คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อให้โจทก์นำไปเปลี่ยนเช็คเดิมจากเจ้าหนีด้วยเจตนาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำลวงของโจทก์ ทั้ง ๆ ที่ได้มีการชำระเงินตามเช็คเดิมแล้ว เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ โจทก์เป็นผู้ถือเช็คพิพาทไว้โดยไม่สุจริต จะถือว่าโจทก์ซึ่งใช้อุบายให้จำเลยออกเช็คพิพาทเป็นผู้ทรงโดยชอบหรือเป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมาจากเจ้าหนี้หาได้ไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงิน 80,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดตั้งแต่วันลงในเช็คถึงวันฟ้อง คือ วันที่ 31มกราคม 2529 โจทก์ขอคิดเพียง 4 เดือน 15 วัน เป็นค่าดอกเบี้ย2,250 บาท และขอดอกเบี้ยอัตราเดียวกันคิดตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยให้การว่า เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 82,250 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 80,000 บาท คิดตั้งแต่วันที่ 31กรกฎาคม 2529 ถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นว่า เช็คพิพาทมีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบได้ความว่า โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยามาเป็นเวลานานเกือบ 10 ปี ในระหว่างที่เกิดเหตุมีหนี้สินก็ยังอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา โจทก์ว่าจำเลยจะพิมพ์หนังสือจำหน่ายให้โจทก์ช่วยหาเงินทำทุน โจทก์ก็ช่วยหา แม้แต่เวลาไปติดต่อกับร้ายจำหน่ายหนังสือโจทก์ก็ไปด้วย นอกจากนั้นยังปรากฏว่าจำเลยอยากเอาเงินไปลงทุนเล่นแชร์นางชม้อยเพื่อให้ได้เงินผลประโยชน์ตอบแทนด้วย โจทก์อ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ก็ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์เองอีกว่า ตอนหลังจำเลยต้องการเงินไปซื้อรถยนต์ โจทก์ก็ได้ติดต่อหาให้โดยไปขอให้นายสันติชัย สุเอกานนท์ ผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาสยามสแควร์ ช่วยหาให้ เห็นได้ว่าแม้แต่เรื่องจะซื้อรถยนต์ โจทก์ยังเกี่ยวข้องอ้างว่าช่วยหาเงินให้จำเลยจึงน่าเชื่อว่าเรื่อง หาผลประโยชน์เกี่ยวกับการจำหน่ายหนังสือก็ดีการลงทุนเล่นแชร์กับนางชม้อยก็ดี มีน้ำหนักเหตุผลน่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์และจำเลยร่วมดำเนินการด้วยกันเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ด้วยกันนั่นเองที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์มอบเงินค่าจำหน่ายหนังสือได้ให้แก่จำเลยไปทั้งหมด และไม่ทราบเรื่องการลงทุนแล่นแชร์กับนางชม้อยนั้นไม่มีน้ำหนักรับฟัง ส่วนเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.6นั้น ได้ความว่า โจทก์จำเลยไปกู้ยืมเงินจากนายสันติชัย แล้วนายสันติชัยได้ช่วยหาเงินจากบุคคลอื่นมาให้ยืมจำนวน 80,000 บาทโดยวิธีแลกเช็คคือ จำเลยสั่งจ่ายเช็คและโจทก์เป็นผู้สลักหลังมอบเช็คนั้นให้นายสันติชัยมอบแก่เจ้าหนี้ต่อมามีการเปลี่ยนเช็คกันหลายครั้งในที่สุดครั้งสุดท้ายโจทก์นำเงินไปชำระตามเช็คและได้รับเช็คกลับคืนมาแล้วแต่ไม่บอกให้จำเลยทราบเพื่อจะเอาเงินจากจำเลยต่อไปอีกโดยสั่งนายสันติชัยไว้ว่า เมื่อจำเลยนำเงินมาส่งชำระค่าดอกเบี้ยให้รับไว้ นอกจากนั้นโจทก์ยังแกล้งบอกจำเลยให้จำเลยออกเช็คไปเปลี่ยนเช็คให้เจ้าหนี้ใหม่ด้วย ทำให้จำเลยหลงเชื่อว่ายังมีหนี้อยู่ตามเดิม จำเลยจึงออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.6 ให้โจทก์และโจทก์ได้นำไปฝากนายสันติชัยไว้ เพราะเกรงว่าจำเลยอาจจะพบเห็นเช็คดังกล่าวจะทำให้ไม่ได้เงินจากจำเลยตามที่ตั้งใจไว้ พฤติการณ์แห่งคดีทำให้เชื่อได้ว่า โจทก์ทำผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยและนำเงินเหล่านั้นไปชำระหนี้ตามเช็คจนได้เช็คคืนมา ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนจำเลยในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนกัน เมื่อชำระเงินตามเช็คหมดแล้วจึงไม่มีมูลหนี้อีก แต่ที่โจทก์ไม่บอกให้จำเลยทราบก็อาจเป็นเพราะจำเลยมีภรรยาและบุตรตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนโจทก์เป็นภรรยานอกกฎหมายจึงต้องการเงินด้วยการวางแผนดังกล่าวจนในที่สุดจำเลยได้ทราบความจริงจากนายสันติชัย จำเลยจึงไม่นำเงินไปมอบแก่นายสันติชัยอีก ที่จำเลยออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.6 ก็เพื่อให้โจทก์นำไปเปลี่ยนเช็คเดิมจากเจ้าหนี้ด้วยเจตนาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำลวงของโจทก์เมื่อข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าวว่า ไม่มีหนี้ต่อกันแล้วเช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ โจทก์จึงเป็นผู้ถือเช็คพิพาทไว้โดยไม่สุจริต จะถือว่าโจทก์ซึ่งใช้อุบายให้จำเลยออกเช็คพิพาทเป็นผู้ทรงโดยชอบหรือเป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมาจากเจ้าหนี้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหาได้ไม่ จำเลยไม่ได้รับผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share