คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7457/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้แต่งทนายความ โดยระบุในใบแต่งทนายความให้ ม. เป็นทนายความ และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์รวมถึงการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ซึ่งใบแต่งทนายความของโจทก์ดังกล่าวมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกแห่งกรุงโตเกียวรับรองลายมือชื่อผู้แต่งทนายความ และมีหนังสือรับรองเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น และหนังสือรับรองของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว รับรองต่อกันมาตามลำดับ อันเป็นการดำเนินการตามพิธีการแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับเอกสารที่ทำในต่างประเทศครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยทั้งสี่มิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าโจทก์แต่งตั้ง ม. ให้มีอำนาจตามที่ระบุในใบแต่งทนายความจริง เมื่อใบแต่งทนายความระบุให้ ม. มีอำนาจใช้สิทธิในการอุทธรณ์แทนโจทก์ ม. จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียงและผู้พิมพ์ได้
เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นฝ่ายชนะคดี และไม่มีส่วนได้เสียในฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีส่วนได้เสียอันจะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ประกอบกับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้มีคำขอให้บังคับโจทก์ต้องรับผิดแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกเหนือไปจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่บริษัทโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน บัญญัติว่า “ผู้ประพันธ์ ให้กินความถึงผู้แต่งเพลงดนตรี ผู้ทำหรือก่อให้เกิดซึ่งศิลปกรรม เช่น ช่างเขียน ช่างภาพหุ่น สถาปนิก ฯลฯ ด้วย” และมาตรา 10 บัญญัติว่า ผู้ประพันธ์มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำวรรกรรม วิทยาศาสตรกรรมหรือศิลปกรรมของตนเป็นภาพยนตร์แสดงให้ประชาชนดู ดังนั้นในการสร้างงานศิลปกรรมหรืองานภาพยนตร์ การมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดงานศิลปกรรมหรืองานภาพยนตร์จึงเป็นสาระสำคัญของการที่จะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มิได้ให้ความคุ้มครองสิ่งที่เป็นเพียงความคิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ร่วมสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนพิพาท เพียงการที่จำเลยที่ 2 อ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน โดยเสนอความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน อันเป็นการให้ความช่วยเหลือเสนอความคิดในฐานะที่เป็นคนรู้จักสนิทสนมกัน โดยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าได้มีการนำแนวความคิดตามที่จำเลยที่ 2 เสนอไปใช้ในการสร้างผลงานอุลตร้าแมนจริงหรือไม่ ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ลงทุนลงแรงหรือมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดผลงานอุลตร้าแมน และฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตั้งแต่เริ่มแรก
การพิจารณาว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ผลงานอุลตร้าแมนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 เป็นเอกสารปลอมหรือไม่นั้น ต้องนำประเพณีและวิธีการปฏิบัติในการทำธุรกิจเพื่อหาผลประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าอุลตร้าแมน และผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโดยผู้เชี่ยวชาญ และการหาข้อพิรุธจากข้อความที่ปรากฏในสัญญาดังกล่าว กับพยานแวดล้อมอื่นๆ มาพิจารณาประกอบกัน เช่น การที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้สิทธิตามสัญญาพิพาทแสวงหาประโยชน์จากผลงานอุลตร้าแมนในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธินับจากวันทำสัญญาพิพาทล่วงพ้นไปถึง 20 ปี แต่กลับเพิ่งกล่าวอ้างถึงสัญญาพิพาทต่อโจทก์หลังจากที่ น. ซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวถึงแก่ความตายไปแล้วประมาณ 1 ปี ในขณะที่ฝ่ายโจทก์ดำเนินการใช้สิทธิและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาโดยตลอดโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำสัญญาพิพาทมากล่าวอ้างโต้แย้ง การที่จำเลยที่ 2 ขออนุญาตใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนที่ระบุไว้ในสัญญาพิพาทต่อโจทก์อีกหลังจากทำสัญญาพิพาทแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาหลังจากที่ น. ถึงแก่ความตายไม่กี่วัน โดยไม่ได้ระบุถึงลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาท การที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในสัญญาพิพาทเปรียบเทียบกับเอกสารที่มีลายมือชื่อของ น. แล้วมีความเห็นว่า มิใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ข้อพิรุธเกี่ยวกับข้อความในสัญญาพิพาท ทั้งชื่อสัญญา ชื่อผลงานอุลตร้าแมนและรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนตอนที่ไม่ถูกต้อง การไม่กำหนดเวลาและค่าตอบแทนในการโอนลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งผิดปกติวิสัยของการทำธุรกิจ และการทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิย้อนหลังอันจะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก และผิดปกติวิสัยของการทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ เป็นต้น จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่าสัญญาพิพาทเป็นเอกสารที่ถูกทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาอาจมีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาทไม่
