คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2595/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่าโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)ซึ่งจะเป็นฟ้องซ้อนนั้น โจทก์ในคดีแรกต้องเป็นโจทก์ในคดีหลังด้วยเมื่อโจทก์ในคดีนี้ของศาลแพ่งไม่ได้เป็นโจทก์ในคดีก่อนของศาลจังหวัดชลบุรี ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน คดีนี้เดิมศาลแพ่งมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ ต่อมาได้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นแล้วมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ได้รับฟ้อง เป็นไม่รับฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ยกคำสั่งศาลแพ่งที่เพิกถอนคำสั่งไม่รับฟ้องให้ศาลชั้นต้นรับฟ้อง ดังนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะเห็นพ้องกับศาลแพ่งที่สั่งไม่รับฟ้องเพราะฟ้องโจทก์ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1) ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลแพ่งได้รับฟ้องของโจทก์นัดชี้สองสถานกำหนดให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม โจทก์เสียค่าขึ้นศาลครบแล้ว เป็นการรับฟ้องโจทก์ไว้โดยอาศัยบทบัญญัติพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(4) แล้วก็หาชอบที่จะใช้ดุลพินิจเพิกถอนคำสั่งของตนไม่ ศาลอุทธรณ์จึงชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งศาลแพ่งที่ไม่รับฟ้องโจทก์เสียได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายฟองนนทวานิช ส่วนจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมลี้ นนทวานิชตามคำสั่งและคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดชลบุรี นายฟองมีที่ดิน 1 แปลง ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ยังมิได้โอนรับมรดก จำเลยทั้งสามไปร้องต่อเจ้าพนักงานขอออกใบแทนโฉนดโดยอ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดกของนายฟอง และอ้างว่าโฉนดที่ดินสูญหาย แล้วจดทะเบียนโอนที่ดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งสามขอให้บังคับจำเลยทั้งสามส่งมอบใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์เพิกถอนหรือแก้ไขรายการจดทะเบียนชื่อจำเลยทั้งสามออกจากใบแทนโฉนดหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสามให้การว่า เดิมที่พิพาทมีชื่อนางกิมลี้ นนทวานิชมารดาจำเลยทั้งสามเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อนางกิมลี้ตาย นายฟองบิดาจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกและใส่ชื่อนายฟองเป็นเจ้าของเมื่อนายฟองตายจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกทั้งของนายฟองและนางกิมลี้ โจทก์จำเลยมีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับพินัยกรรมที่นายฟองทำยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ และให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม แต่โจทก์จำเลยตกลงยอมความกัน โดยให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกได้ขอออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทและใส่ชื่อจำเลยทั้งสามไว้ โจทก์ทราบดีแต่ไม่คัดค้าน จำเลยทั้งสามเคยฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดชลบุรีให้ส่งมอบที่พิพาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวและฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์เหล่านั้น เมื่อทรัพย์พิพาทตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา โจทก์ชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลนั้น ศาลนี้ไม่ควรรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาเพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(21) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ตามคำร้องของจำเลยทั้งสามแล้ว มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้รับฟ้อง เป็นไม่รับฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งหมด จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งไม่รับฟ้องให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) หรือไม่และที่ศาลอุทธรณ์สั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฟ้องชอบหรือไม่
สำหรับปัญหาข้อแรก ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1659/2529 ของศาลจังหวัดชลบุรีเพราะในคดีของศาลจังหวัดชลบุรี จำเลยทั้งสามเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์กับพวกในคดีนี้เป็นจำเลย จำเลยทั้งสามฎีกาว่าเมื่อคดีนี้กับคดีของศาลจังหวัดชลบุรีเป็นเรื่องเดียวกัน แม้โจทก์ในคดีของศาลจังหวัดชลบุรี จะเป็นจำเลยในคดีนี้และโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีของของศาลจังหวัดชลบุรี คดีทั้งสองก็ซ้อนกันเป็นฟ้องซ้อน เห็นว่าคำว่า โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)หมายความว่า โจทก์ในคดีแรก ต้องเป็นโจทก์ในคดีหลังด้วย เมื่อโจทก์ในคดีนี้ไม่ได้เป็นโจทก์ในคดีของศาลจังหวัดชลบุรี ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173(1) ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาข้อหลัง จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฟ้อง เพราะคำสั่งไม่รับฟ้องเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฟ้อง เพราะฟ้องโจทก์ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นได้รับฟ้อง และนัดทำการชี้สองสถานทั้งอนุญาตให้โจทก์และจำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและคำให้การตลอดจนได้กำหนดให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์และโจทก์ได้เสียค่าขึ้นศาลครบถ้วนแล้ว แสดงว่าศาลชั้นต้นได้รับฟ้องของโจทก์ไว้โดยอาศัยบทบัญญัติพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(4)แล้ว หาชอบที่จะใช้ดุลพินิจเพิกถอนคำสั่งของตนไม่ ดังนี้ ศาลอุทธรณ์จึงชอบที่จะสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องโจทก์เสียได้ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share