คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6533-6534/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยมีข้อตกลงจ่ายค่านายหน้าจากการขายให้โจทก์ทั้งสองในอัตราร้อยละ 1 จากยอดเงินที่เรียกเก็บจากลูกค้า จึงเป็นเงินที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างและโจทก์ทั้งสองผู้เป็นลูกจ้างตกลงกันให้จ่ายค่านายหน้าเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณจากผลงานที่โจทก์ทั้งสองทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ต่อมาจำเลยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่านายหน้าใหม่โดยกำหนดอัตราค่านายหน้าตามระยะเวลาที่ลูกค้าชำระค่าสินค้า และกำหนดให้โจทก์ที่ 2 ได้รับค่านายหน้าเมื่อมียอดขายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ แม้จำเลยอ้างว่ากำหนดขึ้นเพื่อจูงใจให้พนักงานทำยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายหรือติดตามทวงถามหนี้ค่าสินค้าของลูกค้าก็ตาม แต่การทำยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายหรือการติดตามทวงถามหนี้ค่าสินค้าจากลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของงานในความรับผิดชอบของพนักงานขาย ค่านายหน้าที่จำเลยต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใหม่นี้จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณจากผลงานที่โจทก์ทั้งสองทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานนั่นเอง ค่านายหน้าตามข้อตกลงเดิมและตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใหม่จึงเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ที่ 1 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 57,446 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าชดเชย 144,470.74 บาท ค่านายหน้า 14,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 158,470.74 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ของต้นเงิน 158,470.74 บาท ทุกระยะเวลา 7 วัน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 14,602.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 27 มกราคม 2549) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 2 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 445,231.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน ค่านายหน้า 53,651.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 27,827.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 55,654.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่านายหน้า 14,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549) ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 16,215 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (เลิกจ้างวันที่ 27 มกราคม 2549) ค่าชดเชย 98,274.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 เสร็จสิ้น และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 19,799 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (เลิกจ้างวันที่ 30 มกราคม 2549) ค่าชดเชย 436,309.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 เสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ ประการแรกว่า เงินค่านายหน้าที่จำเลยจ่ายให้เฉพาะพนักงานในแผนกขายเป็นเพียงเงินจูงใจในการทำงาน มิใช่เป็นเงินตอบแทนการทำงานโดยตรง จ่ายให้พนักงานขายโดยคำนวณตามผลงานเพื่อจูงใจให้พนักงานขายสามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่จำเลยกำหนดให้เป็นรายปีและจูงใจให้พนักงานขายช่วยเหลือติดตามทวงถามหนี้สินค่าสินค้าจากลูกค้าด้วย จึงมิใช่ค่าจ้างนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเดิมจำเลยมีข้อตกลงในการจ่ายค่านายหน้าจากการขายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อัตราร้อยละ 1 จากยอดเงินที่เรียกเก็บจากลูกค้าได้ ต่อมาจำเลยได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่านายหน้าขึ้นใหม่โดยกำหนดให้โจทก์ที่ 1 ได้รับค่านายหน้าอัตราร้อยละ 1 เมื่อลูกค้าชำระเงินไม่เกิน 90 วัน ได้รับค่านายหน้าอัตราร้อยละ 0.8 เมื่อลูกค้าชำระเงินภายใน 90 ถึง 120 วัน หากลูกค้าชำระเงินเกินกว่า 120 วัน จะไม่ได้รับค่านายหน้า ส่วนโจทก์ที่ 2 จะได้รับค่านายหน้าอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดขายที่ทีมงานขายซึ่งอยู่ในความดูแลของโจทก์ที่ 2 ทำได้เมื่อลูกค้าชำระเงินไม่เกิน 90 วัน และจะได้รับค่านายหน้าอัตราร้อยละ 0.4 เมื่อลูกค้าชำระเงินภายใน 90 ถึง 120 วัน หากลูกค้าชำระเงินเกินกว่า 120 วัน จะไม่ได้รับค่านายหน้า นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 จะได้รับค่านายหน้าเมื่อมียอดขายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามตารางค่านายหน้าและเงินรางวัลการขาย การคำนวณเพื่อจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดงวดการจ่ายพร้อมกับเงินเดือนที่เป็นประจำแน่นอน