คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงในคด๊อาญาตามคำพิพากษาถึงที่สุดที่จำเลยที่ 2ถูกฟ้องในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถผู้อื่นเสียหายตาม พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43,157 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1ไปเฉี่ยวชนรถเก๋งของ ส. ได้รับความเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยมาฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ขับรถบรรทุกดังกล่าวโดยประมาทเฉี่ยวชนรถของ ส. เสียหายและโจทก์ได้ซ่อมแซมรถของ ส. ไปแล้ว จึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเช่นนี้ตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจาราณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติให้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น ย่อมใช้บังคับกับผู้ที่เป็นคู่ความในคดีอาญาเท่านั้นหรือในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ก็ใช้บังคับกับผู้ที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญานั้นด้วย แต่ข้อหาในคดีอาญาที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องดังกล่าวเป็นความผิดซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนหรือ ส. เจ้าของรถที่ถูกเฉี่ยวชนมิใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว จึงมิได้เป็นคู่ความในคดีนั้น หาก ส. ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ในมูลกรณีเดียวกันนี้ ก็ไม่ผูกพันที่จะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้อง ฉะนั้น โจทก์ซึ่งอ้างว่ารับช่วงสิทธิของ ส. ย่อมจะไม่ต้องผูกพันให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าวด้วย เป็นเรื่องที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งกันใหม่
โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน และเริ่มสืบพยานโจทก์ด้วยการส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น และเมื่อสืบพยานประเด็นโจทก์ได้ 2 ปาก โจทก์ขอเลื่อนคดีนัดนั้นและ 3 นัดต่อมา แล้วโจทก์ขอให้ส่งประเด็นคืนศาลเดิม ศาลเดิมนัดสืบพยานโจทก์แต่โจทก์ขอเลื่อนคดี 2 ครั้ง ครั้งแรกอ้างเหตุทนายความป่วย ครั้งที่สองอ้างเหตุผลว่าเอกสารที่ส่งมาไม่ใช่เอกสารที่ประสงค์ขออ้าง ครั้นถึงครั้งที่สาม ผู้รับมอบฉันทะโจทก์มาศาลยื่นคำร้องของโจทก์ขอเลื่อนคดีอ้างว่าโจทก์ถอนทนายคนเดิม และไม่สามารถตั้งทนายใหม่ได้ทัน ทนายจำเลยที่ 2 คัดค้าน ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตปรากฏว่าก่อนที่ศาลจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีในนัดที่สาม ศาลได้กำชับว่าในนัดหน้าหากไม่มีพยานมาศาลให้ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน และในวันที่ศาลนัดเป็นนัดที่สามโจทก์มีพยานบุคคลที่จะสืบอีก 2 ปาก เป็นพยานหมาย แต่โจทก์มิได้ขอให้ศาลหมายเรียพพยานดังกล่าว ทั้งมิได้ขอให้ศาลออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลภายนอกมาประกอบการสืบพยานบุคคลอีกด้วย ประกอบกับปรกกฏจากคำฟ้องและใบแต่งทนายความว่า ทนายความที่โจทก์อ้างว่าได้ถอนจากการเป็นทนายมีสำนักงานอยู่ที่ที่สำนักงานโจทก์ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการถอนทนายจริงพฤติการณ์โจทกืเป็นการไม่ใส่ใจในการดำเนินคดีและประวิงคดี ศาลชอบที่จะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสมจิตร วิริกุลเจริญ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุก 10 ล้อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนรถของนายสมจิตรโดยประมาทเป็นเหตุให้รถของนายสมจิตรได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิด และพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลแขวงราชบุรี โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ทำการซ่อมแซมรถของนายสมจิตรเป็นเงิน 74,400 บาท จึงเข้ารับช่วงสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 79,980 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เหตุรถชนกันไม่ใช่ความประมาทของจำเลยที่ 2 แต่เกิดจากความประมาทของนายสมจิตร ตำรวจเปรียบเทียบปรับนายสมจิตรเพราะจอดรถในที่คับขันและในที่ห้ามจอด ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลแขวงราชบุรีพิพากษายกฟ้อง รถของนายสมจิตรค่าซ่อมไม่เกิน 15,000บาท ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณาศาลไม่อนุญาติให้โจทก์เลื่อนคดี และวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เคยถูกฟ้องคดีอาญาว่าขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย ศาลพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 2มิใช่คนขับรถคันดังกล่าว คดีนี้จึงต้องฟังตามคดีอาญาดังกล่าวโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสอง ไม่จำต้องวินิจฉัยคดีในประเด็นอื่นอีก พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งที่ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและอุทธรณ์คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีชอบแล้วและว่าคดีนี้ศาลไม่ต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญาที่จำเลยที่ 2 เคยถูกฟ้อง และศาลชั้นต้นจำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทหรือไม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ในปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้พิพากษาคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า รถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 6ง-5405 กรุงเทพมหานครเป็นของนายสมจิตร วิริกุลเจริญ ได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2525 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับนายสมจิตรนายสมจิตรจอดรถอยู่ที่เชิงสะพานนัดตาลี้ มีผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-3328 ราชบุรี ของจำเลยที่ 1 ไปเฉี่ยวชนรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 6ง-5405 กรุงเทพมหานคร ของนายสมจิตรได้รับความเสียหาย ต่อมาจำเลยที่ 2 ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงราชบุรีในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถผู้อื่นเสียหาย ตามพระราชบัญญัติจารจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2145/2525 ศาลแขวงราชบุรีฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ขับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-3328 ราชบุรี ที่ไปเฉี่ยวชนรถผู้อื่นพิพากษายกฟ้อง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2145/2525 คดีถึงที่สุด โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยมาฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถคันหมายเลขทะเลียน 80-3328 ราชบุรี โดยประมาทเฉี่ยวชนรถของนายสมจิตรเสียหาย และโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ซ่อมแซมรถยนต์ของนายสมจิตรไปแล้ว จึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้อง เช่นนี้ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาว่า การพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น ย่อมใช้บังคับกับผู้ที่เป็นคู่ความในคดีอาญาเท่านั้น หรือในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ก็ใช้บังคับกับผู้ที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญานั้นด้วยแต่สำหรับคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแขวงราชบุรีนั้น เป็นคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติจารจรทางบกมาตรา 43, 157 ซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายเอกชนหรือกล่าวโดยเฉพาะคืนนายสมจิตรเจ้าของรถที่ถูกเฉี่ยวชน มิใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว จึงมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว หากนายสมจิตรฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ในมูลกรณีเดียวกันนี้ ก็จะไม่ผูกพันที่จะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาระหว่างพนักงานอัยการโจทก์กับจำเลยที่ 2ฉะนั้น โจทก์ซึ่งอ้างว่ารับช่วงสิทธิมาจากนายสมจิตร ย่อมจะไม่ต้องผูกพันให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2145/2525 ของศาลแขวงราชบุรีด้วย สำหรับที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว และโจทก์ก็ไม่ต้องผูกพันให้ถือข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวดังได้วินิจฉัยมาแล้ว คดีนี้จึงต้องฟังข้อเท็จจริงกันใหม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าสมควรให้โจทก์เลื่อนคดีนั้น ได้ความตามที่ปรากฏในสำนวนว่า โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน และเริ่มสืบพยานโจทก์ด้วยการส่งประเด็นไปสืบที่ศาลแพ่ง และเมื่อสืบพยานประเด็นโจทก์ได้ 2 ปาก โจทก์ขอเลื่อนคดีนัดนั้น และ 3 นัดต่อมา แล้วโจทก์ขอให้ส่งประเด็นคืนศาลเดิม เมื่อศาลนัดฟังประเด็นกลับแล้วได้นัดสืบพยานโจทก์ แต่โจทก์ขอเลื่อนคดีสองครั้ง ครั้งแรกอ้างเหตุทนายความป่วย ครั้งที่สองอ้างเหตุผลว่าเอกสารที่ส่งมาไม่ใช่เอกสารที่ประสงค์ขออ้างและโจทก์อ้างผิดไปด้วย ส่วนพยานบุคคลสองคน คนหนึ่งมาศาลแต่กลับไปแล้ว อีกคนหนึ่งไม่มาศาล ครั้งถึงนัดที่สามคือนัดที่เป็นปัญหานี้ ปรากฏว่าผู้รับมอบฉันทะโจทก์มาศาลยื่นคำร้องของโจทก์ ขอเลื่อนคีดอ้างว่าโจทก์ถอนทนายคนเดิมและไม่สามารถตั้งทนายคนใหม่ได้ทัน ทนายจำเลยที่ 2 คัดค้านศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและถือว่าโจทก์ไม่สืบพยานที่เหลือ เป็นอันหมดพยานโจทก์ นัดสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไป เช่นนี้เห็นว่าในการเลื่อนคดีนัดก่อนที่จะมีปัญหานี้ ศาลได้กำชับว่าในนัดหน้าหากไม่มีพยานมาศาล จะถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน และในวันนัดที่เป็นปัญหานี้โจทก์มีพยานบุคคลที่จะสืบอีก 2 ปากเป็นพยานหมาย แต่โจทก์มิได้ขอให้ศาลหมายเรียกพยานดังกล่าวมาเบิกความ ทั้งมิได้ขอให้ศาลออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลภายนอกมาประกอบการสืบพยานบุคคลอีกด้วยทั้งพฤติการณ์นับแต่ต้นมา ที่โจทก์ขอส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลแพ่ง โดยระบุพยานไว้ถึง 6 ปาก แต่พอสืบพยานได้ 2 ปากก็ขอเลื่อนคดีติดต่อกัน 3 นัด แล้วแถลงไม่สืบพยานอีก 4 ปากเมื่อสืบพยานที่ศาลเดิมก็เลื่อนคดีติดต่อกันอีก 2 นัดก่อนที่จะถึงนัดที่มีปัญหานี้ ทั้งปรากฏจากคำฟ้อง และใบแต่งทนายความว่านายจิตลิ กนกศีชริน ทนายความที่โจทก์อ้างว่าได้ถอนจากเป็นทนายจึงขอเลื่อนคดีในครั้งที่เป็นปัญหาดังกล่าวมีสำนักงานอยู่ที่สำนักงานของโจทก์ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการถอนทนายกันจริง หรือหากจะมีการถอนกันจริงโจทก์ย่อมจะเตรียมการแต่งทนายความได้ทันการ พฤติการณ์โจทก์เป็นการไม่ใส่ใจในการดำเนินคดีและประวิงคดี ศาลอุทธรณ์พิพากษาในข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน’
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share