คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะกลับมาฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ แผ่นบันทึกข้อมูลโทรศัพท์ กระเป๋าผ้า สมุดบัญชีของกลาง และนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 260/2547 ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง และก่อนสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 4 ขอถอนคำให้การเดิม และขอให้การใหม่เป็นการรับสารภาพเฉพาะข้อหามีเมทแอมเฟตามีน 198 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสี่ และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่งด้วย ลงโทษจำคุก 11 ปี และปรับ 400,000 บาท เมื่อศาลลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 4 แล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกและปรับของจำเลยที่ 4 ในกระทงอื่นมาเรียงกระทงลงโทษได้อีก จึงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 4 สถานเดียว คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นไปโดยสมัครใจ และจำเลยที่ 4 รับสารภาพเพราะจำนนต่อพยาน หลักฐาน ไม่มีเหตุปรานีที่จะลดโทษให้ ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ แผ่นบันทึกข้อมูลโทรศัพท์ กระเป๋าผ้า และสมุดบัญชีของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 260/2547 ของศาลอาญาธนบุรีนั้น เมื่อศาลลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 2 แล้วจึงไม่อาจนับโทษจำคุกต่อให้ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 249,600 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) (2) คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 4 ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 198 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 5 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท เมื่อจำคุกจำเลยที่ 4 ตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุก 5 ปี 6 เดือน มารวมได้ คงจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 200,000 บาท หากจำเลยที่ 4 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังไม่เกิน 1 ปี ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 260/2547 ของศาลอาญาธนบุรี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 249,600 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เฉพาะจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ประหารชีวิต จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะกลับมาฎีกาว่ามิได้กระทำผิดหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาสรุปได้ความว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ จึงควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ในปัญหานี้โจทก์มีพันตำรวจโทอิทธิพล และร้อยตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมเบิกความสอดคล้องกันว่า เมื่อได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดให้โทษลำเลียงเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบ จึงร่วมกันวางแผนจับกุม ซึ่งได้เห็นนางทิพาพรรณหรือคิ้ม ผู้ติดต่อระหว่างผู้ส่ง ผู้ลำเลียงและผู้รับเมทแอมเฟตามีนนำไปเก็บและรอส่งมอบให้ลูกค้าที่ห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ สาขารัตนาธิเบศร์ มาพบจำเลยที่ 1 แล้วไปพบกับจำเลยที่ 4 นางทิพาพรรณแยกไปขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ง – 5929 นนทบุรี แวะรับจำเลยที่ 1 ที่ยืนรอหน้าห้างดังกล่าวไปส่งที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม จากนั้นนางทิพาพรรณจอดรถไว้และขึ้นรถรับจ้างสาธารณะออกไป ต่อมาจำเลยที่ 3 ขับรถคันหมายเลขทะเบียน ศห 4560 กรุงเทพมหานคร ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้โดยสารไปรับจำเลยที่ 1 พากันไปพบกับนางทิพาพรรณ โดยจำเลยที่ 4 แวะมาขับรถที่นางทิพาพรรณจอดทิ้งไว้ออกไป ส่วนจำเลยที่ 1 กับนางทิพาพรรณแวะกลับมาที่ห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ สาขารัตนาธิเบศร์ แล้วจำเลยที่ 1 ขับรถคันหมายเลขทะเบียน บพ 6545 ระยอง ออกไป โดยมีจำเลยที่ 3 ขับรถคันหมายเลขทะเบียน ศห 4560 กรุงเทพมหานคร ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้โดยสารแล่นตามออกไป จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขับรถสลับกันนำหน้าและตามหลัง จากนั้นจำเลยที่ 2 ได้ลงจากรถคันที่จำเลยที่ 3 ขับมาขึ้นรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมกันติดตามเหตุการณ์มาโดยตลอดจึงเข้าตรวจค้นจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 249,600 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าผ้าสีดำภายในรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ เมื่อแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 1 รับว่านางทิพาพรรณสั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปจอดไว้แล้วนำกุญแจรถไปให้นางทิพาพรรณไม่ทราบว่าผู้ใดนำเมทแอมเฟตามีนมาไว้ในรถ จำเลยที่ 2 รับว่าให้จำเลยที่ 3 ขับรถมารับแล้วขับไปรับจำเลยที่ 1 พามาที่ห้องพักของจำเลยที่ 4 ซึ่งใช้เป็นสถานที่เก็บยาเสพติดให้โทษ จำเลยที่ 3 รับว่านางทิพาพรรณสั่งให้จำเลยที่ 3 ขับรถมารับจำเลยที่ 2 แล้วขับไปรับจำเลยที่ 1 จากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งให้จำเลยที่ 2 โทรศัพท์นัดจำเลยที่ 4 ให้ขับรถมารับจำเลยที่ 2 และเมทแอมเฟตามีน เมื่อจำเลยที่ 4 มาตามนัดจึงถูกจับกุม จำเลยที่ 4 รับว่านางทิพาพรรณสั่งให้จำเลยที่ 4 ขับรถมาให้นางทิพาพรรณลำเลียงยาเสพติดให้โทษแล้วนำไปเก็บที่ห้องพัก จากนั้นได้ไปตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ 4 พบเมทแอมเฟตามีน 198 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในถังขยะแล้วได้ร่วมกันเพื่อตรวจค้นจับกุมนางทิพาพรรณปรากฏว่าหลบหนีไปแล้ว เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุกันกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความหรือจัดทำพยานหลักฐานอื่นใดเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำให้ร้ายแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งคดีและพฤติกรรมของจำเลยทั้งสี่ ก็ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยตลอด เริ่มตั้งแต่การวางแผนติดตามดูการกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่เข้ามาเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับนางทิพาพรรณมาโดยตลอด จนกระทั่งจับกุมจำเลยทั้งสี่ได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง นอกจากนี้โจทก์ยังมีข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งสี่ที่ใช้ติดต่อกันในขณะเกิดเหตุ ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้เขียนคำรับสารภาพเกี่ยวกับรายละเอียดแห่งคดีตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นพยานเอกสารประกอบอีกด้วย ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 249,600 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยกระทำการในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ ซึ่งในปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาวินิจฉัยไว้โดยละเอียดชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาอ้างว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานที่เป็นสายลับมาเบิกความยืนยันถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลางอย่างไร เจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่สามารถจับกุมนางทิพาพรรณเพื่อให้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงได้ ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็เป็นคำซัดทอดของผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นมาอ้างในฎีกานั้นเป็นแต่เพียงรายละเอียดของพฤติการณ์แห่งคดี หาใช่ข้อสาระสำคัญที่จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิได้กระทำผิด กรณีจึงไม่มีความสงสัยตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ดังที่อ้างมาในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยแล้วลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โดยให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 1

Share