คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 571/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยอาศัยเพียงคำเบิกความของประจักษ์พยานเพียงปากเดียวนั้น คำเบิกความของประจักษ์พยานต้องมีน้ำหนักมั่นคง ประกอบด้วยเหตุผลน่าเชื่อถือควรแก่การรับฟังพอจะลงโทษจำเลยได้
คำเบิกความของ น. ประจักษ์พยานโจทก์ปากเดียวที่เบิกความว่า เห็นจำเลยหยิบกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไปโดย ศ. บุตร น. ก็เห็นเหตุการณ์ด้วยแม้การที่โจทก์ไม่นำ ศ. เข้าเบิกความจะไม่เป็นข้อพิรุธ แต่คำเบิกความของ น. มีข้อพิรุธขัดต่อเหตุผลอยู่หลายตอนคือ น. ยืนยันว่า ผู้เสียหายวางกระเป๋าสตางค์ไว้ที่เขียงสับหมูแต่เมื่อน.ตอบคำถามศ. ว่ากระเป๋าสตางค์ดังกล่าวน่าจะเป็นของจำเลย แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในข้อเท็จจริง จึงไม่ตอบว่าเป็นของผู้เสียหาย และเมื่อ น. เห็นจำเลยหยิบกระเป๋าสตางค์ไปไม่ได้ทักท้วง ซึ่งเป็นการขัดต่อวิสัยและเหตุผล เพราะผู้เสียหายเป็นลูกค้าประจำ ส่วน น. มีอาชีพค้าขายตามวิสัยย่อมต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของลูกค้า นอกจากนี้ น. เบิกความเกี่ยวกับธนบัตรที่ผู้เสียหายจ่ายเป็นค่าก๋วยเตี๋ยวว่าเป็นธนบัตรฉบับละ 50 บาท แตกต่างกับผู้เสียหายที่เบิกความว่าเป็นธนบัตรฉบับละ 20 บาท 3 ใบ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ส่วนที่ น. บอกผู้เสียหายว่าจำเลยหยิบกระเป๋าสตางค์ผู้เสียหายไป หรือพาเจ้าพนักงานตำรวจไปค้นบ้านจำเลย หาเป็นเหตุผลให้รับฟังว่า น. เห็นจำเลยหยิบเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไป และการจับกุมจำเลยไม่พบกระเป๋าสตางค์หรือของกลางใด ๆ จากจำเลย ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 770 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จำคุก 3 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 770 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนางนวลละออง สกุลปทุมทอง เป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่เบิกความว่า เมื่อพยานทำก๋วยเตี๋ยวเสร็จผู้เสียหายได้จ่ายเงินให้พยาน ผู้เสียหายได้วางกระเป๋าสตางค์ไว้ที่เขียงสับหมูซึ่งอยู่ข้างตัวพยานบนรถเข็นแต่พยานมองไม่เห็นตอนที่ผู้เสียหายวางกระเป๋าสตางค์ไว้ หลังจากผู้เสียหายถือชามก๋วยเตี๋ยวไปนั่งรับประทานแล้ว จำเลยได้มาสั่งโอเลี้ยง 1 แก้ว แล้วถือแก้วโอเลี้ยงไปนั่งดื่มที่เก้าอี้ใกล้กับนายศุภฤกษ์ สกุลปทุมทอง บุตรชายของพยานซึ่งนั่งอยู่ห่างจากรถเข็นประมาณ 3 เมตร นายศุภฤกษ์ได้ถามพยานว่ากระเป๋าสตางค์ซึ่งวางไว้อยู่ข้างเขียงหมูสับเป็นของใคร พยานตอบว่าน่าจะเป็นของจำเลย หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที จำเลยได้ถือแก้วโอเลี้ยงมาเติมน้ำที่รถเข็นและจ่ายเงินให้พยาน 5 บาท แล้วยืนดื่มอยู่ข้าง ๆ พยานติดกับบริเวณที่กระเป๋าสตางค์วางอยู่ สักครู่หนึ่งพยานเห็นจำเลยหยิบกระเป๋าสตางค์ดังกล่าวไป และนายศุภฤกษ์ก็เห็นจำเลยหยิบกระเป๋าสตางค์ดังกล่าวไปด้วย โดยนายศุภฤกษ์บอกว่าได้ยินจำเลยพูดว่ากระเป๋าสตางค์ดังกล่าวเป็นของน้าเอง ซึ่งหมายความว่าเป็นของจำเลย ขณะที่จำเลยหยิบกระเป๋าสตางค์ไป พยานไม่ได้ทักท้วงจำเลย เพราะพยานคิดว่ากระเป๋าสตางค์เป็นของจำเลยดังนี้ เห็นว่า ตามคำเบิกความของนางนวลละอองนี้ยังมีนายศุภฤกษ์บุตรชายของนางนวลละอองอีก 1 คน ที่เห็นจำเลยหยิบเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไปแต่โจทก์ก็มิได้นำเอานายศุภฤกษ์มาเบิกความเป็นพยานสนับสนุน แม้จะไม่เป็นข้อพิรุธดังโจทก์ฎีกาก็ตาม แต่การที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยอาศัยแต่เพียงคำเบิกความของนางนวลละอองเพียงปากเดียว คำเบิกความของนางนวลละอองนั้น จะต้องมีน้ำหนักมั่นคงประกอบด้วยเหตุผลน่าเชื่อถือควรแก่การรับฟังพอที่จะลงโทษจำเลยได้ แต่เมื่อพิเคราะห์จากคำเบิกความดังกล่าวแล้วเห็นว่ายังมีพิรุธขัดต่อเหตุผลอยู่หลายตอน ทำให้คำเบิกความไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังเป็นความจริงได้ กล่าวคือ นางนวลละอองเบิกความยืนยันว่าผู้เสียหายได้วางกระเป๋าสตางค์ไว้ที่เขียงสับหมู แต่ไม่เห็นตอนที่ผู้เสียหายวางกระเป๋าสตางค์ไว้นั้น ก็แสดงว่านางนวลละอองทราบดีว่ากระเป๋าสตางค์ที่วางอยู่ที่เขียงสับหมูนั้นเป็นของผู้เสียหายในพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นใดรวมทั้งจำเลยได้นำกระเป๋าสตางค์มาวางไว้ที่เขียงสับหมูอีก ฉะนั้น เมื่อนางนวลละอองตอบคำถามของนายศุภฤกษ์ว่ากระเป๋าสตางค์น่าจะของนางมะปรางซึ่งหมายถึงจำเลยแล้วนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในข้อเท็จจริงที่นางนวลละอองเห็น จึงไม่ตอบนายศุภฤกษ์ว่ากระเป๋าสตางค์นั้นเป็นของผู้เสียหาย นอกจากนี้เมื่อนางนวลละอองเห็นจำเลยหยิบเอากระเป๋าสตางค์ดังกล่าวไป นางนวลละอองก็ไม่ได้ทักท้วงนั้น ก็นับว่าเป็นการขัดต่อวิสัยและเหตุผลเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้อเท็จจริงได้ความจากนางนวลละอองและผู้เสียหายว่านางนวลละอองมีอาชีพค้าขายอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว ส่วนผู้เสียหายก็เป็นลูกค้าประจำของนางนวลละออง รู้จักกันจนผู้เสียหายเรียกนางนวลละอองว่า “ป้านวล” ซึ่งตามธรรมดาวิสัยของแม่ค้าย่อมจะดูแลรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าโดยเฉพาะลูกค้าประจำ นางนวลละอองจะอ้างว่าเข้าใจว่ากระเป๋าสตางค์เป็นของจำเลยนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะนางนวลละอองก็รู้อยู่ว่าผู้เสียหายเป็นผู้วางกระเป๋าสตางค์นั้นไว้ ฉะนั้นการที่นางนวลละอองไม่ได้ทักท้วงน่าเชื่อว่านางนวลละอองไม่เห็นจำเลยหยิบเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไปนั่นเอง ยังมีข้อพิรุธที่ทำให้ไม่น่าเชื่อถือในถ้อยคำของนางนวลละอองอีกคือ นางนวลละอองเบิกความตอบคำถามค้านว่า ผู้เสียหายจ่ายค่าก๋วยเตี๋ยวให้พยานเป็นธนบัตรฉบับละ 50 บาท ซึ่งแตกต่างกับคำเบิกความของผู้เสียหายซึ่งตอบคำถามค้านว่า ผู้เสียหายจ่ายค่าก๋วยเตี๋ยวเป็นธนบัตรฉบับละ 20 บาท รวม 3 ใบ ข้อแตกต่างและขัดกันดังกล่าวนี้หาเป็นพลความดังโจทก์ฎีกาไม่ เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวนั้นจะเป็นเหตุผลสนับสนุนให้น่าเชื่อถือและฟังได้ว่าในวันเกิดเหตุนั้นผู้เสียหายได้ไปซื้อก๋วยเตี๋ยวจากนางนวลละอองและได้วางกระเป๋าสตางค์ไว้ที่เขียงสับหมูบนรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวของนางนวลละอองจริงหรือไม่ เพราะตามธรรมดาแม่ค้ากับลูกค้าประจำย่อมจะต้องเอาใจใส่ต่อกันเป็นพิเศษ ฉะนั้น หากนางนวลละอองกับผู้เสียหายเบิกความตรงกันว่า ผู้เสียหายจ่ายเงินค่าก๋วยเตี๋ยวเป็นธนบัตรฉบับละ 50 บาท หรือเป็นธนบัตรฉบับละ 20 บาท รวม 3 ฉบับ ก็จะเป็นเหตุผลสนับสนุนให้น่าเชื่อตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นได้ และเหตุผลดังกล่าวก็จะเป็นผลให้คำเบิกความของนางนวลละอองประจักษ์พยานปากเดียวของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลให้น่ารับฟังได้ ส่วนการที่นางนวลละอองบอกผู้เสียหายว่าจำเลยหยิบเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไปหรือพาเจ้าพนักงานตำรวจไปค้นบ้านจำเลยนั้น ก็หาเป็นเหตุผลจะให้รับฟังว่านางนวลละอองเห็นจำเลยหยิบเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไปจริงไม่ เพราะคำเบิกความของนางนวลละอองเกี่ยวกับการเห็นดังกล่าวในตอนเห็นจำเลยหยิบกระเป๋าสตางค์ไปนั้นขัดต่อเหตุผลฟังไม่ได้ดังได้วินิจฉัยมาแล้วและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตรวจจับกระเป๋าสตางค์หรือของกลางใด ๆ ไม่ได้จากจำเลยประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share