แม้โจทก์ฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งมาในคดีเดียวกัน แต่ในคดีส่วนอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยปราศจากความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 พิมพ์เผยแพร่สมุดภาพระบายสีภาพอุลตร้าแมนหลังจากวันที่โจทก์ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.12 หรือ จ.25 ได้ไม่นาน ซึ่งเนื้อความในเอกสารดังกล่าวระบุเกี่ยวกับการอนุญาตให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินรวมทั้งอุลตร้าแมนพิพาทด้วย แม้หนังสือดังกล่าวไม่มีผลเป็นการรับรองสิทธิของจำเลยที่ 2 แต่การทำหนังสือดังกล่าวในระหว่างที่ยังพิพาทกันเรื่องลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลชี้ขาด อาจทำให้จำเลยที่ 2 และจำเลยอื่นเข้าใจได้ว่ามีสิทธิทำซ้ำและดัดแปลงรูปภาพผลงานอุลตร้าแมน ทั้งจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิอย่างเปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสี่ เมื่อข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง และมาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ตามฟ้อง จึงไม่มีค่าปรับที่จำเลยทั้งสี่ต้องชำระตามคำพิพากษา และกรณีไม่อาจสั่งให้ของกลางตกเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนโดยเป็นผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม และสัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากผลงานอุลตร้าแมนโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องแย้งเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ได้
จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้จัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีหาใช่ผู้โอนขายหรือผู้อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดรายได้หรือผลประโยชน์จากค่าตอบแทนการโอนขายลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์และทำให้งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้อยคุณค่าลงจากจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนโดยการจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสี ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี
จำเลยที่ 4 จัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีโดยเข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมน และไม่ได้ความว่าความเข้าใจว่าตนมีสิทธิจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีของจำเลยที่ 4 เป็นไปโดยประมาทเลินเล่อ กับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้รับผลกำไรจากการนี้หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในทางแพ่งฐานกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดประโยชน์อันพึงได้รับจากการจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีออกจำหน่ายเพื่อประโยชน์ทางการค้าจากจำเลยที่ 4 ได้อีก
ค่าใช้จ่ายในการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์เสียไป เป็นผลสืบเนื่องจากการที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่อลูกค้าของโจทก์และบุคคลทั่วไป จึงถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ได้ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64
สำหรับค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วเรียกเก็บเงินจากผู้ขายหรือจำหน่ายสินค้าที่มีตัวอุลตร้าแมนนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้ร้องทุกข์ดำเนินคดี จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว และผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวคือผู้ที่ถูกจำเลยที่ 2 แจ้งความร้องทุกข์และเรียกเก็บเงินหาใช่โจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายนี้
การขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ละเว้นการกระทำต่างๆ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนพิพาทหลังจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นต้นไป เป็นเรื่องการกระทำในอนาคตซึ่งยังมิได้มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเช่นนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษและบังคับจำเลยทั้งสี่ ดังนี้
(1) ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 19, 27, 31, 61, 69, 70, 74, 75 และ 76 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, และ 137
(2) ห้ามมิให้อ้างตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวใน อุลตร้าแมน หรือ ยอดมนุษย์ ทั้งปวงตามคำฟ้อง และห้ามมิให้ทำสัญญามอบสิทธิหรือลิขสิทธิ์ใน อุลตร้าแมน หรือ ยอดมนุษย์ ทั้งปวงเหล่านี้ให้แก่บุคคลอื่น
(3) ให้มีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนสัญญาหรือข้อผูกพันที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำกับบุคคลภายนอกทุกราย
(4) ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันและแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ดังต่อไปนี้
(4.1) ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดรายได้จากค่าตอบแทนการโอนขายลิขสิทธิ์หรือการอนุญาตให้บุคคลอื่นได้ใช้ลิขสิทธิ์เป็นเงิน 60,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
(4.2) ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 5,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะหยุดการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
(5) ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดผลประโยชน์จากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมจากข้อ 4.1 และค่าใช้จ่ายในการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ต่อบุคคลที่ได้รับสิทธิจากโจทก์รวมเป็นเงิน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
(6) ให้จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์จากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 3 เพิ่มเติมจากข้อ 4.1 อีกเป็นเงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 3 จะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
(7) มีคำสั่งให้บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตกเป็นของโจทก์
(8) มีคำสั่งจ่ายค่าปรับที่จำเลยทั้งสี่ชำระตามคำพิพากษาในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง
(9) ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในอัตราอย่างสูงแทนโจทก์ด้วย
(10) ขอให้พิพากษาว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าตนได้ทำขึ้นกับบริษัทซึบูราญ่า โปรด์ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2519 เป็นเอกสารปลอม และไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย กับทั้งห้ามจำเลยทั้ง 4 อ้างสิทธิหรือใช้เอกสารปลอมดังกล่าว
(11) ขอให้พิพากษาว่า หนังสือซึ่งโจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 2 ฉบับวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ตกเป็นโมฆะ และไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย กับทั้งห้ามจำเลยทั้งสี่อ้างสิทธิหรือใช้เอกสารดังกล่าว
(12) ขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนลักษณะต่างๆ ที่ระบุไว้ในคำฟ้องแต่เพียงผู้เดียว และห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างสิทธิใด ๆ ในผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์มีมูล ให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาในคดีส่วนอาญาสำหรับจำเลยทั้งสี่ และให้จำเลยทั้งสี่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ในคดีส่วนอาญา และให้การในคดีส่วนแพ่งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์รับผิดดังนี้คือ
(1) ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียสิทธิไม่อาจทำการค้าเกี่ยวกับสิทธิในงานอุลตร้าแมนดังกล่าว อาทิเช่น ค่าจำหน่ายสิทธิสำหรับโทรทัศน์ วิดีโอ เคเบิลทีวี และค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ อันเนื่องมาจากโจทก์ได้ฟ้องร้องและแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในงานดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว เป็นเงิน 27,765,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
(2) ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียสิทธิไม่อาจทำการค้าเกี่ยวกับสิทธิในงานอุลตร้าแมนดังกล่าว อาทิเช่น ค่าจำหน่ายสิทธิสำหรับโทรทัศน์ วิดีโอ เคเบิลทีวีและค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิอื่น ๆ ในประเทศอื่น ๆ ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยอันเนื่องมาจากโจทก์ได้ฟ้องร้องและแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในงานดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว เป็นเงิน 231,063,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
(3) ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ประพฤติผิดสัญญาด้วยการนำเอาสิทธิในงานอุลตร้าแมนของจำเลยที่ 2 ไปหาผลประโยชน์ตอบแทนโดยมิชอบ โดยทำสัญญาอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในงานอุลตร้าแมนในประเทศไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 และรับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นเงิน 365,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
(4) ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ประพฤติผิดสัญญาด้วยการนำเอาสิทธิในงานอุลตร้าแมนของจำเลยที่ 2 ไปหาผลประโยชน์ตอบแทนโดยมิชอบ โดยทำสัญญาอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในงานอุลตร้าแมนในประเทศอื่น ๆ ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 และรับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นเงิน 1,095,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
(5) ขอให้พิพากษาให้โจทก์หยุดและระงับการอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนในประเทศไทย กับหยุดและระงับการใช้สิทธิหรือให้สิทธิที่เกี่ยวข้องใด ๆ ในสิทธิในผลงานอุลตร้าแมนในประเทศไทย
(6) ขอให้พิพากษาเพิกถอนการให้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์และตัวแทนโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นในประเทศไทย
(7) ขอให้พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่าง ๆ ทั้งหมดที่ระบุในคำฟ้องแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั้งหมดทั่วโลก ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น
(8) ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดและผิดสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในอัตราเดือนละ 10,000,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะหยุดการกระทำละเมิดและผิดสัญญาในสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2