ดังนั้นเงินค่านายหน้าดังกล่าวซึ่งกำหนดอัตราร้อยละ 1 แต่เดิมจึงเป็นเงินที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างและโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง โดยคำนวณจากผลงานที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน แม้ต่อมาจำเลยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่านายหน้าใหม่โดยกำหนดอัตราค่านายหน้าตามระยะเวลาที่ลูกค้าชำระค่าสินค้า และกำหนดให้โจทก์ที่ 2 ได้รับค่านายหน้าเมื่อมียอดขายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยจำเลยอ้างว่ากำหนดหลักเกณฑ์นี้ขึ้นเพื่อจูงใจให้พนักงานสามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายหรือให้ติดตามทวงถามหนี้สินค่าสินค้าของลูกค้าก็ตาม แต่การทำยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายหรือการติดตามทวงถามหนี้ค่าสินค้าจากลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของงานในความรับผิดชอบของพนักงานขาย ค่านายหน้าที่จำเลยต้องจ่ายให้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใหม่จึงเป็นค่าตอบแทนการทำงานดังกล่าวนั่นเอง ค่านายหน้าที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทั้งตามข้อตกลงเดิมและตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใหม่ จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินค่านายหน้าเป็นค่าจ้างซึ่งต้องนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณค่าชดเชยด้วยจึงชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ประการต่อมาว่าโจทก์ที่ 2 บริหารงานขายไม่เป็นไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จัดทำใบเสนอราคาสินค้าขายให้ลูกค้าในราคาต่ำกว่าต้นทุน และไม่ดำเนินการให้ผ่านการตรวจสอบของผู้จัดการฝ่ายขายโครงการตามระเบียบข้อบังคับ ทำให้ใบเสนอราคาไม่ถูกต้องตามที่จำเลยกำหนด ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งนายจ้างเป็นอาจิน โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำของตนไม่ถูกต้องแต่ยังจงใจทำเพียงเพราะหวังจะได้รับเงินจูงใจค่านายหน้าจากยอดขายที่ทีมขายทำได้ มิได้คำนึงว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้นายจ้างและลูกจ้างอื่นต้องเดือดร้อนเสียหายจากผลประกอบการที่ขาดทุน เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรงนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าแม้ใบเสนอราคาที่พนักงานขายโครงการซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ที่ 2 จัดทำส่งไปยังลูกค้าของจำเลยภายหลังวันที่จำเลยมีคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่จำเลยกำหนด แต่จำเลยมิได้นำพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าสินค้าตามรายการที่ปรากฏในใบเสนอราคามีราคาขายเพียงใด มีข้อมูลที่กำหนดไว้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และโจทก์ที่ 2 ได้ทราบถึงราคาขายที่จำเลยกำหนดไว้สำหรับสินค้าดังกล่าวแล้วแต่ยังคงมีเจตนาที่จะขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าราคานั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับเป็นผลมาจากการทำงานของโจทก์ที่ 2 โดยตรง พฤติการณ์ในการทำงานของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวยังไม่พอฟังว่าจงใจทำใบเสนอราคาแก่ลูกค้าในราคาและเงื่อนไขที่ทำให้จำเลยเสียหาย จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าโจทก์ที่ 2 มิได้มีมูลเหตุจูงใจใดให้ต้องจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ดังนั้นการที่จำเลยอุทธรณ์โดยอ้างว่าโจทก์ที่ 2 จงใจทำเพียงเพราะหวังจะได้รับเงินจูงใจค่านายหน้าจากยอดขาย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 2 จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เพราะโจทก์ทั้งสองละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งนายจ้าง ไม่นำสินค้าไปเสนอขายให้แก่ลูกค้าตามนโยบายและแผนงานของจำเลย กระทั่งมีการขายสินค้าให้กับลูกค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้นำสินค้าค้างสต็อกไปขายตามนโยบายของจำเลยโดยมีเจตนาที่จะไม่ร่วมมือหรือปฏิบัติตามนโยบายของจำเลย จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ส่วนโจทก์ที่ 2 ก็ไม่จัดทำใบเสนอราคาและไม่ตรวจสอบให้พนักงานจัดทำใบเสนอราคาให้เป็นไปตามที่จำเลยกำหนดอันเป็นการบริหารงานขายไม่เป็นไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและละเลยไม่ควบคุมพนักงานให้ปฏิบัติตามแผนงาน จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเช่นกัน ดังนั้นแม้การกระทำของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะยังไม่ถึงกับเป็นการกระทำผิดร้ายแรง แต่ก็มีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจให้ปฏิบัติงานต่อไปได้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ด้วยจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share