คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12709/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องทรัพย์สินให้กลับมาเป็นของลูกหนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สำเร็จลุล่วง ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้บริหารแผนจึงมีอำนาจฟ้องคดีได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลางก่อน โดยเป็นการฟ้องคดีในนามของโจทก์มิใช่ในนามของผู้บริหารแผน
ข้อกำหนด UCP 500 ข้อ 3 และข้อ 4 แสดงให้เห็นสภาพของสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่นอันเป็นมูลหนี้ที่ก่อให้เกิดการชำระหนี้ด้วยเครดิต ธนาคารตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผูกพันตามสัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่น แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารตามที่ระบุไว้ในสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต และจะไม่เกี่ยวข้องกับสินค้า บริการ หรือการปฏิบัติอื่นใด ซึ่งเอกสารนั้นอาจเกี่ยวพันไปถึง
ข้อกำหนด UCP 500 ข้อ 15 ระบุว่า ธนาคารผู้ตรวจเอกสารไม่ต้องรับภาระหรือรับผิดชอบต่อแบบฟอร์ม ความครบถ้วน ความถูกต้อง เป็นของแท้ เป็นของปลอม หรือการก่อให้เกิดผลตามกฎหมายของเอกสาร นั้น หมายความว่า การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับเอกสารนั้น ถ้าเอกสารนั้นมีความสมบูรณ์และตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ก็มีภาระผูกพันต้องชำระเงินตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต โดยไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับแบบฟอร์มของเอกสาร ความแท้จริงของเอกสาร การปลอมแปลงของเอกสาร ปัญหากฎหมายของเอกสาร ลักษณะ ประเภทสินค้า ปริมาณ น้ำหนัก คุณภาพ สภาพของสินค้า การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง หรือมูลค่าของสินค้าที่ส่งมอบให้แก่กัน
พิธีปฏิบัติของธนาคารตามมาตรฐานสากลเพื่อการตรวจสอบเอกสารภายใต้เครดิตที่มีเอกสารประกอบหรือ ISBP ข้อ 9 ให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเอกสารบุคคลผู้ออกเอกสารจะต้องลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไข และทำได้ด้วยการขูดลบ ขีดฆ่า หรือเพิ่มเติมในข้อความ การที่หนังสือฉบับนี้ฉีกขาดออกจากกันโดยถูกตัดหรือกรีดด้วยของมีคม ทำให้กระดาษชิ้นที่ถูกตัดหลุดออกเป็นช่องสี่เหลี่ยม แต่มีการนำกระดาษชิ้นที่หลุดออกมาต่อใหม่ด้วยเทปพลาสติกใส การฉีกขาดดังกล่าวจึงมิได้มีลักษณะเป็นการฉีกทำลายเอกสาร ดังนั้น เอกสารหรือข้อความในเอกสารจึงมิได้เสียไป ทั้งข้อความและความหมายของเอกสารดังกล่าวมิได้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องให้ผู้ออกเอกสารลงลายมือชื่อกำกับรับรองความถูกต้องตามข้อ 9 ของข้อกำหนด ISBP ถือได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารที่ถูกต้องตามข้อตกลงและเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต
แม้โจทก์จะเคยขอให้จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชะลอการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ไว้ก่อน เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับเอกสารการขนส่งสินค้าจากผู้ขาย และจำเลยที่ 2 แจ้งว่าได้ยกเลิกการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์แล้ว แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ก็ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่าได้รับเอกสารที่ผู้รับประโยชน์ยื่นขอรับเงินที่จำเลยที่ 2 จัดส่งไปให้แล้ว และเห็นว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว จึงได้จ่ายเงินไป การจ่ายเงินของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตอย่างมีเหตุผลในฐานะธนาคารตัวแทนของธนาคารผู้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ทั้งมิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจถือว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,593,715,693.