คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีประเภทที่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ มีกระบวนวิธีพิจารณาที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ โดยเน้นการพิจารณาให้เสร็จไปโดยรวดเร็วแตกต่างจากคดีสามัญ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ว่า “ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดี ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว” คดีนี้ศาลเคยอนุญาตให้เลื่อนคดีเพราะ ช. ทนายจำเลยที่ 3 ถอนตัวและ ก. ทนายจำเลยที่ 3 ที่แต่งตั้งใหม่ก็ติดว่าความที่ศาลอื่น ไม่มาในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกและนัดที่ 2 ก็ขอเลื่อนคดีเพราะขอเวลาเจรจากับโจทก์ แต่จำเลยที่ 3 ก็มิได้ไปติดต่อกับโจทก์เพื่อเจรจาตกลงกันตามที่ได้แถลงไว้ต่อศาล จนถึงวันนัดพร้อมเพื่อทำยอมหรือนัดสืบพยานโจทก์ ก. ยื่นคำร้องขอถอนตัวออกจากการเป็นทนายความจำเลยที่ 3 โดยอ้างเหตุว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกับจำเลยที่ 3 ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ก็ยื่นใบแต่งทนายความต่อศาล แต่งตั้งให้ ส. เป็นทนายความคนใหม่ ทนายจำเลยที่ 3 คนใหม่ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่า ตนติดว่าความที่ศาลอื่นกับยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 3 ด้วย ดังนั้น การขอเลื่อนคดีในนัดที่ 3 นี้ จึงไม่ใช่การขอเลื่อนในกรณีปกติทั่วไป หากจำเลยที่ 3 มีความสุจริตและมีความจำเป็นต้องแต่งตั้งทนายความคนใหม่ก็ควรจะต้องพิจารณาว่าทนายความที่จะแต่งตั้งใหม่นั้นพร้อมที่จะว่าความให้ตนในวันดังกล่าวเพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าออกไป การกระทำของจำเลยที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการขัดขวางการพิจารณาคดีไม่ให้เสร็จไปโดยรวดเร็วและมีพฤติการณ์เป็นการประวิงคดี ชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี
กระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานในการสืบพยานบุคคลมีกำหนดไว้เป็นพิเศษอยู่ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 29 และข้อ 30 สำหรับคดีนี้ โจทก์ยื่นบัญชีพยานระบุชื่อ ว. เป็นพยานบุคคลของโจทก์ โจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. ซึ่งมีรายการครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดข้อ 30 ต่อศาลพร้อมกับคำแถลงขออนุญาตใช้บันทึกถ้อยคำดังกล่าวแทนการซักถามพยานบุคคลดังกล่าว โดยโจทก์ได้จัดส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก ทนายจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีและได้กล่าวไว้ในคำร้องด้วยว่า หากโจทก์จะใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแทนการสืบพยานบุคคลแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่ค้าน และขอซักค้านผู้ให้ถ้อยคำในนัดหน้าพร้อมกับสืบพยานจำเลยที่ 3 ซึ่งต่อมาศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์พร้อมพยานจำเลยที่ 3 ในนัดหน้า ดังนั้น ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้าย ทนายจำเลยที่ 3 ไม่มาศาลแต่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ การที่ทนายจำเลยที่ 3 ไม่มาศาลย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจที่จะซักค้าน ว. พยานโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ ว. พยานโจทก์ที่มาศาลในวันดังกล่าวเข้าเบิกความต่อหน้าศาลอีก ตามข้อกำหนดข้อ 29 วรรคท้าย ทั้งในข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแทนการสืบพยานบุคคลก็มิได้ระบุให้ผู้ให้ถ้อยคำต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้ถ้อยคำตามบันทึกนั้นแต่อย่างใด การที่บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. มิได้มีข้อความของการสาบานหรือปฏิญาณตนของ ว. ทั้งไม่มีลายมือชื่อของบุคคลผู้รับการสาบานหรือปฏิญาณลงไว้ ก็ไม่ทำให้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. เสียไปแต่อย่างใด