คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4339/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ระบุข้อหาของจำเลยมาในช่องฐานความผิดที่หน้าฟ้องว่า ตั้งและประกอบกิจการโรงงาน (ในท้องที่ห้ามตั้งโรงงาน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12, 32 (1), 50 โดยบทบัญญัติแห่งมาตรา 50 นี้มีความว่า “ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง หรือตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคสอง ต้องระวางโทษ…ในกรณีที่โรงงานตามวรรคหนึ่ง เป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่กำหนดจำนวนหรือขนาดที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในท้องที่ใดตามประกาศที่ออกตามมาตรา 32 (1) ผู้กระทำต้องระวางโทษ…” ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำในกฎหมายว่า “โดยไม่ได้รับใบอนุญาต” มาในฟ้อง ก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์ก็ได้กล่าวมาแล้วว่า จำเลยบังอาจตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานทำการดูดทราย…โดยใช้เครื่องจักรเป็นเรือดูดทรายขนาดประมาณ 50 ถึง 60 แรงม้า 1 ลำ ทำการดูดทราย อันเป็นการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งโรงงานของจำเลยเป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจำนวนหรือขนาดที่ไม่อาจให้ตั้งในท้องที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ และไม่เป็นโรงงานที่เข้าข้อยกเว้นที่ให้ตั้งได้ โดยได้แนบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในเขตท้องที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน และอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2550 ซึ่งออกตามมาตรา 32 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาท้ายฟ้องด้วย และกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเท่ากับยืนยันมาในฟ้องว่าการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ของจำเลยได้กระทำไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายนั่นเอง ไม่ใช่ไม่ชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยฝ่าฝืนต่อกฎหมายในเรื่องใดดังฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 5, 7, 12, 32 (1), 50
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 32 (1), 50 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 210,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 105,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 32 (1), 50 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า โจทก์ระบุข้อหาของจำเลยมาในช่องฐานความผิดที่หน้าฟ้องว่า ตั้งและประกอบกิจการโรงงาน (ในท้องที่ห้ามตั้งโรงงาน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12, 32 (1), 50 โดยบทบัญญัติแห่งมาตรา 50 นี้มีความว่า “ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง หรือตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคสอง ต้องระวางโทษ…
ในกรณีที่โรงงานตามวรรคหนึ่ง เป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่กำหนดจำนวนหรือขนาดที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในท้องที่ใดตามประกาศที่ออกตามมาตรา 32 (1) ผู้กระทำต้องระวางโทษ…” ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำในกฎหมายว่า “โดยไม่ได้รับใบอนุญาต” มาในฟ้อง ก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์ก็ได้กล่าวมาแล้วว่า จำเลยบังอาจตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานทำการดูดทราย…โดยใช้เครื่องจักรเป็นเรือดูดทรายขนาดประมาณ 50 ถึง 60 แรงม้า 1 ลำ ทำการดูดทราย อันเป็นการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งโรงงานของจำเลยเป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจำนวนหรือขนาดที่ไม่อาจให้ตั้งในท้องที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ และไม่เป็นโรงงานที่เข้าข้อยกเว้นที่ให้ตั้งได้ โดยได้แนบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในเขตท้องที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน และอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2550 ซึ่งออกตามมาตรา 32 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาท้ายฟ้องด้วย และกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเท่ากับยืนยันมาในฟ้องว่าการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ของจำเลยได้กระทำไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายนั่นเอง ไม่ใช่ไม่ชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยฝ่าฝืนต่อกฎหมายในเรื่องใดดังฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิด
อนึ่ง ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยโดยพิพากษาว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่เช่นนี้จะกักขังเกิน 1 ปี ไม่ได้ เห็นควรระบุในคำพิพากษาให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีปัญหาในชั้นบังคับตามคำพิพากษา
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนของค่าปรับหากจำเลยไม่ชำระให้กักขังแทนไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share