คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4272/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บิดาโจทก์เลิกประกอบกิจการส่วนตัวในการค้าขาย ใบชา ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทที่ตนจดทะเบียน ไว้ มา ประกอบกิจการ ค้า ใบชา โดย ใช้เครื่องหมายการค้า ดังกล่าว ใน รูป ของ บริษัท จำเลยตลอดจน การ ใช้ เครื่องหมายการค้า พิพาท กับ ใบชาของ บริษัท จำเลย ใน ลักษณะ ที่ แสดง ว่า บริษัท จำเลยเป็น เจ้าของ สิทธิ ใน เครื่องหมายการค้า ดังกล่าวดังปรากฏ ที่ กล่อง บรรจุ ใบชา นั้น ถือ ได้ ว่า บิดา โจทก์ได้ สละ สิทธิ ใน เครื่องหมายการค้า พิพาท โดย ยอม ให้เป็น ทรัพย์สิน ของ บริษัท จำเลย แล้ว ตั้งแต่ ขณะ บิดา โจทก์เลิก ประกอบการค้า ใบชา เป็น การ ส่วนตัว มา ประกอบการค้าใบชา ใน รูป บริษัท จำเลย โดย มี ตน เป็น กรรมการผู้จัดการแม้ หลักฐาน การ จดทะเบียน เครื่องหมายการค้า พิพาทจะ ปรากฏ ชื่อ บิดา โจทก์ เป็น เจ้าของ เครื่องหมายการค้า ดังกล่าวโดย บิดา โจทก์ ยัง มิได้ ไป จดทะเบียน โอน สิทธิ ใน เครื่องหมายการค้า นั้น ให้ จำเลย เพื่อ ให้ สมบูรณ์ ตาม มาตรา 33 แห่ง พระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่ง ใช้บังคับ อยู่ ใน ขณะนั้น ก็ตาม แต่ ก็ ถือ ไม่ได้ ว่า บิดา โจทก์ ยังคง เป็น เจ้าของสิทธิ ใน เครื่องหมายการค้า พิพาท ต่อไปการ ที่ ปรากฏ ชื่อ บิดา โจทก์ เป็น เจ้าของ เครื่องหมายการค้าพิพาท ตาม หลักฐาน การ จดทะเบียน เครื่องหมายการค้ามี ผล เพียง เท่ากับ บิดา โจทก์ เป็น ผู้ถือสิทธิ ใน เครื่องหมายการค้าพิพาท ไว้ แทน จำเลย เท่านั้น เมื่อ ต่อมา บิดา โจทก์ถึงแก่กรรม สิทธิ ใน เครื่องหมายการค้า พิพาท จึงไม่เป็น ทรัพย์ ยืม มรดก ที่ ตกทอด แก่ ทายาท การ ที่ ว.และ โจทก์ ใน ฐานะ ผู้จัดการมรดก ไป ขอ จดทะเบียน ต่อ อายุเครื่องหมายการค้า พิพาท จึง มี ผล เป็น เพียง การ ถือ สิทธิ ใน เครื่องหมายการค้า พิพาท ไว้แทน จำเลย เช่นเดียวกันเมื่อ จำเลย เป็น ผู้ มี สิทธิ ใน เครื่องหมายการค้า พิพาท และ ใช้ เครื่องหมายการค้า ดังกล่าว กับ สินค้า ใบชาที่ จำเลย ผลิต ออก จำหน่าย ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ตลอดมาจนถึง ปัจจุบัน ทั้ง ไม่ ปรากฏ ว่า โจทก์ เคย ทำ การค้าขาย ใบชา โดย ใช้ เครื่องหมายการค้า พิพาท แต่อย่างใดจำเลย จึง มี สิทธิ ใน เครื่องหมายการค้า พิพาท ดีกว่าโจทก์ และ ย่อม เป็น ผู้มีส่วนได้ เสีย ที่ จะ ร้อง ขอ ต่อ ศาล ให้ มี คำสั่ง เพิกถอน ทะเบียน เครื่องหมายการค้าพิพาท ที่ โจทก์ ยื่น จดทะเบียน ต่อ อายุ ดังกล่าว ได้ ตามมาตรา 41(1) แห่ง พระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเปี้ยนหรือเปี้ยนหรือเฮ้ากึ้นหรือเฮ่ากึ้ง แซ่อ๋อง นายเปี๋ยนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปกาน้ำชาหรือกาปั้นและรูปมังกรโดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ในสินค้าจำพวก 42 สำหรับสินค้าใบชา และมีการต่ออายุเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทุก 10 ปี ตลอดมาครั้งสุดท้ายโจทก์ยื่นคำขอต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไปอีก 10 ปี นับแต่วันที่1 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไป จำเลย เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ขณะที่นายเปี๋ยน และนางใช้ แซ่อึ่ง บิดามารดาโจทก์ยังมีชีวิต จำเลยประกอบกิจการค้าใบชาโดยใช้เครื่องหมายการค้ารูปกาน้ำชาและรูปมังกรหรือที่ประชาชนเรียกว่า “กาปั้น”เมื่อนายเปี๋ยนและนางใช้ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเปี๋ยนย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้านั้นกำกับสินค้าใบชาเพื่อนำออกจำหน่ายอีก แต่จำเลยเพิกเฉยและยังคงใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวตลอดมา การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิต่อกองมรดกของนายเปี๋ยน ทำให้กองมรดกของนายเปี๋ยนได้รับความเสียหายขอให้ห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปกาน้ำชาและรูปมังกรกำกับสินค้าใบชาเพื่อนำออกจำหน่ายกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายอีกวันละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นายเปี๋ยนบิดาโจทก์ได้ยกเครื่องหมายการค้าพิพาทให้เป็นทรัพย์สินของจำเลยตั้งแต่จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2494 เพื่อใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทในกิจการใบชาของจำเลยโดยบิดาโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยและบิดาโจทก์เลิกประกอบกิจการส่วนตัว ถือว่าบิดาโจทก์สละสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทแล้ว หลังจากนั้นจำเลยได้ครอบครองและใช้สิทธิในในเครื่องหมายการค้าพิพาทกับสินค้าใบชาในกิจการของจำเลยโดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 