คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) บัญญัติห้ามมิให้บริษัทกระทำการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัทนั้น ก็ด้วยประสงค์มิให้นายหน้าแสวงหาลูกค้าเข้ามาทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อมุ่งหวังค่าตอบแทนจากผลงานเบี้ยประกันภัย โดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์อันแท้จริงของลูกค้าที่จะได้รับจากการทำสัญญาประกันชีวิตที่อาศัยเหตุความทรงชีพหรือมรณะของลูกค้าผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเป็นการให้บริษัทผู้รับประกันภัยไปสร้างแรงจูงใจแก่นายหน้าประกันชีวิตเพื่อมุ่งหวังค่าตอบแทน โดยมีเป้าหมายเพียงให้บริษัทได้รับเบี้ยประกันภัยเป็นจำนวนมากเท่านั้น ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของการทำสัญญาประกันชีวิตตามกฎหมาย เมื่อสัญญาบริการที่จำเลยที่ 1 รับจ้างให้บริการสรรหา ฝึกอบรมบุคคลเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทน ผู้บริหารงานขายให้เป็นตัวแทนของโจทก์ทำหน้าที่หาลูกค้าที่สนใจเข้ามาทำประกันภัยกับโจทก์ โดยมีเป้าหมายสำหรับเบี้ยประกันภัยรับปีแรกหลังหักเบี้ยประกันภัยรับที่มีการยกเลิกกรมธรรม์และอื่น ๆ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายจำนวน 5,000,000 บาท และโจทก์ได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท โดยได้ระบุค่าตอบแทนในการจัดสรรหาตัวแทนและผู้บริหารงานขายในรอบระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 จำนวนตัวแทนและผู้บริหารงานขาย เป้าหมายผลงานประจำปี ระยะเวลาในการคำนวณผลงาน ค่าตอบแทนเพิ่มเติมจะได้รับภายหลังล่วงพ้นระยะเวลาดังกล่าว รวมทั้งเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรณีที่ตัวแทน และผู้บริหารงานขายไม่สามารถบรรลุเป้าหมายผลงานที่โจทก์จะเรียกคืนค่าตอบแทนในอัตราส่วนต่างที่โจทก์ยังคงให้จำเลยที่ 1 ดำเนินงานตามสัญญาบริการต่อไปหรือไม่ ตามเอกสารแนบท้ายสัญญาบริการ สอดคล้องกับที่ ศ. ผู้จัดการอาวุโสแผนกปฏิบัติการตัวแทน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลบริหารงานตัวแทนของโจทก์เบิกความว่า ตามสัญญาบริการ โจทก์จะให้เงินค่าตอบแทนจำเลยเป็นการล่วงหน้าเพื่อให้จำเลยสามารถทำผลงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในสัญญา หากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด โจทก์ก็จะคำนวณให้ผลตอบแทนตามสัดส่วนที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา และจำเลยที่ 1 จะต้องคืนผลตอบแทนบางส่วนที่ได้รับล่วงหน้าไปแล้ว การที่โจทก์จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าเป็นค่านายหน้า หรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จำเลยที่ 1 จะต้องทำให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ไม่ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด สัญญาบริการ จึงเป็นสัญญาที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปตามสัญญาดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี โจทก์หาอาจจะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินนั้นได้ไม่ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 411 จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 866,107.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 830,935.18 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 830,935.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 23 กันยายน 2554) ต้องไม่เกิน 35,172.46 บาท กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาบริการกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ตกลงรับจ้างให้บริการสรรหา รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทน ผู้บริหารงานขาย ที่มีหลักเกณฑ์และคุณสมบัติตามที่โจทก์กำหนด และตามเงื่อนไขข้อบังคับตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจัดสรรบุคลากรจำนวน 30 คน แบ่งเป็นตัวแทนจำนวน 25 คน และผู้บริหารงานขายจำนวน 5 คน เพื่อให้เป็นตัวแทนของโจทก์ทำหน้าที่หาลูกค้าที่สนใจเข้าทำประกันภัยกับโจทก์ โดยมีเป้าหมายสำหรับเบี้ยประกันภัยรับปีแรกหลังหักเบี้ยประกันภัยรับที่มียกเลิกกรมธรรม์และอื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 จะต้องทำให้ได้ตามเป้าจำนวน 5,000,000 บาท สำหรับในรอบระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสำหรับเบี้ยประกันภัยรับปีแรกตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์เรียกคืนเงินค่าตอบแทนตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ในสัญญาได้ตามสัญญาบริการและเอกสารแนบท้ายสัญญา จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติหน้าที่ตลอดจนเงื่อนไขการรับประกันผลงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และตกลงยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ทุกประการตามสัญญาค้ำประกัน หลังจากนั้นโจทก์ได้จ่ายค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 กลับผลิตผลงานสำหรับเบี้ยประกันรับปีแรกให้แก่โจทก์ได้เพียงจำนวน 842,454 บาท ซึ่งน้อยกว่าข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาบริการและไม่ยินยอมคืนเงินค่าตอบแทนแก่โจทก์ 830,935.18 บาท ตามเงื่อนไขในสัญญาบริการ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาบริการ เป็นสัญญาที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) ที่บัญญัติห้ามมิให้บริษัทกระทำการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัทนั้น ก็ด้วยประสงค์มิให้นายหน้าแสวงหาลูกค้าเข้ามาทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อมุ่งหวังค่าตอบแทนจากผลงานเบี้ยประกันภัย โดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์อันแท้จริงของลูกค้าที่จะได้รับจากการทำสัญญาประกันชีวิตที่อาศัยเหตุความทรงชีพหรือมรณะของลูกค้าผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเป็นการให้บริษัทผู้รับประกันภัยไปสร้างแรงจูงใจแก่นายหน้าประกันชีวิตเพื่อมุ่งหวังค่าตอบแทน โดยมีเป้าหมายเพียงให้บริษัทได้รับเบี้ยประกันภัยเป็นจำนวนมากเท่านั้น ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของการทำสัญญาประกันชีวิตตามกฎหมาย ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อสัญญาบริการที่จำเลยที่ 1 รับจ้างให้บริการสรรหา ฝึกอบรมบุคคลเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทน ผู้บริหารงานขายให้เป็นตัวแทนของโจทก์ทำหน้าที่หาลูกค้าที่สนใจเข้ามาทำประกันภัยกับโจทก์ โดยมีเป้าหมายสำหรับเบี้ยประกันภัยรับปีแรกหลังหักเบี้ยประกันภัยรับที่มีการยกเลิกกรมธรรม์และอื่น ๆ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายจำนวน 5,000,000 บาท และโจทก์ได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท โดยได้ระบุค่าตอบแทนในการจัดสรรหาตัวแทนและผู้บริหารงานขายในรอบระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 จำนวนตัวแทนและผู้บริหารงานขาย เป้าหมายผลงานประจำปี ระยะเวลาในการคำนวณผลงาน ค่าตอบแทนเพิ่มเติมจะได้รับภายหลังล่วงพ้นระยะเวลาดังกล่าว รวมทั้งเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรณีที่ตัวแทน และผู้บริหารงานขายไม่สามารถบรรลุเป้าหมายผลงานที่โจทก์จะเรียกคืนค่าตอบแทนในอัตราส่วนต่างที่โจทก์ยังคงให้จำเลยที่ 1 ดำเนินงานตามสัญญาบริการต่อไปหรือไม่ ตามเอกสารแนบท้ายสัญญาบริการ สอดคล้องกับที่นายศิลปชัย ผู้จัดการอาวุโสแผนกปฏิบัติการตัวแทน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลบริหารงานตัวแทนของโจทก์เบิกความว่า ตามสัญญาบริการ โจทก์จะให้เงินค่าตอบแทนจำเลยเป็นการล่วงหน้าเพื่อให้จำเลยสามารถทำผลงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในสัญญา หากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด โจทก์ก็จะคำนวณให้ผลตอบแทนตามสัดส่วนที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา และจำเลยที่ 1 จะต้องคืนผลตอบแทนบางส่วนที่ได้รับล่วงหน้าไปแล้ว การที่โจทก์จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าเป็นค่านายหน้า หรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จำเลยที่ 1 จะต้องทำให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ไม่ต้องด้วยลักษณะดังกล่าว ดังที่โจทก์อ้างมาแต่อย่างใด สัญญาบริการจึงเป็นสัญญาที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปตามสัญญาดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี โจทก์หาอาจจะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินนั้นได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share