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 8,582,567,055.47 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์จนเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า บริษัทมหาราชแพลนเนอร์ จำกัด ได้รับการแต่งตั้งจากศาลล้มละลายกลางให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ต่อมาในปี 2547 โจทก์โดยบริษัทมหาราชแพลนเนอร์ จำกัด ผู้บริหารแผนได้สั่งซื้อสินค้าเศษเหล็กรางรถไฟใช้แล้ว จากบริษัทโควาสเอเชีย แอสเซท จำกัด ผู้ขาย ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยโจทก์ยื่นคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชนิดเพิกถอนไม่ได้ต่อจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 4,920,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้จำเลยที่ 1 เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตผ่านจำเลยที่ 2 ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไปยังบริษัทไอเม็กซ์ แอตแลนติก จำกัด ผู้รับประโยชน์มีเงื่อนไขว่า ผู้รับประโยชน์จะได้ชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเมื่อได้ยื่นเอกสารดังต่อไปนี้ต่อจำเลยที่ 2 คือ
(1) ใบกำกับสินค้าต้นฉบับ 2 ฉบับ และสำเนา 3 ฉบับ ที่ลงนามหมดแล้ว และระบุแยกถึงราคาต่อหน่วย ราคาเอฟโอบี ค่าระวาง ค่าเบี้ยประกันภัย และราคาซีไอเอฟ รวมชั้นต้น ณ ท่าเรือศรีราชา ประเทศไทย โดยระบุรายละเอียดของเลขที่สัญญาปริมาณและสินค้าที่ส่งมอบ
(2) ใบตราส่งสินค้าทางทะเลระบุสินค้าที่ได้รับไว้บนเรืออยู่ในสภาพเรียบร้อย หรือเอกสารขนส่งต่าง ๆ ชุดต้นฉบับและสำเนา 2 ฉบับ ซึ่งเปลี่ยนมือไม่ได้และจัดทำขึ้นหรือสลักหลังตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีตราประทับ “ชำระค่าระวางล่วงหน้าแล้ว” และได้แจ้งให้โจทก์แล้ว
(3) กรมธรรม์ประกันภัยหรือใบรับรอง 2 ฉบับ ครอบคลุมการประกันภัยร้อยละ 110 ของมูลค่าตามใบกำกับสินค้า สลักหลังเปล่าโดยการเรียกร้องค่าชดเชยให้จ่ายในกรุงเทพมหานครโดยครอบคลุมความคุ้มครองทางทะเลตามข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้าและความคุ้มครองเกี่ยวกับภัยสงคราม เอสอาร์ซีซี และทีพีเอ็นดี
(4) บัญชีรายการบรรจุหีบห่อสินค้าต้นฉบับ 2 ฉบับ และสำเนา 3 ฉบับ
(5) ใบรับรองจากผู้รับประโยชน์ รับรองเกี่ยวกับวัตถุปลอดกัมมันตรังสีและไม่ทำด้วยไม้ อุปกรณ์จากต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งออกโดย เอสจีเอส หรืออเล็กซ์ สจ๊วต ต้นฉบับ 3 ฉบับ และสำเนา 3 ฉบับ
(6) ใบรับรองการจดทะเบียนเรือขนส่งสินค้า ออกโดยองค์กรจดทะเบียนระหว่างประเทศชั้นหนึ่ง ต้นฉบับ 1 ฉบับ และสำเนา 2 ฉบับ
(7) หนังสือรับรองของผู้ขาย รวมทั้งใบรับการนำส่งเอกสารซึ่งรับรองว่าได้มีการจัดส่งเอกสารการส่งสินค้าแบบเปลี่ยนมือไม่ได้ครบชุด 1 ชุด (ซึ่งระบุถึงชื่อและรายละเอียดของเรือ เลขที่ และวันที่ในใบตราส่งสินค้าทางทะเล น้ำหนักตามใบตราส่งสินค้าทางทะเล อันกำหนดสินค้าถึงท่าเรือปลายทางและอื่น ๆ) โดยส่งตรงไปยังผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว โดยผ่านบริษัทผู้รับส่งเอกสารและทางโทรสารภายใน 5 วันทำการ นับจากวันที่ออกใบตราส่งสินค้าทางทะเล
(8) ใบรับรองคุณภาพออกโดย เอสจีเอส หรืออเล็กซ์ สจ๊วต 3 ฉบับ
