คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1427/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 บังคับใช้ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497และตามกฎหมายใหม่ มาตรา 4 กำหนดโทษผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีโทษเบากว่าจึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษปรับจำเลยที่ 1 ใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน500,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน นั้น เนื่องจากระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 บังคับใช้โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 และตามกฎหมายใหม่ มาตรา 4กำหนดโทษผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับซึ่งมีระวางโทษปรับเบากว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 โดยกำหนดโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 ใหม่และระหว่างคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินให้โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท เป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำความผิด ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 อีกสถานหนึ่งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2524มาตรา 4 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 10 เดือน และปรับ 20,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share