(9) ขอให้พิพากษาว่า สัญญาโอนให้สิทธิซึ่งโจทก์และหรือบริษัทซึบูราญ่า เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด และหรือบริษัทซึบูราญ่า โปรด์ แอนด์ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ตัวแทนทางการค้าของโจทก์ทำกับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 เป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง และมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายโดยสมบูรณ์
(10) ขอให้พิพากษาว่า หนังสือซึ่งโจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 เป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง และมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายโดยสมบูรณ์
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ในคดีส่วนอาญา และให้การกับฟ้องแย้งในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 3
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ในคดีส่วนอาญา และให้การต่อสู้ในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่ง กับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 2 รวม 12,000,0000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2 ห้ามโจทก์ละเมิดสิทธิของจำเลยที่ 2 และไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยที่ 2 ต่อไป ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รายละ 500,000 บาท จำเลยที่ 3 จำนวน 400,000 บาท และจำเลยที่ 4 จำนวน 200,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งรับอุทธรณ์ เว้นแต่ในส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 สั่งไม่รับเพราะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำความผิดฐานนี้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ประการแรกตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งนายมานัสทนายความลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียงและผู้พิมพ์นั้นเป็นการยื่นอุทธรณ์โดยทนายความผู้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่า นายมานัสยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งนายมานัสลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียงและผู้พิมพ์ พร้อมกับใบแต่งทนายความซึ่งนายโคอิชิผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้แต่งทนายความ ระบุในใบแต่งทนายความให้นายมานัสเป็นทนายความของโจทก์ในคดีเรื่องนี้ และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์รวมถึงการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ซึ่งใบแต่งทนายความดังกล่าวเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกแห่งกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้รับรองลายมือชื่อของนายโคอิชิกับมีหนังสือรับรองของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น รับรองเจ้าพนักงานโนตารีปับลิก และมีหนังสือรับรองของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว รับรองลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น ดังกล่าว และนายมานัสแถลงยืนยันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า ใบแต่งทนายความของโจทก์ได้ดำเนินการตามพิธีการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับเอกสารที่ทำในต่างประเทศครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยทั้งสี่มิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น ฟังได้ว่าโจทก์แต่งตั้งนายมานัสให้มีอำนาจตามที่ระบุในใบแต่งทนายความจริง เมื่อใบแต่งทนายความดังกล่าวระบุให้นายมานัสมีอำนาจใช้สิทธิในการอุทธรณ์แทนโจทก์ นายมานัสจึงมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียงและผู้พิมพ์ได้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งรับเฉพาะฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นฝ่ายชนะคดีโจทก์ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีส่วนได้เสียในฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีข้ออ้างเป็นเหตุแห่งส่วนได้เสียอันจะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ประกอบกับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งรวมมากับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเพียง 4 ข้อ คือ ข้อ 2.2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นพ้องและเห็นชอบด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ว่าสัญญาพิพาทเป็นเอกสารที่แท้จริง ข้อ 2.4 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นพ้องด้วยกับผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฯ ข้อ 2.5 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นพ้องและเห็นชอบด้วยกับเหตุและผลตามคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และข้อ 2.6 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นพ้องด้วยกับเหตุและผลตามคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง เห็นได้ว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้มีคำขอให้บังคับโจทก์ต้องรับผิดแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกเหนือไปจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามา คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4
สำหรับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่ไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลสัญชาติญี่ปุ่นและมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพยนตร์และงานศิลปประยุกต์ อุลตร้าแมน หรือ ยอดมนุษย์ ตามฟ้อง และนำออกโฆษณาเผยแพร่เป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2509 และในปีอื่น ๆ ในประเทศญี่ปุ่นสืบเนื่องกันมาโจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนตามฟ้อง ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทยเพราะประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นต่างก็เป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์อนุสัญญาเดียวกัน ขณะเกิดเหตุคดีนี้งานดังกล่าวยังอยู่ในอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เห็นสมควรยกปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตั้งแต่เริ่มแรกหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่บริษัทโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน บัญญัติว่า “ผู้ประพันธ์ ให้กินความถึงผู้แต่งเพลงดนตรี ผู้ทำหรือก่อให้เกิดซึ่งศิลปกรรม เช่น ช่างเขียน ช่างภาพหุ่น สถาปนิก ฯลฯ ด้วย” และมาตรา 10 บัญญัติว่า ผู้ประพันธ์มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำวรรณกรรม วิทยาศาสตรกรรมหรือศิลปกรรมของตนเป็นภาพยนตร์แสดงให้ประชาชนดู ดังนั้นในการสร้างงานศิลปกรรมหรืองานภาพยนตร์ การมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดงานศิลปกรรมหรืองานภาพยนตร์จึงเป็นสาระสำคัญของการที่จะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มิได้ให้ความคุ้มครองสิ่งที่เป็นเพียงความคิด ปัญหาคดีนี้จึงมีว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการแสดงออกซึ่งความคิดโดยได้ร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดผลงานอุลตร้าแมนตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คงอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งรู้จักสนิทสนมกับนายเอยิ เพียงแต่เสนอแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนแก่นายเอยิว่าให้สร้างคนรูปร่างใหญ่เพื่อมาปราบก็อดซิลล่าและสัตว์ประหลาดต่าง ๆ โดยได้เสนอเค้าโครงหน้าในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งพระพุทธรูปยุคสุโขทัยเพื่อให้ดูอ่อนโยน และท่าทางของพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เช่น ปางเปิดโลกเพื่อให้เหมือนท่าทางของซุปเปอร์แมน กับปางห้ามญาติเพื่อให้เป็นท่าตอนปล่อยแสงอันเป็นการให้ความช่วยเหลือเสนอความคิดในฐานะที่เป็นคนรู้จักสนิทสนมกันเท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏแน่ชัดว่านายเอยิได้นำแนวความคิดตามที่จำเลยที่ 2 เสนอไปใช้ในการสร้างผลงานอุลตร้าแมนจริงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนเมื่อปี 2507 และเสร็จปี 2508 จำเลยที่ 2 ไปศึกษาวิชาการโฆษณาซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างภาพยนตร์เมื่อปี 2505 และฝึกงานอยู่กับบริษัทโตโฮ จำกัด เชื่อว่า ในช่วงเวลาของการเริ่มสร้างอุลตร้าแมน จำเลยที่ 2 เป็นเพียงนักศึกษาหรือผู้ฝึกงาน ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ว่า มีสถานภาพสูง จึงมีน้ำหนักน้อย ที่จำเลยที่ 2 นำสืบอีกว่า เหตุที่ไม่ได้เปิดเผยเรื่องที่ร่วมสร้างสรรค์กับโจทก์มาแต่แรก เพราะเกรงว่ารายได้ทางการค้าจะไม่ดีเพราะคนไทยไม่นิยมผลงานของคนไทยก็มีน้ำหนักน้อยเช่นกัน จากเหตุผลและพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงทุนลงแรงหรือมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดผลงานอุลตร้าแมน คดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตั้งแต่เริ่มแรก อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแก่จำเลยที่ 2 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นประเพณีและวิธีการปฏิบัติในการทำธุรกิจเพื่อหาผลประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าอุลตร้าแมน เช่น การอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือการโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจึงเป็นพยานแวดล้อมอย่างหนึ่งในคดีที่ต้องนำมาพิจารณาในการพิสูจน์ความแท้จริงของสัญญาพิพาท นอกจากนี้การตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโดยผู้เชี่ยวชาญและการหาข้อพิรุธจากข้อความที่ปรากฏในสัญญาพิพาทก็เป็นพยานหลักฐานที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการพิสูจน์ความแท้จริงของสัญญาพิพาท เนื่องจากนายโนโบรุซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นผู้ทำสัญญาพิพาทได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว สำหรับพยานแวดล้อมในคดีนี้ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 หลังจากนายโนโบรุ ถึงแก่ความตายประมาณ 1 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้นำสัญญาพิพาทไปแสดงต่อโจทก์อ้างว่าเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นกับโจทก์ โดยนายโนโบรุซึ่งเป็นประธานบริษัทโจทก์ในขณะนั้น เห็นว่าสัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่ให้สิทธิต่าง ๆ ในผลงานอุลตร้าแมนแก่จำเลยที่ 2 ทั่วโลก ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจำเลยที่ 2 อาจแสวงหาประโยชน์จากผลงานอุลตร้าแมนในประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ดังปรากฏตามคำฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่เรียกค่าเสียหายจากโจทก์เป็นค่าขาดประโยชน์จากผลงานอุลตร้าแมนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ควรได้รับเป็นเงิน 1,700,000,000 บาทเศษ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณากลับปรากฏว่า หลังจากวันที่ 4 มีนาคม 2519 