คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5485/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยอ้างอิงพินัยกรรมแนบท้ายคำร้องเพื่อสืบเป็นพยานในชั้นอุทธรณ์ โดยมิได้ระบุไว้ในบัญชีระบุพยาน เป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา88 จึงรับฟังไม่ได้ และกรณีไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือที่จำเลยไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งหรือไม่ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป ฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลอุทธรณ์ไม่สั่งคำร้องจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่เคยทำสัญญายกที่ดินตามฟ้องให้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าสัญญาให้ของโจทก์เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และการที่โจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยได้โอนหุ้นบริษัท บ.รถยนต์ พันธบัตรรัฐบาลและให้เงินสดแก่โจทก์ แล้วโจทก์โอนที่ดินให้จำเลยเป็นการอำพรางสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น เป็นเพียงการรับว่าจำเลยเคยให้ทรัพย์สินแก่โจทก์ เป็นการตอบข้อเท็จจริงนอกประเด็น ฎีกาจำเลยที่ว่า สัญญาให้ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางโดยนิติกรรมที่แท้จริงคือสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา จึงมิใช่เรื่องที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์เป็นผู้ยกที่ดินให้จำเลยผู้เป็นภริยาระหว่างสมรส โจทก์มีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสในเวลาใดก็ได้ระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ โจทก์มีหนังสือบอกล้างไปถึงจำเลยเป็นการบอกล้างโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว
แม้สิทธิบอกล้างจะเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่เมื่อมีการบอกล้างโดยชอบก่อนที่โจทก์จะถึงแก่กรรมแล้วจึงไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวอีกต่อไปและย่อมตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ด้วย ทายาทของโจทก์จึงเข้าเป็นคู่ความแทนได้

Share