แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น แล้วย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ ดัง ที่บัญญัติไว้ในป.วิ.พ. มาตรา 243(1) หรือไม่นั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์จะไม่ใช้อำนาจนั้นก็ได้ ประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเองได้ ไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระสินบนนำจับร้อยละ 30ของราคาสินค้า ปรากฏว่า โจทก์บรรยายฟ้องเฉพาะ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบจนเป็นผลให้จำเลยที่ 2จับกุมสินค้าหรือผู้กระทำผิดได้ จำเลยที่ 2 จะจ่ายสินบนนำจับให้โจทก์ ส่วนเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่าหลังจากมีการจับกุมสินค้าหลบหนีภาษีรายนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ออกไปตรวจและนำสินค้าที่จับได้มอบให้กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ความตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 แต่อย่างใดโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องสินบนนำจับจากจำเลยที่ 1 ที่ 3 เพราะเหตุใด คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 จึงไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นฟ้องเคลือบคลุม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระสินบนนำจับร้อยละ 30ของราคาสินค้า เป็นเงิน 429,476.10 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เคยตกลงจ่ายสินบนนำจับแก่โจทก์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้รับแจ้งจากสายลับ คดีไม่มีผู้แจ้งความนำจับเพื่อรับสินบน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสินบนจึงไม่ต้องรับผิด คงมีแต่จำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติศุลกากร กำหนดให้เป็นผู้จ่ายแต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่า โจทก์เป็นผู้แจ้งความนำจับสินค้าหนีภาษีรายนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น หรือนัยหนึ่งคือยือนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ ดังที่บัญญัติไว้ใประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) นั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จะไม่ใช้อำนาจนั้นก็ได้ ประเด็นที่ว่าฟ้องดจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยมานั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ศาลชั้นต้นต้องทำการสืบพยานเพิ่มเติมอีก ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้อยู่แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปเสียเองไม่พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่เป็นการเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ในส่วนที่โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า ฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่เคลือบคลุมนั้นเห็นว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับสินบนนำจับ โจทก์คงบรรยายฟ้องไว้เฉพาะแต่ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2เท่านั้นน โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ตกลงกับโจทก์ไว้ว่าหากโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ จนเป็นผลให้จำเลยที่ 2 จับกุมสินค้าหรือผู้กระทำผิดได้ จำเลยที่ 2 จะจ่ายสินบนนำจับให้ร้อยละ 30 ของราคาสินค้าที่จับได้ทั้งหมดส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียง หลังจากมีการจับกุมสินค้าหลบหนีภาษีรายนี้แล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 ได้ออกไปตรวจและนำสินค้าที่จับได้มอบให้กับจำเลยที่ 3ตามฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ออกไปตรวจและนำสินค้าที่จับได้มอบให้กับจำเลยที่ 3 ตามฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 คงเกี่ยวข้องกับการจับกุมสินค้าดังกล่าวเพียงเท่านี้ โดยโจทก์อ้างว่า โจทก์มีสิทธิจะได้รับสินบนนำจับร้อยละ 30 ของราคาสินค้า และอ้างสิทธิของโจทก์ว่าเกิดจากความตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 แต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องสินบนนำจับจากจำเลยที่ 1 ที่ 3 เพราะเหตุใด คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซื้อสภาพแห่งข้อหา รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คำฟ้องของโจทก์ในส่วที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3จึงเคลือบคลุม”
พิพากษายืน.