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าได้มีการทำสัญญาพิพาทไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้สิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากผลงานอุลตร้าแมนในลักษณะที่ยืนยันว่าตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เด็ดขาดตามสัญญาพิพาทแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เคยนำสัญญาพิพาทไปอ้างหรือแสดงต่อผู้ใด จนกระทั่งต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2539 ภายหลังนายโนโบรุถึงแก่ความตายประมาณ 1 ปี และภายหลังวันที่ระบุในสัญญาพิพาทถึง 20 ปี จำเลยที่ 2 จึงเพิ่งนำสัญญาพิพาทไปแสดงและอ้างต่อโจทก์ว่าเป็นสัญญาที่โจทก์โดยนายโนโบรุทำขึ้นกับจำเลยที่ 2 นับว่าเป็นพฤติการณ์ที่ผิดปกติวิสัยสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะในทางการค้าผู้ที่ลงทุนซื้องานลิขสิทธิ์มาย่อมต้องการหากำไรจึงต้องรีบแสวงหาผลตอบแทนโดยอาจทำสัญญาอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิเพื่อให้คุ้มค่าแก่เงินทุนที่ลงไป และเพื่อมิให้งานลิขสิทธิ์ เช่น ภาพยนตร์ที่ซื้อมาล้าสมัย ทั้งการนำสัญญาพิพาทออกมาแสดงหลังจากนายโนโบรุถึงแก่ความตายยังอาจส่อให้เห็นได้ว่า เพื่อตัดโอกาสมิให้นายโนโบรุซึ่งถึงแก่ความตายแล้วโต้แย้งความถูกต้องแท้จริงของเอกสารได้ นอกจากนี้ในการที่จำเลยที่ 2 ไปขอจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อเดือนมิถุนายน 2538 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากนายโนโบรุถึงแก่ความตายไม่กี่วัน จำเลยที่ 2 แจ้งว่าจำเลยที่ 2 ได้ลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เพียง 2 เรื่อง คือเรื่อง ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบเอ กับเรื่อง หนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์ โดยร่วมสร้างสรรค์กับนายโนโบรุ ในปี 2516 และในปี 2517 ตามลำดับ ตามคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 2 มิได้ขอจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในผลงานภาพยนตร์อุลตร้าแมนอื่น ๆ อีก 7 เรื่อง ที่ระบุไว้ในสัญญาพิพาท และมิได้แจ้งว่าตนเองได้รับโอนลิขสิทธิ์มาจากโจทก์ตามสัญญาพิพาทแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ตามแบบฟอร์มคำขอจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ก็มีระบุถึงกรณีการได้รับลิขสิทธิ์โดยการรับโอนเพื่อให้ทำเครื่องหมายไว้ในข้อ 6 ด้วย ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง สำหรับการหาข้อพิรุธจากข้อความในเอกสารและการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในการสืบพยานของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้มีการส่งลายมือชื่อนายโนโบรุในสัญญาพิพาทไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับลายมือชื่อของนายโนโบรุ ตรวจพิสูจน์แล้วมีความเห็นว่า ลายมือชื่อในสัญญาพิพาทกับลายมือชื่อของนายโนโบรุในเอกสารตัวอย่างมีคุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของตัวอักษรและลายเส้นแตกต่างกัน จึงลงความเห็นว่ามิใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกัน ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนายอาคิระพยานโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มสุยเมยในสังกัดสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์แห่งญี่ปุ่น ผู้ตรวจสอบลายมือชื่อในสัญญาพิพาทเบิกความว่า ลายมือชื่อที่ตรวจมีลักษณะตั้งใจเขียน ส่วนลายมือชื่อตัวอย่างเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ลายมือชื่อที่ตรวจการเขียนมีลักษณะไม่คุ้นเคยหรือเคยชิน ตัวอักษรไม่เป็นรูปแบบของตัวเอง และแถวตัวอักษรขึ้นลงไม่ตรง ต่างจากลายมือชื่อตัวอย่างแถวตัวอักษรจะตรงดูสวยงาม ทั้งเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ตรวจเปรียบเทียบลายมือชื่อในสัญญาพิพาทกับเอกสารตัวอย่างแล้ว ปรากฏว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดอันเป็นข้อพิรุธ กล่าวคือ ลายมือชื่อของนายโนโบรุในเอกสารตัวอย่างเขียนอักษรตัวอาร์แบบตัวพิมพ์เล็ก คงมีเพียงบางลายมือชื่อที่ลากหางตัววายลงไปแล้วมิได้ตวัดไปทางใด แต่ลายมือชื่อในสัญญาพิพาท กลับเขียนอักษรตัวอาร์เป็นแบบตัวเขียนเล็ก และอักษรตัววายเมื่อลากหางลงไปจะตวัดขึ้นทางซ้ายแล้ววกกลับไปทางขวาเช่นเดียวกับที่บุคคลทั่วไปเขียน ดังนี้พยานหลักฐานของโจทก์นับว่ามีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ลายมือชื่อในสัญญาพิพาทไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของนายโนโบรุ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง และมาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์ฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งมาในคดีเดียวกันเพราะมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวเนื่องกันไป แต่การดำเนินคดีในส่วนอาญายังต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ซึ่งให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำความผิดตามคำฟ้อง การที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้นั้น โจทก์ต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยปราศจากความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามคำฟ้องของโจทก์จริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2540 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงรูปภาพผลงานอุลตร้าแมนและนำรูปภาพนั้นไปจัดทำเป็นสมุดภาพระบายสีขึ้น และร่วมกันจัดพิมพ์เป็นสมุดภาพระบายสีเพื่อการค้า กับมอบให้จำเลยที่ 4 ขาย เสนอขายสมุดภาพระบายสีนั้น โดยมีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า ตามวันเวลาดังกล่าวโจทก์ตรวจพบสมุดภาพระบายสีที่บริษัทจำเลยที่ 