คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1552/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายพิเศษมีวัตถุประสงค์ให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นธรรม จึงได้กำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ไว้เป็นกรณีพิเศษ ดังนั้นการที่มาตรา 87 ให้อำนาจศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้กระทำผิดจึงไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
มาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 บัญญัติให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำผิดมีกำหนดห้าปี เป็นบทบังคับเด็ดขาด ไม่ให้ศาลใช้ดุลพินิจลดน้อยลงได้ ศาลจึงไม่อาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้น้อยกว่ากำหนดห้าปีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๒ ภายหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว จำเลยบังอาจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยไม่ยื่นรายการค่าใช้จ่ายพร้อมหลักฐานการจ่ายเงินเกี่ยวกับการเลือกตั้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๔, ๘๗
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุก ๒ เดือนปรับ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้ ๒ ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘๗ ซึ่งกำหนดให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้กระทำผิดมีกำหนดห้าปีนั้น เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ ก็เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ บัญญัติให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้น ฉะนั้นพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงเป็นกฎหมายพิเศษมีวัตถุประสงค์ให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นธรรม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ จึงได้กำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ไว้เป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดนอกจากจะมีโทษจำคุกและปรับ ซึ่งเป็นโทษในทางอาญาแล้ว บางกรณียังบัญญัติให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำผิดมีกำหนดห้าปีหรือสิบปีอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมในการลงโทษผู้กระทำผิดในทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๖๒ ซึ่งบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ดังนั้น ที่พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘๗ ให้อำนาจศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ หาเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ดังฎีกาของจำเลยไม่
ที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘๗ ที่จำกัดสิทธิเลือกตั้งไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ แล้ว จำเลยก็ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยให้น้อยกว่ากำหนดห้าปีด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า ที่มาตรา ๘๗ บัญญัติให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำผิดมีกำหนดห้าปีนั้นเป็นบทบังคับเด็ดขาด ไม่ให้ศาลใช้ดุลพินิจลดน้อยลงกว่านั้นได้ ทั้งนี้เพื่อให้มีผลในการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๙๙ บัญญัติว่า อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ถ้าหากศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าสี่ปีลงมาก็ย่อมจะไม่เป็นผลในการจำกัดสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำผิดแต่อย่างใด ศาลจึงไม่อาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้น้อยกว่ากำหนดห้าปีได้
พิพากษายืน

Share