แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำร้องขอให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำการไต่สวนก่อน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า ไม่สมควรอนุญาตตามคำร้องก็อาจยกคำร้องเสียได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน ปัญหาว่า การยึดทรัพย์ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกขึ้นเป็นประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดแต่เป็นประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องฉบับอื่นของจำเลยที่ 1ที่ศาลชั้นต้นได้สั่งยกคำร้องและจำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์ไว้แล้วซึ่งจำเลยที่ 1 เพียงพอขึ้นเท้าความในคำร้องนี้เท่านั้น ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์ไม่หยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว การขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด เป็นเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ เจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะทำการขาย เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องใช้ดุลพินิจในการขายเพื่อให้ได้ราคาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้หาใช่ว่าจะต้องขายในราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ในขณะยึดทรัพย์ไม่ แม้หากราคาที่ประเมินในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดจะมีราคาสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินไว้ในขณะยึดทรัพย์มากก็ตามหากข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นจำเลยก็ย่อมหาผู้อื่นมาเข้าสู้ราคาได้หาใช่ว่าจะต้องขายในราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้หรือถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงมากจำเลยก็ย่อมใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 296 วรรคสองได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้สวมสิทธิเข้าดำเนินการบังคับคดีแทนโจทก์กับเจ้าพนักงานบังคับคดีมีพฤติการณ์ ส่อให้เห็นว่าจะดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดรายนี้ โดยไม่สุจริตอย่างไร กรณีจึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้อง มีคำสั่งแจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำการประเมินราคาใหม่หรือ ปรับราคาประเมินตามราคาปัจจุบันตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ และรูปคดีไม่มีเหตุให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไว้ในระหว่าง การพิจารณา คดีไม่จำต้องไต่สวนและให้งดการขายทอดตลาดนั้นไว้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ขอให้บังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 63130 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งทรัพย์ที่ยึดดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้ร้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2533 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ในการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยให้ขายแบบปลอดจำนองและหากโจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดก็ให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีแทนโจทก์ต่อไปต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2535 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิของโจทก์ในการบังคับคดีและขอให้ศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินดังกล่าวข้างต้นออกขายทอดตลาดศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 1 มีนาคม 2538 อ้างว่าทรัพย์พิพาทถูกยึดไว้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาขณะยึดเป็นเงิน 1,618,000 บาท แต่ราคาประเมิน ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2537 มีราคาถึง 7,000,000 บาท ขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไว้จนกว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะปรับราคาทรัพย์พิพาทใหม่
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านลงวันที่ 19 เมษายน 2538 ขอให้ยกคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไว้จนกว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะปรับราคาทรัพย์พิพาทใหม่ของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะประเมินราคาเท่าใดนั้น ยังไม่เป็นการผูกมัดผู้มีส่วนได้เสีย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ประเมินราคาใหม่ ทั้งคดี นี้ปรากฏว่าเมื่อศาลสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1ที่ขอให้งกการขายทอดตลาดแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อมาดังนั้น จึงไม่จำต้องพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 1 อีกให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งยกคำร้องโดยไม่จำต้องไต่สวนก่อนหรือไม่เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 1ตามคำร้องที่ขอให้งกการบังคับคดีไว้ก่อนนั้นไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำการไต่สวนก่อน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า คำร้องของจำเลยที่ 1ไม่สมควรอนุญาตตามคำร้องก็อาจยกคำร้องเสียได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปว่าที่ศาลอุทธรณ์ไม่หยิบยกประเด็นที่ว่า การยึดทรัพย์ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 เห็นสมควรงดการขายทอดตลาดไว้ก่อนขึ้นวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่าปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกขึ้นเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีตามคำร้องนี้ แต่เป็นประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องของจำเลยที่ 1ฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2537 ที่ศาลชั้นต้นได้สั่งยกคำร้องและจำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์ไว้แล้วซึ่งจำเลยเพียงยกขึ้นเท้าความในคำร้องนี้เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่หยิบยกขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายว่ากรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2538 นั้นศาลควรจะต้องสั่งงดการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไว้ก่อนหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดเป็นเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะทำการขายเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องใช้ดุลพินิจในการขายเพื่อให้ได้ราคาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้หาใช่ว่าจะต้องขายในราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ในขณะยึดทรัพย์ไม่มีข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่า ขณะเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาท เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 ประเมินราคาไว้เพียง 1,618,000 บาท แต่ราคาที่ประเมินเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2537 มีราคาสูงกว่ามาก โดยมีราคาถึง 7,000,000 บาท นั้น ในข้อนี้หากจำเลยที่ 1 เห็นเป็นเช่นนั้นจำเลยที่ 1 ก็ย่อมหาผู้อื่นมาเข้าสู้ราคาได้ หาใช่ว่าจะต้องขายในราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ดังที่จำเลยที่ 1 เข้าใจไม่ หรือถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงมากจำเลยที่ 1 ก็ย่อมใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองได้ นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้สวมสิทธิเข้าดำเนินการบังคับคดีแทนโจทก์กับเจ้าพนักงานบังคับคดีมีพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าจะดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดรายนี้โดยไม่สุจริตอย่างไร กรณีจึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำสั่งแจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทำการประเมินราคาใหม่หรือปรับราคาประเมินตามราคาปัจจุบันตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ รูปคดีไม่มีเหตุให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยไม่ได้ทำการไต่สวนและไม่ให้งดการขายทอดตลาดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน