คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยยืมเงินทดรองจ่ายไปจากโจทก์เพื่อนำไปใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการของโจทก์ เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วจำเลยต้องนำใบสำคัญคู่จ่ายและเงินสดคงเหลือมาหักล้างเมื่อเอกสารใบสำคัญที่จำเลยนำมาหักล้างเงินยืมบางส่วนมีข้อความเป็นภาษาต่างประเทศโดยไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำนวนเงินที่ระบุในเอกสารดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายของจำเลยที่จะนำมาหักล้างเงินยืมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของโจทก์เมื่อระหว่าง พ.ศ. 2521 ถึง พ.ศ. 2525 จำเลยได้ยืมเงินทดรองจ่ายไปจากโจทก์ 18 ครั้ง รวมเป็นเงิน 692,855 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในกิจการของโจทก์ โดยจำเลยรับรองว่าเมื่อจำเลยเดินทางกลับจากการปฏิบัติหน้าที่หรือเมื่อได้ใช้จ่ายเงินตามที่กำหนดไว้ในใบยืมแล้วจะนำใบสำคัญคู่จ่ายและเงินสดคงเหลือมาหักล้างยอดเงินยืมให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน แต่จำเลยได้นำใบสำคัญคู่จ่ายและเงินสดคงเหลือมาหักล้างบัญชีเงินยืมเป็นบางส่วน และโจทก์ได้หักเงินเดือนของจำเลยใช้หนี้อีก 17,000 บาท จำเลยจึงยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ 158,516.40 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินยืมทดรองจ่ายจำนวน158,516.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ยืมเงินทดรองจ่ายไปจากโจทก์ 18 ครั้ง จำนวน 692,855 บาทแต่จำเลยชำระให้โจทก์หมดแล้ว ใบยืมเงินทดรองท้ายฟ้องบางฉบับไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 29มิถุนายน 2524 จำนวน 220,977 บาท โจทก์ได้รับเงินแล้วไม่หักล้างบัญชีเงินยืมให้จำเลย ปรากฏว่าจำเลยได้จ่ายเงินเกินให้โจทก์จำนวน 85,580.60 บาท ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์คืนเงินจำนวน 85,580.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์มิได้เป็นลูกหนี้จำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 119,188.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงิน 117,688.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า เงินยืมตามเอกสารหมายจ.11 จำนวน 100,000 บาท จำเลยนำไปซื้อผลไม้ไปแสดงและขายที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ แต่จำเลยจัดซื้อผลไม้ไปเป็นเงิน 156,235 บาทโดยจัดซื้อเกินไป 56,235 บาท จำเลยได้ส่งเงินค่าขายผลไม้จำนวน 220,977.56 บาท ไปหักใช้เงินยืมให้โจทก์แล้ว โจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องคืนเงินที่จำเลยจ่ายทดรองไป 56,235 บาท พร้อมกับค่าใช้จ่ายอีก 2,888.16 บาท รวม 59,123.16 บาทแก่จำเลยนั้นเห็นว่า จำเลยมีใบเสร็จรับเงินค่าซื้อผลไม้ จำนวนเงิน 39,328 บาทตามเอกสารหมาย ล.5 เป็นพยานเพียงหนึ่งฉบับ ส่วนเอกสารหมาย ล.6ถึง ล.15 ไม่ใช่ใบเสร็จรับเงิน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยนำเงินไปซื้อผลไม้ตามเอกสารดังกล่าว ส่วนเอกสารหมาย ล.17 ถึง ล.23มีข้อความเป็นภาษาต่างประเทศโดยไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายของจำเลย สำหรับเอกสารหมาย ล.16จำนวนเงิน 1,500 บาท มีลักษณะเป็นใบเสร็จรับเงิน ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้นำเงินค่าใช้จ่ายตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.16 ไปหักกับยอดหนี้ตามฟ้อง 158,516.40 บาท ให้จำเลยแล้ว จำเลยจึงคงเป็นหนี้โจทก์อยู่ 117,688.40 บาท การที่จำเลยส่งเงินค่าขายผลไม้ไปให้โจทก์ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.26 เห็นว่าใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเป็นใบรับเงินรายได้ค่าขายผลไม้ซึ่งจำเลยในฐานะรองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของโจทก์ได้ดำเนินการขายผลไม้ให้โจทก์ที่ประเทศมาเลเซีย เงินดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์จำเลยจะนำมาเบิกหักผลักใช้เงินยืมหาได้ไม่ การที่จำเลยยืมเงินทดรองของโจทก์ไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะพนักงานของโจทก์จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยเงินยืมทดรองจ่ายของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์วางไว้ จำเลยต้องนำใบสำคัญคู่จ่ายที่ถูกต้องพร้อมเงินที่เหลือจ่ายส่งคืนโจทก์เมื่อจำเลยนำใบสำคัญคู่จ่ายหักล้างเงินยืมแล้ว จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวน 117,688.40 บาท ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลย แต่จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวน117,688.40 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share