แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำสั่งให้คู่ความฟัง คดีของผู้ร้องรูปคดีไม่ซับซ้อน ผู้ร้องมีทนายความคนเดิมซึ่งมีอำนาจอุทธรณ์ได้ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดอายุอุทธรณ์ได้ และหากผู้ร้องประสงค์จะแต่งตั้งทนายความคนใหม่แทนทนายความคนเดิมเพื่อยื่นอุทธรณ์ ผู้ร้องต้องติดต่อและแต่งตั้งให้เป็นทนายความแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ผู้ร้องกลับปล่อยปละละเลยเพิ่งแต่งตั้งทนายความคนใหม่เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ในวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์และทนายความผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป โดยอ้างในคำร้องว่าผู้ร้องเพิ่งติดต่อให้ยื่นอุทธรณ์และคดีมีรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารจำนวนมาก อันเป็นความบกพร่องของผู้ร้องเอง กรณีของผู้ร้องยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ประกันตามสัญญาประกันเป็นเงิน 400,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่ชำระ จึงบังคับคดีนำหลักประกันที่ดินโฉนดเลขที่ 20727 ขายทอดตลาดในราคา 220,000 บาท ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านว่า การขายทอดตลาดมิชอบ และเจ้าพนักงานบังคับคดีขายหลักประกันในราคาต่ำเกินสมควร ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2549 ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องทราบคำสั่งศาลตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2549 แต่เพิ่งแต่งตั้งทนายความเพื่อยื่นอุทธรณ์ในวันนี้ จึงเป็นความล่าช้าของผู้ร้องเองไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาให้ ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ประกันขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำสั่งให้คู่ความฟัง คดีของผู้ร้องรูปคดีไม่สลับซับซ้อน ผู้ร้องมีทนายความคนเดิมซึ่งมีอำนาจอุทธรณ์ได้ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดอายุอุทธรณ์ได้ และหากผู้ร้องประสงค์ที่จะแต่งตั้งทนายความคนใหม่แทนทนายความคนเดิมเพื่อยื่นอุทธรณ์ ผู้ร้องต้องติดต่อและแต่งตั้งให้เป็นทนายความแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ผู้ร้องกลับปล่อยปละละเลยเพิ่งแต่งตั้งทนายความคนใหม่เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ในวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์และทนายความผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2549 โดยอ้างในคำร้องว่าผู้ร้องเพิ่งติดต่อให้ยื่นอุทธรณ์และคดีมีรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารจำนวนมาก อันเป็นความบกพร่องของผู้ร้องเอง กรณีของผู้ร้องยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ประกันฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.