30 ปี จำเลยย่อมได้สิทธิหรือประโยชน์ในเครื่องหมายการค้าพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โจทก์ไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทประกอบกิจการค้าใด การที่โจทก์ยื่นขอต่ออายุการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยขอให้ยกฟ้องและให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ากรุงเทพมหานครกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นจดทะเบียนต่ออายุการใช้เครื่องหมายการค้าไว้และมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทแต่เพียงผู้เดียว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นายเปี๋ยนบิดาโจทก์ไม่เคยสละหรือโอนหรือยกสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทให้แก่จำเลยเมื่อนายเปี๋ยนถึงแก่กรรม เครื่องหมายการค้าพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของกองมรดกนายเปี๋ยนนางใช้ผู้จัดการมรดกนายเปี๋ยนได้ยื่นคำขอต่ออายุเครื่องหมายการค้าพิพาทหลังจากนางใช้ถึงแก่กรรมนายวิน ภาสะพงศ์ เป็นผู้จัดการมรดกแทนและได้ยื่นคำขอต่ออายุเครื่องหมายการค้าพิพาทเพื่อรักษาสิทธิของกองมรดก ปัจจุบันโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนายเปี๋ยน การที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเนื่องจากนายเปี๋ยนและผู้จัดการมรดกอนุญาต จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าพิพาทโดยการครอบครอง ปัจจุบันโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนายเปี๋ยนจึงมีสิทธิห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตรากาน้ำชาและรูปมังกรหรือที่ประชาชนเรียกว่ากาปั้นแต่ผู้เดียว ให้เพิกถอนทะเบียนการต่ออายุการใช้เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ทำไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นายเปี๋ยนหรือเฮ้ากึ้นเลิกประกอบกิจการส่วนตัวในการค้าขายใบชาซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทที่ตนจดทะเบียนไว้มาประกอบกิจการค้าใบชาโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในรูปของบริษัทจำเลย ตลอดจนการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทกับใบชาของบริษัทจำเลยในลักษณะที่แสดงว่าบริษัท จำเลยเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดังปรากฏที่กล่องบรรจุใบชาวัตถุพยานหมาย ล.6 นั้น ถือได้ว่านายเปี๋ยนหรือเฮ้ากึ้นได้สละสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทโดยยอมให้เป็นทรัพย์สินของบริษัทจำเลยแล้วตั้งแต่ขณะนายเปี๋ยนหรือเฮ้ากึ้นเลิกประกอบการค้าใบชาเป็นการส่วนตัวมาประกอบการค้าใบชาในรูปบริษัทจำเลยโดยมีตนเป็นกรรมการผู้จัดการแม้หลักฐานการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามเอกสารหมาย ล.4 จะปรากฏชื่อนายเปี๋ยนหรือเฮ้ากึ้นเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยนายเปี๋ยนหรือเฮ้ากึ้นยังมิได้ไปจดทะเบียนโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น ให้จำเลยเพื่อให้สมบูรณ์ตามมาตรา 33แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นก็ตาม แต่ก็ถือไม่ได้ว่านายเปี๋ยนหรือเฮ้ากึ้นยังคงเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทต่อไป การที่ปรากฏชื่อนายเปี๋ยนหรือเฮ้ากึ้น เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทตามเอกสารหมาย ล.4 มีผลเพียงเท่ากับนายเปี๋ยนหรือเฮ้ากึ้นเป็นผู้ถือสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้แทนจำเลยเท่านั้นเมื่อต่อมา พ.ศ. 2510 นายเปี๋ยนหรือเฮ้ากึ้นถึงแก่กรรม สิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่เป็นทรัพย์ยืมมรดกที่ตกทอดแก่ทายาทการที่นายวิน ภาสะพงศ์ และโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกไปขอจดทะเบียนต่ออายุเครื่องหมายการค้าพิพาทตามสำเนาคำขอต่ออายุทะเบียนและหนังสือคู่มือต่ออายุการจดทะเบียนเอกสารหมายจ.4 และจ.5 ตามลำดับ จึงมีผลเป็นเพียงการถือสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้แทนจำเลยเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทและใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าใบชาที่จำเลยผลิตออกจำหน่ายตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ตลอดมาจนถึงปัจจุบันทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยทำการค้าขายใบชาโดยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทแต่อย่างใด จำเลยจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์และย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทที่โจทก์ยื่นจดทะเบียนต่ออายุดังกล่าวได้ตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share