คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4278/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นพร้อมฎีกา โดยระบุขอให้ ถ. แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นลงนามรับรองฎีกาของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221นั้นยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะฎีกาได้ แต่ ถ. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเพราะไม่ได้เป็นผู้พิจารณาคดีนี้ การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 อีกครั้งหนึ่ง เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ที่จำเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสียแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยมาโดยอ้างว่าผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 5, 6,7, 8, 16(15), 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83,91, 371 ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371, 83 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504มาตรา 16(15), 27 สำหรับจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ3,000 บาท ฐานพาอาวุธปืน ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 3,000 บาทฐานนำเครื่องมือล่าสัตว์เข้าไปภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ปรับคนละ400 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และปรับ400 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 6,400 บาทจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน และปรับ 200 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 3 เดือน และปรับ 3,200 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 216 บัญญัติให้คู่ความมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง ซึ่งตามหลักฐานในสำนวนคดีนี้ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 หากจำเลยที่ 1จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จำเลยที่ 1จะต้องฎีกาภายในวันที่ 10 มีนาคม 2543 ซึ่งทนายจำเลยที่ 1ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นพร้อมฎีกาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543โดยระบุขอให้นายเถกิงศักดิ์ คำสุระ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นลงนามรับรองฎีกาของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 นั้น ยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 จะฎีกาได้แต่เมื่อนายเถกิงศักดิ์ คำสุระ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเพราะไม่ได้เป็นผู้พิจารณาคดีนี้ การที่ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 อีกครั้งหนึ่งนั้น โดยการยื่นคำร้องในครั้งนี้ของทนายจำเลยที่ 1 เป็นการล่วงพ้นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 เสียแล้ว การยื่นคำร้องดังกล่าวของทนายจำเลยที่ 1 ต่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มาโดยอ้างว่าผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาก็ตามศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1

Share