คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5966/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ญ. ซึ่งเป็นพี่ของโจทก์จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของ ญ. เมื่อ ญ. ตาย ที่ดินพิพาทย่อมตกทอดมาเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทจำนวนหนึ่งในสามทันที โจทก์จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ญ. โอนที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 200,000 บาทเศษ ตีใช้หนี้จำนวน 70,000 บาท ที่ ญ. เป็นหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งเป็นการเกิน ขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดก โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้เพราะเป็น กรณีที่เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1336

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นน้องของนายญาติ เป็นสำราญ เจ้ามรดกและมีสิทธิรับมรดกไม่มีพินัยกรรมคือที่ดินพิพาทร่วมกันจำเลยที่ ๒ซึ่งเป็นภริยาของนายญาติ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายญาติได้โอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ ในราคา ๗๐,๐๐๐ บาท อ้างว่าเพื่อเป็นการชำระหนี้ของกองมรดก ความจริงกองมรดกมีหนี้เพียง ๔,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตสมคบกันโอนโดยกลฉ้อฉล ทำให้โจทก์เสียหายขอให้สั่งเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ ๑ แบ่งมรดกใหม่หรือร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายญาติเป็นหนี้จำเลยที่ ๒๗๐,๐๐๐ บาท ได้มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ ทำกิน โดยตกลงกันว่าหากหาเงินมาไถ่ไม่ได้นายญาติจะยอมยกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ต่อมานายญาติไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้จึงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ พร้อมกับมอบ น.ส.๓ ก. ไว้ด้วย แต่ยังไม่ได้โอนนายญาติก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน ที่ดินพิพาทเป็นมรดกเพียงในนาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทแล้วให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์หนึ่งในสามส่วน หากแบ่งไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกของนายญาติจึงย่อมตกทอดมาเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทจำนวนหนึ่งในสามส่วนทันทีที่นายญาติเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้นโจทก์จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทมาก่อนที่จำเลบที่ ๑ จะโอนให้จำเลยที่ ๒ ที่ดินพิพาทมีราคา ๒๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ไม่ว่านายญาติจะเป็นหนี้จำเลยที่ ๒อยู่ ๔,๐๐๐ บาท หรือ ๗๐,๐๐๐ บาท แต่การที่จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินพิพาทซึ่งมีราคาสูงกว่าจำนวนหนี้อยู่มากตีใช้หนี้จำเลยที่ ๒ เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่ง เป็นการเกินขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดก โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวได้ เพราะเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share