(9) รายงานการตรวจสอบปริมาณออกโดย เอสจีเอส หรืออเล็กซ์ สจ๊วต 3 ฉบับ แสดงถึงปริมาณสินค้าที่บรรทุกลงเรือ
(10) ใบแจ้งของกัปตันเรือที่แสดงถึงรายละเอียดของสินค้า ชื่อเรือ เลขที่ และวันที่ในใบตราส่งสินค้าทางทะเล ฯลฯ ลงนามโดยกัปตันเรือและเจ้าหน้าที่ท่าเรือ
(11) ต้นฉบับหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า 1 ฉบับ และสำเนา 2 ฉบับ ออกโดยหอการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศที่ส่งออก
ทั้งนี้การปฏิบัติตามเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวให้อยู่ภายใต้บังคับของระเบียบประเพณีและพิธีปฏิบัติสำหรับเครดิตที่มีเอกสารประกอบของหอการค้านานาชาติ (Uniform Custom and Practice for Documentary Credit 1993 Revision, ICC Publication No.500 หรือ UCP500) ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและจำเลยที่ 2 ได้แจ้งและยืนยันเครดิตแก่บริษัทไอเม็กซ์ แอตแลนติก จำกัด แล้ว ต่อมาบริษัทไอเม็กซ์ แอตแลนติก จำกัด ได้ยื่นเอกสารตามที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อขอรับเงินค่าสินค้าต่อจำเลยที่ 2 ณ สำนักงานใหญ่ กรุงนิวยอร์ก ทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ จำเลยที่ 2 ตรวจสอบเอกสารทั้งหมดแล้วได้ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ และแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ทางระบบศูนย์ข่ายสวิฟต์ว่า เอกสารเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในเลตเตอร์ออฟเครดิต และจำเลยที่ 2 จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์กับหักเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1 ในอีก 3 วัน คือ วันที่ 8 ตุลาคม 2547 วันที่ 7 ตุลาคม 2547 จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่มีอยู่กับจำเลยที่ 1 ในวันที่ 8 ตุลาคม 2547 แต่พนักงานของโจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ยังไม่ได้รับเอกสารจากผู้ขาย ขอให้จำเลยที่ 1 แจ้งจำเลยที่ 2 ให้ชะลอการจ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้ก่อน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับเอกสารต่าง ๆ ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจากจำเลยที่ 2 รวม 11 รายการ จำนวน 37 แผ่น และจำเลยที่ 1 ได้จัดส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวทั้งชุดให้แก่โจทก์ทางโทรสาร และจำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินจำนวน 4,882,608 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่บริษัทไอเม็กซ์ แอตแลนติก จำกัด ผู้รับประโยชน์ไป และหักเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน จำเลยที่ 1 หักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์บัญชีเลขที่ 001 – 2 – 87425 – 7 จำนวน 201,578,472.28 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวน 4,882,608 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อชดใช้ให้แก่จำเลยที่ 2
พิเคราะห์แล้ว สมควรหยิบยกปัญหาตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ขึ้นมาวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 แก้อุทธรณ์ในข้อแรกว่า ผู้บริหารแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเฉพาะการที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่จะกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในหนี้สินไม่ได้เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ย่อมก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง และหากแพ้คดีอาจต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าฤชาธรรมเนียมศาลแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัทมหาราชแพลนเนอร์ จำกัด ได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางในฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า การฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องทรัพย์สินให้กลับมาเป็นของลูกหนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สำเร็จลุล่วง ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินของลูกหนี้ บริษัทมหาราชแพลนเนอร์ จำกัด ผู้บริหารแผนจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลางเสียก่อน โดยเป็นการฟ้องคดีในนามของโจทก์ มิใช่ในนามของบริษัทมหาราชแพลนเนอร์ จำกัด ผู้บริหารแผน ข้ออ้างตามคำแก้อุทธรณ์ในส่วนนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่บริษัทไอเม็กซ์ แอตแลนติก จำกัด ผู้รับประโยชน์โดยเห็นว่า เอกสารจำนวน 11 รายการ ที่ผู้รับประโยชน์นำมายื่นเพื่อขอรับชำระเงินถูกต้องตรงตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้วและจำเลยที่ 1 เห็นชอบแล้วนั้น เป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบประเพณีและพิธีปฏิบัติสำหรับเครดิตที่มีเอกสารประกอบของหอการค้านานาชาติ (UCP500) เพราะมีเอกสารหลายฉบับมีความไม่ถูกต้อง คือ หนังสือรับรองการประกันภัยระบุว่าออกให้โดยโซซิเอเต้ ซองทราล เดอ เรอาสชูรองส์ ซึ่งบุคคลทั่วไปย่อมทราบได้ว่าบริษัทดังกล่าวประกอบกิจการรับประกันภัยต่อโดยรับประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัยจากบุคคลทั่วไปอีกทอดหนึ่ง ไม่ได้ประกอบธุรกิจรับประกันภัยเกี่ยวกับการขนส่งทางทะเลและรับประกันภัยจากผู้ไม่ได้ประกอบธุรกิจประกันภัยและไม่มีสิทธิตามกฎหมายในการออกหนังสือรับรองการประกันภัย ทั้งนายอับดุล ผู้ลงชื่อในหนังสือรับรองก็ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทน นอกจากนี้หนังสือรับรองการประกันภัยมีรอยตัดขาดแยกออกจากกันไปส่วนหนึ่ง แล้วมีการนำกระดาษที่ปรากฏข้อความด้านล่างในส่วนของชื่อผู้รับประโยชน์ ชื่อและลายมือชื่อของผู้ลงนามในเอกสาร ตลอดจนชื่อและหมายเลขตู้ไปรษณีย์ของผู้ออกเอกสารนั้นมาต่อกันโดยใช้เทปพลาสติกใสปิดทับรอยที่นำมาต่อซึ่งถือเป็นส่วนสาระสำคัญ รอยตัดขาดปรากฏอยู่ขณะที่จำเลยที่ 2 รับเอกสารจากผู้รับประโยชน์และตรวจเอกสาร เอกสารดังกล่าวจึงเป็นพิรุธ เอกสารจึงไม่สมบูรณ์ตามข้อกำหนดและเงื่อนไข จำเลยที่ 2 ชอบที่จะปฏิเสธไม่รับเอกสารและแจ้งให้ผู้รับประโยชน์นำมายื่นใหม่หรือแจ้งให้โจทก์เพื่อให้มีการยกเว้นจึงจะจ่ายเงินได้
ใบตราส่งที่ออกโดย M.M.A. Maroc และขนส่งโดยเรือชื่อนาฟโทพัลก์ ไม่สามารถพิสูจน์การมีตัวตนและบริษัทดังกล่าวได้ตามหนังสือแจ้งเอกสาร
ใบรับรองการนำส่งเอกสารโดยผู้รับให้บริการขนส่งทางอากาศตรวจสอบกับบริษัทดีเอชแอลและยืนยันว่าเป็นเอกสารปลอม โดยยืนยันตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2548 ว่าโจทก์ยังไม่ได้รับเอกสาร แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยอมรับฟัง
หนังสือรับรองคุณภาพ ปริมาณซึ่งออกโดย เอสจีเอส และสินค้าอยู่ในสภาพที่ถูกต้อง เป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง เพราะผู้ออกเอกสารมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ตราประทับเป็นของบริษัทในประเทศโมร็อกโก โจทก์ตรวจสอบไปยังประเทศโมร็อคโกแล้ว ยืนยันว่าเป็นเอกสารปลอม นอกจากนี้หนังสือของ เอสจีเอส จะมีลักษณะเฉพาะตัว โดยรูปนกและตัวหนังสือ เอสจีเอส บริเวณมุมบนขวาและมุมล่างซ้ายของกระดาษจะพิมพ์ด้วยสีสะท้อนแสงเหมือนพิมพ์ธนบัตร จำเลยที่ 1 และที่ 2 