คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ที่ฉ้อฉลโดยให้เจ้ามรดกพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารพินัยกรรม จำเลยจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1606(4) จำเลยจึงเป็นผู้ไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดก.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

คดีนี้เดิมนางชูชีพ เฉลิมวัฒน์ ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายอุ่ม ขันแก้ว ปรากฏว่านางละเมียด ชื่นอารมณ์ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่านางชูชีพ เฉลิมวัฒน์ ไม่ใช่ทายาทของนายอุ่ม ขันแก้วได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านกับพวกแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ต่อมานางละเมียดได้ยื่นคำร้องเป็นอีกคดีหนึ่งขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายอุ่ม นางชูชีพได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่าพินัยกรรมที่ผู้ร้องนำมาอ้างเป็นโมฆะเพราะขณะทำพินัยกรรมเจ้ามรดกเป็นคนวิกลจริต เจ้ามรดกทำพินัยกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลหลอกลวงให้ไปรักษาตาและถูกหลอกให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อยินยอมให้หมอทำการผ่าตาโดยไม่รู้ว่าเป็นพินัยกรรมขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกนางชูชีพ เฉลิมวัฒน์เป็นโจทก์ เรียกนางละเมียด ชื่นอารมณ์เป็นจำเลย และพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายอุ่มผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งรูปคดีโดยละเอียดแล้วเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้ที่ฉ้อฉลโดยให้นายอุ่มพิมพ์ลายมือในเอกสารพินัยกรรม จำเลยจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(4)ทำให้จำเลยไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายอุ่มนั้นชอบแล้ว’
พิพากษายืน.

Share