เพียงแต่เมื่อผู้ให้ถ้อยคำนั้นมาศาลเพื่อตอบคำถามค้านและคำถามติงของคู่ความ จึงจะต้องสาบานหรือปฏิญาณก่อนเบิกความ และโจทก์ไม่จำต้องระบุอ้างบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. ไว้ในบัญชีพยานโจทก์ในฐานะเป็นพยานเอกสาร เพราะถือว่าการส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเป็นกระบวนพิจารณาแทนการสืบพยานบุคคล ดังนั้น เมื่อโจทก์ระบุชื่อ ว. เป็นพยานบุคคลของโจทก์ไว้ในบัญชีพยานของโจทก์แล้ว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. พยานบุคคลของโจทก์แทนการที่โจทก์ต้องซักถามตัวพยานจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยรวมจำนวน ๑๕,๖๐๙,๓๘๓.๔๔ บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔.๗๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๙,๕๔๐,๖๖๘.๗๒ บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยที่ ๓ ติดว่าความที่ศาลอื่น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดที่ ๒ จำเลยที่ ๓ แถลงขอเลื่อนคดีอ้างว่า จำเลยที่ ๓ กำลังเสนอโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อโจทก์ หากตกลงกันได้ จะมาทำยอมในนัดหน้า หากนัดหน้าเจรจาตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ ๓ แถลงขอสละประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๓ ทั้งหมด และไม่ติดใจสืบพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๓ โจทก์ก็ไม่คัดค้านการเลื่อนคดี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้เลื่อนคดีไป แต่เมื่อถึงวันนัดทนายจำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายความยื่นใบแต่งทนายความแต่งตั้งให้นายสุวิจักขณ์ มงคลเสาวณิต เป็นทนายความคนใหม่ และยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความของจำเลยที่ ๓ และติดว่าความที่ศาลอื่น กับยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า ในนัดที่แล้วทนายจำเลยที่ ๓ คนเดิมได้แถลงสละประเด็นข้อต่อสู้และไม่ติดใจสืบพยาน ทั้งจำเลยที่ ๓ ก็แต่งตั้งและถอดถอนทนายจำเลยครั้งนี้เป็นคนที่ ๓ แล้ว ประกอบกับการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก็มิได้ยื่นล่วงหน้าก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน พฤติการณ์ในการดำเนินคดีของจำเลยที่ ๓ เห็นได้ว่ามีเจตนาประวิงคดีให้ชักช้า จึงไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การและไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และมีคำสั่งว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดพิจารณา ให้โจทก์นำพยานเข้าสืบจนเสร็จการสืบพยานโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ ๓ ไม่ติดใจสืบพยาน ถือว่าคดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๓ เลื่อนคดีและคำสั่งรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์ อรศิริสกุล พยานโจทก์ ต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ ว่า คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่วินิจฉัยว่า พฤติการณ์ในการดำเนินคดีของจำเลยที่ ๓ เป็นการประวิงคดีให้ชักช้า และไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีตามคำร้องของจำเลยที่ ๓ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีประเภทที่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ มีกระบวนวิธีพิจารณาที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ โดยเน้นการพิจารณาให้เสร็จไปโดยรวดเร็วแตกต่างจากคดีสามัญ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ ว่า “ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดี ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว” คดีนี้จำเลยที่ ๓ ยื่นคำให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิด ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๓ และนัดสืบพยานจำเลยที่ ๓ ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๓ ในคราวเดียวกัน แต่เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๓ นายชาติอุทัย เทียนทอง ทนายจำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยที่ ๓ โดยอ้างเหตุว่า ได้ลาออกจากสำนักงานทนายความเจ้าของคดีแล้ว ขณะเดียวกันจำเลยที่ ๓ ก็ได้ยื่นใบแต่งทนายความ แต่งตั้งให้นายไกรสร มีสมงาม เป็นทนายความของจำเลยที่ ๓ คนใหม่ และทนายจำเลยที่ ๓ คนใหม่ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุติดว่าความที่ศาลอื่นซึ่งนัดไว้ก่อน โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ ๓ ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๓ ตามที่นัดไว้แล้ว และเมื่อถึงวันนัดดังกล่าว ทนายจำเลยที่ ๓ กลับแถลงต่อศาลว่า จำเลยทั้งสามได้ถูกโจทก์ฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งที่ศาลอื่น จำเลยที่ ๓ กำลังเสนอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อโจทก์พร้อมกันทั้งสองคดี หากตกลงกันได้ จะมาทำยอมต่อศาลในนัดหน้า หากเจรจาตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ ๓ ขอสละประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๓ ทั้งหมด และไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์ก็ไม่คัดค้านการเลื่อนคดี ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อทำยอมหรือนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ แต่เมื่อถึงวันนัดที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ปรากฏว่านายไกรสรทนายจำเลยที่ ๓ ได้ยื่นคำร้องขอถอนตัวออกจากการเป็นทนายความของจำเลยที่ ๓ โดยอ้างว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกับจำเลยที่ ๓ ขณะเดียวกันจำเลยที่ ๓ ก็ยื่นใบแต่งทนายความต่อศาล แต่งตั้งให้นายสุวิจักขณ์ มงคลเสาวณิต เป็นทนายความคนใหม่ และทนายจำเลยที่ ๓ คนใหม่ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่าตนติดว่าความที่ศาลอื่นกับยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ ๓ ด้วย ทนายโจทก์แถลงคัดค้านการขอแก้ไขคำให้การและการขอเลื่อนคดี และแถลงเพิ่มเติมว่านับแต่วันนัดที่แล้วจำเลยที่ ๓ ไม่เคยไปติดต่อขอเจรจากับโจทก์แต่อย่างใด เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๓ มิได้ไปติดต่อกับโจทก์เพื่อการเจรจาตกลงกันตามที่ได้แถลงไว้ต่อศาล แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ ๓ มิได้มีเจตนาที่จะไปเจรจากับโจทก์อย่างจริงจัง แต่นำมาแถลงเพื่อเป็นเหตุผลที่จะขอเลื่อนคดีออกไปในนัดนั้นเท่านั้น ครั้นมาถึงวันนัดพร้อมเพื่อทำยอมหรือสืบพยานโจทก์ ทนายจำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ก็ยื่นใบแต่งทนายความ แต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาว่าความแทน และทนายจำเลยที่ ๓ คนใหม่ก็ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างติดว่าความที่ศาลอื่นซึ่งนัดไว้ก่อน ซึ่งโดยทั่วไปก็เป็นเหตุผลที่จำเป็นที่ศาลควรอนุญาตให้เลื่อนคดี แต่สำหรับคดีนี้ ศาลเคยอนุญาตให้เลื่อนคดีเพราะทนายจำเลยที่ ๓ ถอนตัว และทนายจำเลยที่ ๓ ที่แต่งตั้งใหม่ติดว่าความที่ศาลอื่นไม่อาจมาในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกได้ และนัดที่ ๒ ก็ขอเลื่อนคดีเพราะขอเวลาเจรจากับโจทก์ ดังนั้น การขอเลื่อนคดีในนัดที่ ๓ ของจำเลยที่ ๓ จึงไม่ใช่การขอเลื่อนคดีในกรณีปกติทั่วไป ดังนั้น หากจำเลยที่ ๓ มีความสุจริตและมีความจำเป็นต้องแต่งตั้งทนายความคนใหม่ จำเลยที่ ๓ ก็ควรจะต้องพิจารณาว่าทนายความที่จะแต่งตั้งใหม่นั้นไม่ได้ติดว่าความในคดีอื่นหรือไม่มีกิจธุระจำเป็นในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ พร้อมที่จะว่าความให้แก่จำเลยที่ ๓ ในวันดังกล่าวเพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าออกไปดังที่จำเลยที่ ๓ แถลงต่อศาลในนัดที่แล้ว การที่จำเลยที่ ๓ แต่งตั้งนายสุวิจักขณ์ซึ่งติดว่าความคดีอื่นในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ข้ามาเป็นทนายความคนใหม่ จำเลยที่ ๓ ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าทนายความคนใหม่ไม่สามารถว่าความให้แก่จำเลยที่ ๓ ได้ในวันนัดและต้องขอเลื่อนคดี หากศาลต้องอนุญาตให้เลื่อนคดีไป จำเลยที่ ๓ ก็สามารถเลื่อนคดีได้เพราะเหตุเดียวกันโดยไม่มีที่สิ้นสุด การกระทำของจำเลยที่ ๓ ถือได้ว่าเป็นการขัดขวางการพิจารณาคดีมิให้เสร็จไปโดยเร็ว พฤติการณ์เป็นการประวิงคดี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ในการดำเนินคดีของจำเลยที่ ๓ เป็นการประวิงคดีให้ชักช้า และไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ ต่อไปว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์ อรศิริสกุล พยานโจทก์แทนการสืบพยานเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า กระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกำหนดไว้เป็นพิเศษตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๐ สำหรับกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงในการสืบพยานบุคคลมีระบุอยู่ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๐ ข้อ ๒๙ และข้อ ๓๐ สำหรับคดีนี้ โจทก์ยื่นบัญชีพยานระบุชื่อนายวรพงศ์ อรศิริสกุล เป็นพยานบุคคลของโจทก์ลำดับที่ ๒ ตามบัญชีพยานลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๓ และในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๓ โจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์ซึ่งมีรายการครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดข้อ ๓๐ ต่อศาลพร้อมกับคำแถลงขออนุญาตใช้บันทึกถ้อยคำดังกล่าวแทนการซักถามพยานบุคคลดังกล่าว โดยโจทก์ได้จัดส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๓ แล้ว เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๓ ทนายจำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีและได้กล่าวไว้ในคำร้องด้วยว่า หากโจทก์จะใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแทนการสืบพยานบุคคลแล้ว จำเลยที่ ๓ ไม่ค้าน และขอซักค้านผู้ให้ถ้อยคำในนัดหน้าพร้อมกับสืบพยานจำเลยที่ ๓ ซึ่งต่อมาศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์พร้อมพยานจำเลยที่ ๓ ในนัดหน้า ดังนั้น ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้าย ทนายจำเลยที่ ๓ ไม่มาศาลแต่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ การที่ทนายจำเลยที่ ๓ ไม่มาศาลย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ ๓ ไม่ติดใจที่จะซักค้านนายวรพงศ์พยานโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้นายวรพงศ์พยานโจทก์ที่มาศาลในวันดังกล่าวเข้าเบิกความต่อหน้าศาลอีก ตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญา ฯ พ.ศ. ๒๕๔๐ ข้อ ๒๙ วรรคท้าย ทั้งในข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแทนการสืบพยานบุคคลก็มิได้ระบุให้ผู้ให้ถ้อยคำต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้ถ้อยคำตามบันทึกนั้นแต่อย่างใด การที่บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์มิได้มีข้อความของการสาบานหรือปฏิญาณตนของนายวรพงศ์ ทั้งไม่มีลายมือชื่อของบุคคลผู้รับการสาบานหรือปฏิญาณลงไว้ ก็ไม่ทำให้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์เสียไปแต่อย่างใด เพียงแต่เมื่อผู้ให้ถ้อยคำนั้นมาศาลเพื่อตอบคำถามค้านและคำถามติงของคู่ความ จึงจะต้องสาบานหรือปฏิญาณก่อนเบิกความ และโจทก์ไม่จำต้องระบุอ้างบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์ไว้ในบัญชีพยานโจทก์ในฐานะเป็นพยานเอกสาร เพราะถือว่าการส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเป็นกระบวนพิจารณาแทนการสืบพยานพยานบุคคล และเป็นการอ้างพยานบุคคลเป็นพยานหลักฐานในคดี ดังนั้น เมื่อโจทก์ระบุชื่อนายวรพงศ์เป็นพยานบุคคลของโจทก์ไว้ในบัญชีพยานของโจทก์แล้ว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวรพงศ์พยานบุคคลของโจทก์แทนการที่โจทก์ต้องซักถามตัวพยานจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย.

Share