1 และที่ร้านหนังสืออื่น ๆ ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และให้สิทธิแก่จำเลยที่ 4 ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ ทางนำสืบดังกล่าวนั้นนอกจากแสดงว่าการจัดทำ การจัดพิมพ์ และจัดจำหน่ายสมุดภาพดังกล่าวนั้นได้กระทำโดยเปิดเผยแล้ว ยังแสดงด้วยว่าการกระทำดังกล่าวนั้นกระทำขึ้นภายหลังจากที่วันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ได้ไม่นาน โดยที่หนังสือที่โจทก์ทำถึงจำเลยที่ 2 นั้น ได้ระบุเนื้อความไว้ชัดเจนว่าโจทก์ทำขึ้นเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน รวมถึงยอดมนุษย์อุลตร้าแมน ซีรี่ส์ และยอดมนุษย์จัมบอร์ก เอ ซีรี่ส์ แม้หนังสือดังกล่าวไม่ได้มีผลเป็นการที่โจทก์รับรองสิทธิของจำเลยที่ 2 ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว แต่การที่จำเลยที่ 2 เองก็เคยทำธุรกิจร่วมกับโจทก์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้สร้างสรรค์ภาพยนตร์เกี่ยวกับผลงานอุลตร้าแมนออกฉายในประเทศไทยอยู่หลายเรื่อง ทั้งก่อนและในระหว่างที่โจทก์มีหนังสือดังกล่าวก็มีการติดต่อเจรจากันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนอยู่หลายครั้ง การมีหนังสือดังกล่าวส่งโดยตรงถึงจำเลยที่ 2 ขณะยังมีข้อพิพาทในเรื่องสิทธิในลิขสิทธิ์ต่อกันและขณะนั้นก็ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอันเป็นที่สุดโดยศาลถึงเรื่องความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ อาจทำให้จำเลยที่ 2 รวมถึงจำเลยอื่นที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือที่จำเลยที่ 2 มอบสิทธิให้ เข้าใจไปได้ว่าตนเองมีสิทธิทำซ้ำและดัดแปลงรูปภาพผลงานอุลตร้าแมนและนำรูปภาพนั้นไปจัดทำเป็นสมุดภาพระบายสี และจัดพิมพ์เป็นสมุดภาพระบายสีเพื่อการค้า กับมีสิทธิขาย และเสนอขายสมุดภาพระบายสีนั้น ซึ่งในข้อนี้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ก็ได้นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิอย่างเปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษร และกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาไว้อย่างชัดเจน ตามหนังสือสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิ เมื่อโจทก์ซึ่งเลือกใช้สิทธิฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ทางอาญามาด้วย และมีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยปราศจากความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง ยังนำสืบในข้อนี้ให้ปราศจากความสงสัยตามสมควรไม่ได้ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสี่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง และมาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ตามฟ้อง ดังนั้น จึงไม่มีค่าปรับที่จำเลยทั้งสี่ต้องชำระตามคำพิพากษา และกรณีไม่อาจสั่งให้ของกลางตกเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนั้นศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยทั้งสี่ต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนทั้งในฐานะที่เป็นผู้สร้างสรรค์ร่วมกับโจทก์ และในฐานะที่จำเลยที่ 2 ได้รับโอนลิขสิทธิ์มาจากโจทก์ตามสัญญาพิพาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้ใช้สิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากผลงานอุลตร้าแมนตลอดมา เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนโดยเป็นผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม และสัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใด ๆ จากผลงานอุลตร้าแมนโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ได้ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องแย้งเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์โจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งให้แก่โจทก์จากการกระทำละเมิดสิทธิต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ เพียงใด ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคู่ความได้สืบพยานกันมาสิ้นกระบวนพิจารณา และโจทก์ได้อุทธรณ์มาด้วยแล้วตามคำฟ้องอุทธรณ์ข้อ 8.1 ถึง ข้อ 8.5 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย โดยโจทก์อุทธรณ์ข้อ 8.1 เรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้หรือผลประโยชน์จากค่าตอบแทนการโอนขายลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ และทำให้งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้อยคุณค่าลง ซึ่งโจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสี่เป็นเงินจำนวน 60,000,000 บาทนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้จัดพิมพ์สมุดภาพระบายสี จำเลยที่ 4 หาใช่ผู้โอนขายหรือผู้อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายกรณีนี้จากจำเลยที่ 4 ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น จำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนจัดพิมพ์สมุดภาพและระบายสี ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ไม่น่าจะมีค่าตอบแทนในการอนุญาตให้ใช้สิทธิสูงนัก เห็นควรกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีเป็นเงิน 500,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ข้อ 8.2 เรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์อันพึงได้รับจากการจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีออกจำหน่ายเพื่อประโยชน์ทางการค้า เห็นว่า ข้อเท็จจริงเรื่องการจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีนั้นได้วินิจฉัยในคดีส่วนอาญาแล้วว่า