คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้พาจำเลยที่ 1 มาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จากโจทก์จำนวนหนึ่งและก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับ จำเลยที่ 2 ก็เป็นเช่นนี้ตลอดมา จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงนายหน้า เท่านั้นหาใช่เป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ไม่ การซื้อขายรถยนต์พิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 จะขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทตามฟ้องแย้งไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ 1 คันราคา 122,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 50,000 บาท ส่วนที่เหลือจะแบ่งชำระให้ 4 งวด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นมาเกิน 2 งวด ติดต่อกัน สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกัน โดยโจทก์ไม่ต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืน โจทก์ได้รับความเสียหายขอคิดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเท่ากับค่าเช่ารถเดือนละ 4,000 บาท โจทก์ขอคิด 10 เดือน เป็นเงิน 40,000 บาทหากคืนรถไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคา 54,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท แก่โจทก์และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนหรือใช้ราคาให้โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 40,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์พิพาทในสภาพใช้การได้ดี หากส่งมอบไม่ได้ให้ใช้ราคารถ54,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์พิพาทด้วยเงินสดจากตัวแทนของโจทก์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจำเลยที่ 2เป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ร่วมกับตัวแทนทั่วไปของโจทก์ ราคา 109,000บาท ชำระเงินที่เบิกจากธนาคารตามตั๋วแลกเงินธนาคารกสิกรไทยจำเลยที่ 1 ได้รับมอบรถยนต์พิพาทแล้ว โดยโจทก์ยังไม่ได้โอนทะเบียนให้ จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะขอบังคับให้โจทก์โอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อที่โจทก์นำมาฟ้องโจทก์ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงชื่อในช่องผู้เช่าซื้อและไม่ได้ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ติดตามทวงถามการโอนทะเบียนรถยนต์คันพิพาทจากตัวแทนทั่วไป และจำเลยที่ 2ตัวแทนเชิดของโจทก์แล้วก็ได้แต่ขอผัดผ่อนเรื่อยมา จนเกิดฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าตัวแทนทั่วไปของโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ส่งเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ทั้งหมด คงเบียดบังเอาไว้บางส่วนแล้วทำสัญญาเช่าซื้อเท็จหลอกลวงโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบเรื่องขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์โอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลได้พิพากษา หากโจทก์ไม่ไปโอนทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการโอนทะเบียนแทนจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 มิได้ซื้อรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์ด้วยเงินสด จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามฟ้อง จำเลยที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีหน้าที่โอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์โอนทะเบียนรถให้จำเลยที่ 1 ภายใน 7 วัน หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการโอนทะเบียนแทนจำเลย นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 เดิมรถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 2 และชำระเงินให้จำเลยที่ 2 ไปครบถ้วนแล้ว ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาค้ำประกัน และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์กับให้ใช้ค่าเสียหายนั้นคดีได้ถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีเพียงว่า จำเลยที่ 1จะขอให้บังคับโจทก์โอนทะเบียนรถยนต์พิพาทตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่…พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีนายบรรจงชคัตตระยาพงษ์ เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า พยานเป็นผู้จัดการของบริษัทกลการ จำกัด สาขาเชียงใหม่ ซึ่งเป็นนายหน้าขายรถยนต์ให้โจทก์บริษัทกลการ จำกัดไม่เคยตั้งใครเป็นตัวแทนช่วงขายรถยนต์ให้โจทก์จำเลยที่ 2 เป็นผู้พาจำเลยที่ 1 มาเช่าซื้อรถยนต์ และผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 2 ได้รับในการพาผู้มาซื้อรถยนต์นั้นจะได้คันละ 1,500บาท รถยนต์ดัทสันนอกจากบริษัทกลการ จำกัด แล้วไม่มีผู้อื่นได้รับมอบจากโจทก์ให้ขายได้แสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้นำสืบแล้วว่าจำเลยที่ 2ไม่ได้เป็นตัวแทนเชิดของโจทก์และการให้ผลประโยชน์ในการพาผู้มาซื้อรถยนต์คันละ 1,500 บาท แก่จำเลยที่ 2 นั้นเป็นลักษณะของการให้ค่านายหน้า ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ตำหนิว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบแต่ประการใดว่าบุคคลที่ประกาศขายรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ตัวแทนของโจทก์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแทนกับตัวการจะให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกรับรู้ย่อมจะเป็นไปไม่ได้นั้น ข้อตำหนิของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพยานจำเลยที่ 1 ยังเบิกความเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อพยานรับเงินจากจำเลยที่ 1 แล้วพยานนำเงินจำนวน 70,000 บาท ไปมอบให้โจทก์สาขาเชียงใหม่ที่พยานหักเงินไว้ 39,000 บาท นั้น เพราะเป็นค่านายหน้าที่พยานขายรถยนต์ให้โจทก์สาขาเชียงใหม่ได้ประมาณ 10 คัน และตอนตอบทนายโจทก์ถามค้านก็เบิกความว่า พยานได้ค่านายหน้าจากโจทก์สาขาเชียงใหม่คันละ 10,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2เป็นเพียงนายหน้าเท่านั้น หาใช่เป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ไม่การซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 จะขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทตามฟ้องแย้งไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share