คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4336/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปสั่งจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 3โดยมิได้มีคำว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจที่จะสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่บุคคลอื่นในลักษณะที่เป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ เมื่อจำเลยที่ 3 สลักหลังเช็คพิพาทส่งมอบให้แก่ โจทก์เป็นการชำระหนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ซึ่งเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาขายลดเช็ค โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนเช็คจากจำเลยที่ 3 มาไว้ในครอบครองโดยชอบ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 904 แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 3 จะต้องสอนการผลิตหินอ่อนเทียมให้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วจำเลยที่ 3 ผิดข้อตกลง ทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาต่อจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่การผิดสัญญาดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่สัญญาหรือมีส่วนรู้เห็น แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่อาจอาศัยความเกี่ยวพัน ระหว่างตนกับจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนยกขึ้นใช้ยันโจทก์ ผู้ทรงเพื่อไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทได้ เว้นแต่จำเลยที่ 3 โอนเช็คพิพาทให้โจทก์ด้วยคบคิดกันฉ้อฉล.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ที่ 2ได้ร่วมกันสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 50,000 บาท แล้วมอบเช็คดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้ ต่อมาจำเลยที่ 3 สลักหลังเช็คฉบับนี้มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินให้เหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 53,636 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การร่วมกันว่า จำเลยที่ 2 ออกเช็คพิพาทลงวันที่ล่วงหน้ามอบให้จำเลยที่ 3 โดยมีสัญญาว่าจำเลยที่ 3 จะสอนการผลิตหินอ่อนเทียมและห้ามมิให้จำเลยที่ 3 โอนเช็คพิพาทให้บุคคลอื่น ต่อมาจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ 2 ตามหาตัวจำเลยที่ 3 ไม่พบ จึงสั่งธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยที่ 3สมคบกับโจทก์และตัวแทนของโจทก์เพื่อฉ้อฉลจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3โอนเช็คพิพาทให้โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็ค
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทลงวันที่ล่วงหน้ามอบให้จำเลยที่ 3 เพื่อให้จำเลยที่ 3 ไปควบคุมการผลิตและติดตั้งเสาหินอ่อนเทียม แต่จำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจำเลยที่ 3มอบเช็คพิพาทให้ผู้แทนโจทก์ไปเรียกเก็บเงินโดยที่จำเลยที่ 3กับโจทก์ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 53,636 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้นำเช็คพิพาทมาขายลดให้โจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คนั้น เห็นว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปสั่งจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 3 โดยมิได้มีคำว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ”ดังนั้นจำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจที่จะสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่บุคคลอื่นในลักษณะที่เป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ เมื่อโจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 3 สลักหลังเช็คพิพาทส่งมอบให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัดวีระเอ็นจีเนียริ่ง ซึ่งเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คโดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่นำสืบหักล้างข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวย่อมเป็นการเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คจากจำเลยที่ 3 มาไว้ในความครอบครองโดยชอบ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 3 มีข้อตกลงตามสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาจ้างต่อจำเลยที่ 1ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 บัญญัติว่า “บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงิน หาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงอันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล”ดังนั้น แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้จากพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 3 จะต้องสอนการผลิตหินอ่อนเทียมให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วจำเลยที่ 3 ผิดข้อตกลงทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2มีเหตุไม่ต้องรับผิดตามสัญญาต่อจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่การผิดสัญญาดังกล่าวโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่สัญญาหรือมีส่วนรู้เห็นแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่อาจอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะระหว่างตนกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนยกขึ้นใช้ยันโจทก์ผู้ทรงเพื่อไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทได้… ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์จำเลยที่ 3 กับนายวิสุทธิ์และนางสุมาลีโอนเช็คพิพาทให้โจทก์ด้วยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share