรายจ่ายตอบแทนในการก่อให้เกิดสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับผู้เช่า จึงเป็นรายจ่ายเพื่อหารายได้จากการให้เช่าที่ดิน ไม่ใช่รายจ่ายที่จ่ายไปแล้วบังเกิดเป็นทุนรอนของบริษัทขึ้นมาเช่นกัน รายจ่ายค่านายหน้าทั้งสองจำนวนดังกล่าวจึงไม่เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางในปัญหานี้ก็ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเช่นกัน
คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์จะถือเอารายจ่ายค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่ากับรายจ่ายค่านายหน้าดังกล่าวข้างต้นเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ได้เพียงใด เห็นว่า เมื่อรายจ่ายทั้งสองรายการดังกล่าวไม่เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนดังได้วินิจฉัยมาแล้ว รายจ่ายทั้งสองรายการดังกล่าวเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดย่อมถือเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น จึงต้องนำมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นทั้งหมด มิใช่นำมาเฉลี่ยรายจ่ายตามสัดส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิที่ กค 0832/1520 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ของเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ บร. 3012041/2/100080 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ของเจ้าพนักงานประเมิน คำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.3 (อธ. 1)/181/2545 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.3 (อธ. 1)/182/2545 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2545 เฉพาะในส่วนค่านายหน้าและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าที่ดิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท.

Share