คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22745/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกับพวกเตรียมอาวุธปืนเพื่อก่อเหตุร้ายโดยต่างทราบดีว่ามีบุคคลใดพาอาวุธปืนชนิดใดติดตัวไป และหากมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นก็จะใช้อาวุธปืนดังกล่าว แม้จำเลยรับอาวุธมาแล้วส่งมอบให้ผู้อื่นไปทันที ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวด้วยตนเอง แต่เมื่อจำเลยสมัครใจให้พวกของจำเลยรับอาวุธปืนไปเพื่อใช้ก่อเหตุด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะยึดถืออาวุธปืนดังกล่าวร่วมกับพวก การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับพวกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 60, 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสาวสุภัตตรา มารดาของนายนาถพงศ์ ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 หนึ่งในสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือนฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 10 ปี 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 7 ปี 4 เดือน และให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมโดยให้นำเงิน 100,000 บาท ที่โจทก์ร่วมได้รับไปแล้วระหว่างพิจารณาหักออกก่อนข้อหาอื่นให้ยกส่วนอาวุธปืนของกลางที่โจทก์ขอริบเนื่องจากศาลจังหวัดชลบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 811/2550 มีคำพิพากษาให้ริบแล้วจึงไม่ริบอีกให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ปรับ 60 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 40 บาทเมื่อรวมกับโทษฐานฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ปรับ 40 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อเดียวว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตด้วยหรือไม่ โจทก์มีนายวิวัฒน์หรือเนส เบิกความว่า ก่อนออกเดินทางพยานมีอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ 2 กระบอก พยานได้มอบอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ ขนาดกระสุน .38 จำนวน 1 กระบอก แก่จำเลย ส่วนนายพรหมนาถหรือนิคมีอาวุธปืนพก 1 กระบอก หลังเกิดเหตุพยานกับพวกเดินทางไปที่บริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ แล้วพยานรวมทั้งจำเลยและนายพรหมนาถหรือนิคได้โยนอาวุธปืนทั้งสามกระบอกทิ้ง เห็นว่า แม้นายวิวัฒน์จะเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีความผิดเดียวกันกับจำเลยซึ่งถือได้ว่าเป็นคำซัดทอดและต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังก็ตาม แต่นายวิวัฒน์ก็มิได้เบิกความให้ตนพ้นผิดไปเสียทีเดียว เพราะพยานโจทก์ปากนี้เบิกความภายหลังจากที่ศาลจังหวัดชลบุรี แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาลงโทษพยานไปแล้ว ทั้งพันตำรวจตรีอานุภาพยังยึดอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ทั้งสองกระบอกเป็นของกลางได้ตามคำให้การในชั้นสอบสวนของนายวิวัฒน์ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ซึ่งจำเลยก็ได้ให้การถึงการทิ้งอาวุธปืนทั้งสามกระบอกเช่นเดียวกันตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาที่ 5 นอกจากนี้จำเลยยังเบิกความเจือสมกับนายวิวัฒน์ว่า ที่จำเลยอ้างว่าวันเกิดเหตุจำเลยพาอาวุธปืนสั้นชนิดลูกซอง 1 กระบอกติดตัวไป เมื่อจำเลยได้รับอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์จากนายวิวัฒน์แล้วจึงมอบต่อให้นายขวัญชัยหรือบิ๊ก ขณะจำเลยกับพวกขับรถไล่ตามกลุ่มของผู้ตาย จำเลยได้ยินเสียงปืน 3 นัด ก่อนที่จำเลยจะใช้อาวุธปืนลูกซองยิงขึ้นฟ้า 1 นัด พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าจำเลยกับพวกเตรียมอาวุธปืนเพื่อก่อเหตุร้ายโดยต่างทราบดีว่ามีบุคคลใดพาอาวุธปืนชนิดใดติดตัวไป และหากมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นก็จะใช้อาวุธปืนดังกล่าว แม้จำเลยรับอาวุธปืนมาจากนายวิวัฒน์แล้วส่งมอบให้ผู้อื่นไปทันที ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวด้วยตนเอง แต่เมื่อจำเลยสมัครใจให้พวกของจำเลยรับอาวุธปืนไปเพื่อใช้ก่อเหตุด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะยึดถืออาวุธปืนดังกล่าวร่วมกับพวก อีกทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยยังมีอาวุธปืนอีก 2 กระบอก และพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ทั้งสองฐานดังกล่าวตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองฐานความผิดมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์ร่วมขอคิดดอกเบี้ยจากค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป แต่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นับแต่วันเกิดเหตุ จึงเกินคำขอไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วยและให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินจำนวน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 สิงหาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share