คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4729/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

ระเบียบของจำเลยว่าด้วยการลากำหนดให้พนักงานที่ลาป่วยครบกำหนดโดยมีสิทธิได้รับเงินเดือนแล้วจำเป็นต้องรักษาตัวต่อไปมีสิทธิลาต่อได้ไม่เกิน120วันโดยไม่ได้รับเงินเดือนแต่หากยังลาต่อไปอีกจำเลยปลดออกจากงานได้ดังนี้เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานจำเลยได้ลาป่วยโดยได้รับเงินเดือนจนครบกำหนดแล้วและหยุดงานเกินกว่า120วันต่อมาอีกจำเลยให้โจทก์ออกจากงานระบุว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคประสาทเรื้อรังจึงไม่ถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีไม่ใช่ให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากขาดงานเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันที่ศาลแรงงานกลางอ้างเหตุว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ขาดงานดังกล่าวจึงเป็นเรื่องนอกเหนือไปจากคำสั่งเลิกจ้างทั้งการที่โจทก์ไม่ยื่นใบลาหลังครบกำหนดลาป่วยแล้วก็มิใช่กรณีที่โจทก์ทำผิดอันต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โจทก์ลาป่วยครั้งสุดท้ายแล้วไม่ได้ยื่นใบลาป่วยต่อจำเลยอีกและโจทก์ไม่ได้มาทำงานอีกเลยจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์การไม่มาทำงานเป็นเวลานานดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์กระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของธนาคารจำเลยอัตราเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ11,330 บาท ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ อ้างเหตุโจทก์เจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติงานในหน้าที่โดยสม่ำเสมอ โดยจำเลยไม่บอกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชย ขอบังคับให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ลาป่วยครบ 120 วันแล้ว โจทก์ไม่มาทำงานอีกเลย จำเลยจึงมีคำสั่งให้ปลดออกจากงาน การที่โจทก์ลาป่วยครบกำหนดแล้วไม่ได้มาทำงานอีกทั้งไม่ได้มีการลาหรือแจ้งให้จำเลยทราบถึงความจำเป็นที่มาปฏิบัติงานไม่ได้โจทก์จึงขาดงานเกิน 3 วันทำงานติดต่อกัน เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ลาป่วยรวม120 วัน โดยในช่วงแรก 60 วันได้รับเงินเดือนเต็ม ช่วงที่สาม 60 วันได้รับเงินเดือนกึ่งหนึ่งต่อมาโจทก์ป่วยติดต่อกันอีก 120 วัน โดยไม่ได้รับเงินเดือน และยื่นใบลาในตอนแรกแต่ในช่วงหลังประมาณ 20 วันไม่ได้ยื่นใบลาจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์หลังจากครบ 120 วันที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เฉพาะป่วยไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ไม่ใช่เป็นการให้ออกเพราะโจทก์ละทิ้งหน้าที่จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ วินิจฉัยว่า ตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 180 ว่าด้วยการลาของพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 22 กำหนดให้ธนาคารจำเลยปลดพนักงานผู้ที่ลาป่วยครบกำหนดแล้วยังลาต่อ หรือไม่สามารถมาทำงานได้นั้น เป็นแต่เพียงข้อกำหนดที่ให้อำนาจผู้อำนวยการของจำเลยที่จะพิจารณาให้พนักงานของจำเลยที่ลาป่วยครบกำหนดที่มีสิทธิได้รับเงินเดือนแล้วจำเป็นต้องรักษาตัวต่อไปจะอนุญาตให้ลาต่อได้ไม่เกิน 120 วัน โดยไม่ได้รับเงินดือน หากยังลาต่ออีกก็ให้ธนาคารจำเลยปลดออกจากงานได้ เห็นได้ว่าการที่โจทก์ลาป่วยเกินกำหนดเวลาตามระเบียบการของจำเลยดังกล่าว มิได้เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และหนังสือของจำเลยที่ให้โจทก์ออกจากงานก็ระบุเพียงว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคประสาทเรื้อรัง ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ ฉะนั้นการที่โจทก์หยุดงานเกินกว่า 120 วัน อันเป็นเหตุให้จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานได้ก็ตามยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย และมื่อคำสั่งปลดจำเลยให้ระบุให้โจทก์ออกจากงาน ตามข้อ 22 ของข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว กรณีจึงมิใช่เป็นการให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากโจทก์ขาดงานเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันที่ศาลแรงงวานกลางอ้างเหตุว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ขาดงานดังกล่าวจึงเป็นเรื่องนอกเหนือไปจากคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย ฉะนั้น ที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากโจทก์ไม่ยื่นใบลาหลังจากครบกำหนดลาป่วยแล้ว จึงมิใช่กรณีที่โจทก์ทำผิด อันต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชนให้แก่โจทก์ตาม ข้อ 41 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะโจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคประสาทเรื้อรัง เป็นการหยุดงานอันมีเหตุอันสมควร นั้นปรากฏว่าโจทก์ลาป่วยครั้งสุดท้าย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 แล้วไม่ได้ยื่นใบลาป่วยต่อจำเลยอีก และโจทก์ไม่ได้มาทำงานอีกเลย จนกระทั่งถึงเดือนเมษายน2529 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ การไม่มาทำงานของโจทก์เป็นเวลานานเช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์กระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของงานให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 580 จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 67,980 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่เลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากาาศาลแรงงานกลาง

Share