น่าจะสังเกตเห็นและทราบว่าเป็นเอกสารที่มิได้ออกโดย เอสจีเอส จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ประกอบการวิชาชีพธนาคารและได้รับเงินค่าธรรมเนียมในการเปิดและยืนยันเครดิต ย่อมต้องรับผิดชอบดูแลผลประโยชน์ของผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยการใช้ความระมัดระวังตามมาตรฐานสากลในการตรวจสอบเอกสาร การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปโดยมิได้ใช้ความระมัดระวังจึงเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นว่า ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้นมีข้อตกลงให้อยู่ภายใต้บังคับของระเบียบประเพณีและพิธีปฏิบัติสำหรับเครดิตที่มีเอกสารประกอบของหอการค้านานาชาติ (UCP500) ซึ่งหมายความว่า ข้อกำหนดใน UCP500 ย่อมผูกพันบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตทุกฝ่าย คือ โจทก์ ผู้ขอเปิดเครดิต จำเลยที่ 1 ธนาคารผู้เปิดเครดิต และจำเลยที่ 2 ธนาคารตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้แจ้งให้ผู้รับประโยชน์ทราบข้อกำหนดและเงื่อนไขเกี่ยวกับเอกสารการส่งสินค้าที่ผู้รับประโยชน์จะต้องนำมายื่นต่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ยืนยันต่อผู้รับประโยชน์ว่าถ้าผู้รับประโยชน์นำเอกสารตามข้อกำหนดและเงื่อนไขตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่แจ้งไปมายื่นอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 จะจ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่ผู้รับประโยชน์ และตามข้อกำหนด UCP500 ข้อ 3 และข้อ 4 แสดงให้เห็นสภาพของสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่นอันเป็นมูลหนี้ที่ก่อให้เกิดการชำระหนี้ด้วยเครดิตคือสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ธนาคารตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผูกพันตามสัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่น แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารตามที่ระบุไว้ในสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต โดยจะไม่เกี่ยวข้องกับสินค้า บริการหรือการปฏิบัติอื่นใด ซึ่งเอกสารนั้นอาจเกี่ยวพันไปถึง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารว่าผู้รับประโยชน์ได้ยื่นเอกสารต่อจำเลยที่ 2 ถูกต้องครบถ้วนตามข้อตกลงและเงื่อนไขตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตที่แจ้งไปหรือไม่ โดยอาศัยการพิสูจน์เฉพาะตัวอักษรที่ระบุไว้ในเอกสารเท่านั้น ไม่ต้องตรวจพิสูจน์ถึงตัวสินค้าว่ามีการจัดส่งตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่นหรือไม่ และตามข้อกำหนด UCP500 ข้อ 15 ที่ระบุว่าธนาคารผู้ตรวจเอกสารไม่ต้องรับภาระหรือรับผิดชอบต่อแบบฟอร์ม ความครบถ้วน ความถูกต้อง เป็นของแท้ เป็นของปลอม หรือการก่อให้เกิดผลตามกฎหมายของเอกสารนั้น หมายความว่า การทำหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เกี่ยวกับเอกสารนั้น ถ้าเอกสารนั้นมีความสมบูรณ์และตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีภาระผูกพันที่ต้องชำระเงินตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับแบบฟอร์มของเอกสาร ความแท้จริงของเอกสาร การปลอมแปลงของเอกสาร ปัญหากฎหมายของเอกสาร ลักษณะ ประเภทสินค้า ปริมาณ น้ำหนัก คุณภาพ สภาพของสินค้า การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง หรือมูลค่าของสินค้าที่ส่งมอบให้แก่กัน ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทไอเม็กซ์ แอตแลนติก จำกัด ผู้รับประโยชน์ได้ยื่นเอกสารรวม 11 รายการ จำนวน 37 แผ่น ต่อจำเลยที่ 2 เพื่อขอรับเงินค่าสินค้าตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์มิได้โต้แย้งว่าเอกสารทั้งหมดรวมทั้งข้อความในเอกสารมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือข้อความในเอกสารใดขัดหรือแย้งกัน ส่วนที่โจทก์อ้างว่าหนังสือรับรองการประกันภัย โซซิเอเต้ ซองทราล เดอ เรอาสชูรองส์ เป็นบริษัทรับประกันภัยต่อ ไม่มีอำนาจออกหนังสือรับรองการประกันภัย และนายอับดุล ผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการประกันภัยไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นปัญหาเรื่องการมีผลตามกฎหมายและความแท้จริงของเอกสารซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งประกอบธุรกิจการธนาคารต้องทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว และตามข้อกำหนด UCP500 ก็ได้ระบุไว้แล้วว่าปัญหาดังกล่าวไม่อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารตามเลตเตอร์ออฟเครดิต ที่โจทก์อ้างว่าใบตราส่งระบุว่า ออกโดย เอ็ม.เอ็ม.เอ มาร๊อค (M.M.A Maroc) และเรือที่ขนส่งสินค้าชื่อนาฟโทพัลก์ ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่า บริษัทและเรือดังกล่าวมีตัวตนอยู่หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อความในใบตราส่งถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว การที่บริษัทผู้ขนส่งหรือเรือที่ใช้ขนส่งสินค้าจะมีอยู่จริงหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดชอบตรวจสอบ และที่โจทก์อ้างว่าหนังสือรับรองการจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าจากผู้รับประโยชน์ไปให้โจทก์ก็ดี หนังสือรับรองคุณภาพสินค้าและหนังสือรับรองปริมาณ ซึ่งออกโดย เอสจีเอส ก็ดี ไม่ใช่เอกสารที่แท้จริง เป็นเอกสารปลอมนั้น ก็เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการตรวจสอบและความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่นกัน
ส่วนการที่หนังสือรับรองการประกันภัยมีการฉีกขาดในส่วนชื่อผู้รับประโยชน์และลายมือชื่อผู้ออกเอกสารโดยโจทก์อ้างว่ามีการนำกระดาษที่ปรากฏข้อความด้านล่างในส่วนชื่อของผู้รับประโยชน์ ชื่อและลายมือชื่อผู้ออกเอกสาร ตลอดจนชื่อและหมายเลขตู้ไปรษณีย์ของผู้ออกเอกสารนั้นมาต่อกันโดยใช้เทปพลาสติกใสปิดทับรอยต่อซึ่งถือเป็นส่วนสาระสำคัญและรอยตัดขาดปรากฏอยู่ขณะที่จำเลยที่ 2 ตรวจรับเอกสาร เอกสารดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขตามเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยที่ 2 ชอบที่จะปฏิเสธไม่รับเอกสารนั้นโดยกำหนดให้ผู้รับประโยชน์นำมายื่นใหม่ หรือแจ้งโจทก์เพื่อขอให้มีการยกเว้นการตรวจรับเอกสารดังกล่าว เห็นว่า ข้อเท็จจริงเห็นได้ชัดว่าเอกสารส่วนที่มีรอยต่อและรอยใช้เทปพลาสติกใสปิดทับรอยต่อนั้น รอยฉีกขาดได้ตัดส่วนของข้อความบางคำแยกออกจากกัน แต่เมื่อนำมาต่อติดเป็นแผ่นเดียวกันต่อเข้ากันได้สนิททุกส่วน และตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญ กองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า ร่องรอยการฉีกขาดตรงและเข้ารอยกันได้ จึงเป็นรอยฉีกขาดจากกระดาษแผ่นเดียวกัน และหมึกที่ใช้พิมพ์ในหนังสือรับรองการประกันภัยเป็นหมึกชนิดเดียวกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าหนังสือรับรองการประกันภัย ซึ่งเป็นเอกสาร 2 ชิ้น ที่นำมาต่อติดกันเป็นเอกสารแผ่นเดียวกันมาตั้งแต่แรก ที่โจทก์อุทธรณ์ทำนองว่า กระดาษที่นำมาต่อกับเอกสารเดิมไม่ใช่กระดาษแผ่นเดียวกันนั้นฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า หนังสือรับรองการประกันภัยที่มีรอยฉีกขาดเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้องตามข้อตกลงและเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือไม่ คู่ความนำสืบรับกันว่าในการตรวจเอกสารว่าถูกต้องตามข้อตกลงและเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือไม่ ธนาคารผู้มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารต้องถือปฏิบัติตามพิธีปฏิบัติของธนาคารตามมาตรฐานสากลเพื่อการตรวจสอบเอกสารภายใต้เครดิตที่มีเอกสารประกอบ (International Standard Banking Practice (ISBP) for the examination of documents under documentary credits) ซึ่งในข้อ 9 ของพิธีปฏิบัติดังกล่าวกำหนดว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเอกสารบุคคลผู้ออกเอกสารจะต้องลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขเพื่อรับรองความถูกต้องของเอกสาร นั้น ซี่งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลหรือข้อความในเอกสารย่อมทำได้ด้วยการขูดลบ ขีดฆ่า หรือเพิ่มเติมในข้อความ แต่กรณีหนังสือรับรองการประกันภัยที่มีการฉีกขาดออกจากกันโดยลักษณะถูกตัดหรือกรีดด้วยของมีคม เริ่มจากบริเวณด้านขวาตอนกลางของเอกสารลึกเป็นเส้นตรงเข้ามาประมาณ 3 ใน 4 ส่วน ของความกว้างของเอกสาร ตัดเป็นมุมฉากลงมาด้านล่างยาวประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วตัดเป็นมุมฉากมาทางด้านขวาจนสุดกระดาษด้านขวา ทำให้กระดาษชิ้นที่ถูกตัดหลุดออกเป็นช่องสี่เหลี่ยม แต่มีการนำกระดาษชิ้นที่ถูกตัดออกเข้ามาต่อติดไว้ที่เดิมด้วยเทปพลาสติกใส เห็นได้ว่าลักษณะการฉีกขาดมิได้มีลักษณะเป็นการฉีกทำลายเอกสารดังกล่าว ดังนั้น เอกสารหรือข้อความในเอกสารมิได้เสียไป ทั้งข้อความและความหมายของเอกสารมิได้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด กรณีจึงไม่จำเป็นต้องให้ผู้ออกเอกสารลงลายมือชื่อกำกับรับรองความถูกต้องตามข้อกำหนดของ ISBP ข้อ 9 และสภาพฉีกขาดดังกล่าวยังไม่ถึงขนาดชำรุดเพราะคุณค่าและความหมายมิได้เปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมถอยลดน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องคืนเอกสารดังกล่าวให้ไปทำมาใหม่ หรือแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อขอให้ยกเว้นข้อบกพร่องดังกล่าว ถือได้ว่าหนังสือรับรองการประกันภัยเป็นเอกสารที่ถูกต้องตามข้อตกลงและเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตรวจผ่านเอกสารดังกล่าว ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตรวจเอกสารโดยใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้น บริษัทไอเม็กซ์ แอตแลนติก จำกัด ผู้รับประโยชน์ ต้องยื่นเอกสารหลายรายการเพื่อขอรับเงิน โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการคือ หนังสือรับรองของผู้ขายรวมทั้งใบรับการนำส่งเอกสารซึ่งรับรองว่าได้มีการจัดส่งเอกสารการส่งสินค้าแบบเปลี่ยนมือไม่ได้ 1 ชุด โดยตรงไปยังผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้วโดยผ่านบริษัทผู้รับส่งเอกสารและทางโทรสาร ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันที่ออกใบตราส่งสินค้าทางทะเล และกรณีที่เห็นว่าเอกสารต่าง ๆ ที่ยื่นมาไม่ถูกต้องหรือมีข้อขัดแย้ง อาจขอให้มีการยกเว้นความไม่ถูกต้องหรือความขัดแย้งจากผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ก็ได้ส่งสวิฟต์ไปยังจำเลยที่ 1 ว่า ได้จัดส่งต้นฉบับและสำเนาเอกสารทั้งหมดตามเงื่อนไขเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 จึงส่งโทรสารข้อความในสวิฟต์ของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ทราบ แต่เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้รับเอกสารทั้งหมดตามเงื่อนไขเลตเตอร์ออฟเครดิตจากผู้ขาย โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 1 แจ้งจำเลยที่ 2 ให้ชะลอการจ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้ก่อนจนกว่าโจทก์จะได้รับเอกสารจากผู้ขาย และในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 2 ได้แจ้งยกเลิกการชำระเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์แล้ว แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 กลับจ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่บริษัทไอเม็กซ์ แอตแลนติก จำกัด ผู้รับประโยชน์ และหักเงินในบัญชีของจำเลยที่ 1 ทั้งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วว่า โจทก์ยังไม่ได้รับเอกสารการส่งสินค้าจากผู้ขาย และจำเลยที่ 1 ได้ทำการหักเงินในบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 001 – 2 – 87425 – 7 จำนวน 201,578,471.28 บาท ของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขเลตเตอร์ออฟเครดิต เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นธนาคารผู้แจ้งและยืนยันเครดิต มีหน้าที่ตรวจเอกสารที่บริษัทไอเม็กซ์ แอตแลนติก จำกัด ผู้รับประโยชน์ยื่นเพื่อขอรับเงินโดยใช้ความระมัดระวังตามสมควรว่า เอกสารนั้นถูกต้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือไม่ภายใน 7 วัน หากเอกสารนั้นถูกต้องแล้วก็มีหน้าที่จ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ผู้รับประโยชน์โดยไม่ชักช้า เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยมาแล้วฟังได้ว่าเอกสารทั้งหมดที่บริษัทไอเม็กซ์ แอตแลนติก จำกัด ยื่นเพื่อขอรับเงินนั้นถูกต้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตที่โจทก์ขอเปิดไว้ จำเลยที่ 2 จึงมีความรับผิดชอบจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตแก่บริษัทไอเม็กซ์ แอตแลนติก จำกัด ผู้รับประโยชน์ เมื่อเลตเตอร์ออฟเครดิตมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 2 จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ได้เมื่อโจทก์ได้รับเอกสารการขนส่งสินค้าลงเรือจากผู้ขายแล้วหรือจำเลยที่ 2 ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อน แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าโจทก์เคยขอให้จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชะลอการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ไว้ก่อน เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับเอกสารการขนส่งสินค้าจากผู้ขาย และจำเลยที่ 2 แจ้งว่าได้ยกเลิกการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์แล้วก็ตาม ก็ถือว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการตรวจเอกสารตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังมิได้รับเอกสารตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 2 จัดส่งมาให้ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจให้คำรับรองแก่จำเลยที่ 2 ว่า เอกสารนั้นถูกต้องตรงตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือไม่ แต่ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่า ได้รับเอกสารที่ผู้รับประโยชน์ยื่นขอรับเงินที่จำเลยที่ 2 จัดส่งไปให้แล้ว และเห็นว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว จำเลยที่ 2 จึงจ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่ผู้รับประโยชน์ไป การจ่ายเงินของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตอย่างมีเหตุผลในฐานะธนาคารตัวแทนของธนาคารผู้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share