แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยที่1ได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อพ.ศ.2529อันเป็นเวลาภายหลังที่บทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519ใช้บังคับแล้วที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นสินบริคณห์แต่เป็นสินสมรสตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อไม่ปรากฎว่าโจทก์และจำเลยที่1ได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรสการที่จำเลยที่1โอนขายที่ดินพิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยที่1เป็นเจ้าของแก่จำเลยที่2โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519มาตรา1476(1)ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่10)พ.ศ.2533มาตรา10อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำนิติกรรมนั้นและเมื่อจำเลยที่2รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริตโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา1480และการเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวจะต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนโจทก์หาได้ไม่แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้นศาลก็มิอาจพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฎในคำฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2510มีสินสมรสเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 15524 เนื้อที่ 50 ตารางวา พร้อมบ้าน1 หลัง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินดังกล่าวไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในการซื้อขายจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ให้ความยินยอมหรือรู้เห็นในการทำนิติกรรมดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่สุจริตร่วมกันหลอกลวงเอาทรัพย์สินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 กระทำการโอนที่ดินกันโดยไม่สุจริต จึงไม่ผูกพันสินสมรสครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนของโจทก์ โจทก์บอกกล่าวจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับและมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 15524เฉพาะส่วนของโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2527 โจทก์ได้จงใจละทิ้งร้างจำเลยที่ 1 ไปมีสามีใหม่ จำเลยที่ 1 ได้พยายามดำเนินการติดต่อกับโจทก์เพื่อมาจดทะเบียนหย่ากันให้ถูกต้องตามกฎหมายแต่หาโจทก์ไม่พบ จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายสุเชาว์ประยงค์แย้ม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2529 อันเป็นระยะเวลาหลังจากที่โจทก์ได้จงใจละทิ้งร้างจำเลยที่ 1 และบุตรไปมีสามีใหม่แล้วทรัพย์สินดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เงินที่ซื้อทรัพย์พิพาท จำเลยที่ 1 ได้ไปกู้ยืมจากจำเลยที่ 2 จึงต้องจดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวไว้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากซื้อที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียว ทำให้มีหนี้สินมากมาย หากปล่อยเวลาให้ล่วงไป หนี้สินต่าง ๆ จะต้องเพิ่มมากขึ้น จำเลยที่ 1จึงตัดสินใจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 การซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำโดยเปิดเผยและจำเลยที่ 1 ก็ได้รับค่าตอบแทนเงินที่ได้มาจำเลยที่ 1 ก็นำมาใช้จ่ายในครอบครัวเลี้ยงดูบุตรและการจดทะเบียนเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ขณะที่ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีภริยา การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกระทำโดยสุจริตและจำเลยที่ 2 เสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 15524 เฉพาะส่วนของโจทก์ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 2 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2510 ระยะหลังโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้แยกกันอยู่แต่มิได้จดทะเบียนหย่ากัน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาทมา 1 แปลงเนื้อที่ 50 ตารางวา โดยลงชื่อตนเองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2534จำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และจำเลยที่ 2 รับโอนไว้โดยไม่สุจริต ที่จำเลยที่ 2ฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมรสกันเมื่อปี 2510 การจัดการสินบริคณห์ต้องใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ จึงมีอำนาจจัดการสินบริคณห์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1468โดยไม่จำต้องรับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นภริยา และตามมาตรา 7แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้พระราชบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 บัญญัติให้จำเลยที่ 1 คงมีอำนาจจัดการสินบริคณห์ได้ต่อไปนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้” ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ย่อมหมายถึงกรณีที่คู่สมรสมีสินบริคณห์มาก่อนจนถึงวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519จึงให้คู่สมรสฝ่ายที่มีอำนาจจัดการสินบริคณห์คงมีอำนาจจัดการต่อไปมาตรา 7 วรรคสอง แห่งบทบัญญัติดังกล่าวจึงบัญญัติว่า “ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้จัดการสินบริคณห์แต่ฝ่ายเดียว ให้ถือว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ยินยอมให้คู่สมรสฝ่ายนั้นจัดการสินสมรสและสินส่วนตัวตามวรรคหนึ่งด้วย” คดีนี้ได้ความว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อ พ.ศ. 2529 อันเป็นเวลาภายหลังที่บทบัญญัติบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519ใช้บังคับแล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นสินบริคณห์ แต่เป็นสินสมรสตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา คดีไม่ปรากฎว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 1476(1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 มาตรา 10อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำนิติกรรมนั้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1480
อย่างไรก็ดี การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวจะต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมด จะเพิกถอนเฉพาะส่วนโจทก์หาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเท่านั้น ศาลก็มิอาจพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฎในคำฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน