คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4328/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 แม้ศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกฟ้องโดยอาศัยข้อกฎหมายและเป็นการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม คดีของโจทก์ก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใส่ความโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงเชียงใหม่ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2543 ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2544 ศาลแขวงเชียงใหม่มีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์จึงนำคดีมายื่นต่อศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332 กับให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ข่าวสด ไทยนิวส์ และเชียงใหม่นิวส์ โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 แม้ศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกฟ้องโดยอาศัยข้อกฎหมายและเป็นการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม คดีของโจทก์ก็ต้องห้ามให้ฎีกา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์

Share