จำเลยที่ 4 ได้กระทำไปโดยขออนุญาตใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนจากจำเลยที่ 2 โดยมีพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 4 เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมน และจำเลยที่ 4 มีสิทธิจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีออกวางจำหน่ายได้ เพราะได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากจำเลยที่ 2 แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 4 จัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีโดยระบุว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเป็นผู้ให้สิทธิแก่จำเลยที่ 4 ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ โดยที่บริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 อีกผู้หนึ่ง มิได้มีส่วนร่วมในการอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีนี้ให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์นั้น ก็ได้กำหนดค่าเสียหายกรณีนี้ให้แก่โจทก์ตามอุทธรณ์เรื่องค่าเสียหายข้อ 8.1 ข้างต้นแล้ว จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีนี้อีก เพราะจะเป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อนกัน และสำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาฟังว่า จำเลยที่ 4 จัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีโดยเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมน และโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นได้ว่าความเข้าใจว่าตนมีสิทธิจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีของจำเลยที่ 4 เป็นไปโดยประมาทเลินเล่อ ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 4 ได้รับผลกำไรจากการนี้หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในทางแพ่งฐานกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายกรณีนี้จากจำเลยทั้งสี่ได้อีก
โจทก์อุทธรณ์ข้อ 8.3 เรียกค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ต่อบุคคลที่ได้รับสิทธิจากโจทก์จำนวน 10,000,000 บาท เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์เสียไปนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่อลูกค้าของโจทก์และบุคคลทั่วไป จึงถือได้ว่าค่าใช้จ่ายที่โจทก์เสียไปในการนี้เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 แต่ที่โจทก์ขอมาสูงถึง 10,000,000 บาทนั้น โจทก์มีเพียงใบเสร็จรับเงินพร้อมสำเนาประกาศหนังสือพิมพ์จำนวน 3 ฉบับ แสดงว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการประกาศหนังสือพิมพ์ดังกล่าวไป 106,000 บาท กับเชื่อได้ว่าโดยลักษณะของการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เช่นนั้นย่อมทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงให้แก่ลูกค้าของโจทก์โดยตรงอีกจำนวนหนึ่งด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ข้อ 8.4 เรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการแต่งตั้งให้บุคคลอื่นเป็นตัวแทนจัดหาผู้รับอนุญาตผลิตสินค้าต่าง ๆ ออกจำหน่ายและทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นจัดทำวิดีโอเทปออกจำหน่าย จำนวน 20,000,000 บาท นั้น เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,000,000 บาท
และโจทก์อุทธรณ์ข้อ 8.5 เรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แล้วได้เรียกเก็บเงินจากผู้ขายหรือจำหน่ายสินค้าที่มีตัวอุลตร้าแมน เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้ไปแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว จำเลยที่ 3 ในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปในนามของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการ ดังนี้จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว และผู้ที่ได้รับความเสียหายในกรณีนี้คือผู้ที่ถูกจำเลยที่ 2 แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีและเรียกเก็บเงินไปหาใช่โจทก์ไม่ เพราะแม้จำเลยที่ 2 จะเรียกเก็บเงินจากผู้ถูกแจ้งความดำเนินคดีไปจริงก็ตาม แต่สิทธิของโจทก์ที่จะดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ก็หาได้เปลี่ยนแปลงไปไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายกรณีนี้จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้
อนึ่ง ที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่หยุดกระทำการอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้อง ให้จำเลยทั้งสี่ยุติการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่อ้างตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ทั้งปวงตามคำฟ้อง และห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ทำสัญญามอบสิทธิหรือลิขสิทธิ์ในอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ทั้งปวงเหล่านี้ให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งหมายถึงการละเว้นการกระทำดังกล่าวหลังจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นต้นไปนั้น เป็นเรื่องการกระทำในอนาคตซึ่งยังมิได้มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 10,700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 ธันวาคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 800,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ และยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระรายละ 200 บาท ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share