คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4327/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าหนี้ตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินนับจากวันถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับ จนกระทั่งถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้คดีขาดอายุความ 3 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 แล้วสัญญารับชำระหนี้ซึ่งระบุว่า “ข้าพเจ้ารับรองจะชำระหนี้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินคืนให้กับธนาคารตามกำหนดเวลาที่กล่าว หากวันกำหนดชำระคืนตรงกับวันหยุดทำการของธนาคารก็ให้ร่นมาชำระในวันทำการที่ถัดมา ในกรณีที่มิได้มีการตกลงให้คิดส่วนลดตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว ข้าพเจ้าจะชำระดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้ธนาคารในอัตราร้อยละ 15.0 ต่อปี(สิบห้าต่อปี)” และลงลายมือชื่อลูกหนี้ (จำเลย) เป็นผู้ให้สัญญาหนังสือฉบับดังกล่าวเมื่อมีลักษณะเป็นหนังสือประกอบตั๋วสัญญาใช้เงินเท่านั้น ดังนั้น เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินขาดอายุความหนังสือสัญญารับชำระหนี้ก็ขาดอายุความด้วย ย่อมต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด เมื่อวันที่5 เมษายน 2536 โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลจำหน่ายคดีวันที่ 15 ธันวาคม 2538 ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2ล้มละลาย เจ้าหนี้รายที่ 1 (โจทก์) ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันสินค้าและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี รวมเป็นเงิน 7,320,714.46 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้วไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นควรให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันในการซื้อขายสินค้าเป็นเงิน 544,054.95 บาท ในมูลหนี้อันดับที่ 3 ตามสัญญาเบิกเงินบัญชีเป็นเงิน 222,258.89 บาทและในมูลหนี้อันดับที่ 4 ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน2,398,543.92 บาท รวมเป็นเงิน 3,164,857.76 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 โดยมีเงื่อนไขว่า หากได้รับชำระหนี้จากนายวิเชียร เฉลียวจิตติกุล และนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล ผู้ค้ำประกันแล้วเพียงใดให้สิทธิได้รับชำระหนี้ลดลงเพียงนั้น ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้รายที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 1 รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 1 เป็นเงิน 4,152,657.50 บาท ตามที่ขอจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นลูกค้าของธนาคารเจ้าหนี้รายที่ 1 สาขาพังงาโดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารในรูปการกู้เงินระยะสั้นโดยในการกู้ยืมเงินแต่ละครั้งลูกหนี้ที่ 1 จะทำสัญญารับชำระหนี้และออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามจำนวนเงินที่ได้รับไปจากเจ้าหนี้รายที่ 1 ให้ไว้เป็นหลักฐานเป็นคราว ๆ ไป เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2531 ลูกหนี้ที่ 1 ได้กู้เงินไปจากเจ้าหนี้รายที่ 1 เป็นเงิน 3,000,000 บาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้รวม 15 ฉบับฉบับละ 200,000 บาท คือตั๋วสัญญาใช้เงินหมายเลข 1/2531 ถึงหมายเลข 15/2531 มีกำหนดการใช้เงินเมื่อครบกำหนด 29, 60, 90, 120, 151, 181, 211, 242, 271, 301, 330, 361, 355, 385 และ 392 วัน นับจากวันที่ลงในตั๋วแต่ละฉบับตามลำดับ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 – จ.20 ลูกหนี้ที่ 1 ได้ทำสัญญารับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ไว้ปรากฏสำเนาสัญญารับชำระหนี้เอกสารหมาย จ.5 การคิดดอกเบี้ยดังกล่าวธนาคารเจ้าหนี้รายที่ 1 อาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.21 ในการออกตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญารับชำระหนี้ดังกล่าวมีนายวิเชียร เฉลียวจิตติกุล และนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุลทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันเมื่อครบกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 15 ฉบับแล้ว ลูกหนี้ที่ 1 ได้ชำระตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 1/2531 ถึงฉบับที่ 3/2531 เท่านั้นส่วนฉบับอื่น ๆ อีก 12 ฉบับ เจ้าหนี้รายที่ 1 ไม่ได้รับชำระหนี้จึงได้คิดดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับ ลูกหนี้ที่ 1เป็นหนี้เงินต้นรวม 2,400,000 บาท ดอกเบี้ยถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำนวน 1,752,657.50 บาท รวมเป็นเงิน 4,152,657.50 บาทปรากฏตามเอกสารหมาย จ.24 อนึ่ง หนี้ตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 12 ฉบับ นับจากวันถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับ จนกระทั่งถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้คือวันที่ 23 กรกฎาคม 2536 ปรากฏว่า คดีขาดอายุความ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 แล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีว่าเจ้าหนี้รายที่ 1 จะขอรับชำระหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ได้หรือไม่ ตามสัญญารับชำระหนี้เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 ระบุว่า”ข้าพเจ้ารับรองจะชำระหนี้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินคืนให้กับธนาคารตามกำหนดเวลาที่กล่าว หากวันกำหนดชำระคืนตรงกับวันหยุดทำการของธนาคารก็ให้ร่นมาชำระในวันทำการที่ถัดมาในกรณีที่มิได้มีการตกลงให้คิดส่วนลดตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้วข้าพเจ้าจะชำระดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้ธนาคารในอัตราร้อยละ 15.0 ต่อปี (สิบห้าต่อปี)” ลงลายมือชื่อลูกหนี้ที่ 1เป็นผู้ให้สัญญา ดังนี้จะเห็นได้ว่าหนังสือฉบับนี้กล่าวถึงตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 15 ฉบับ ที่ลูกหนี้ออกให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 1และลูกหนี้ที่ 1 ได้รับรองว่าจะชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 1ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินและลูกหนี้ที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว หนังสือสัญญารับชำระหนี้ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2531 วันเดียวกับวันออกตั๋วสัญญาใช้เงินจึงมีลักษณะเป็นหนังสือประกอบตั๋วสัญญาใช้เงินเท่านั้น เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินขาดอายุความ หนังสือสัญญารับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.5 ก็ขาดอายุความด้วย ต้องห้ามมิให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94(1)
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่อนุญาตให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัดเจ้าหนี้รายที่ 1 รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับ 1 เป็นเงิน4,152,657.50 บาท ตามที่ขอ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share